นโยบาย Higher for Longer ยิ่งสูงยิ่งหนาว
อาทิตย์ที่แล้วมีคําถามเข้ามาพอควรจากแฟนคอลัมน์และสื่อเกี่ยวกับ นโยบาย higher for longer ของธนาคารกลางสหรัฐว่าหมายถึงอะไร
ในแง่ทิศทางอัตราดอกเบี้ย จะนานไหม และจะมีผลต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกอย่างไร
เป็นคําถามสำคัญเพราะเกี่ยวข้องโดยตรงกับภาวะในตลาดการเงินโลกจากนี้ไปที่จะเกิดขึ้นแน่นอน ซึ่งจะเปลี่ยนสิ่งที่เราคุ้นเคยอย่างสิ้นเชิง เป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องตระหนัก วันนี้จึงขอแชร์คําตอบผมในสองคําถามนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน
ธนาคารกลางสหรัฐส่งสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางอัตรานโยบายสหรัฐว่าจะ higher for longer คืออัตราดอกเบี้ยจะยืนอยู่ในระดับสูงหรือสูงกว่าอีกนานพอควร
ส่งสัญญาณครั้งแรกหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินเดือนกันยายน ที่ธนาคารกลางสหรัฐไม่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย คือยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 5.25-5.50 หลังได้ปรับขึ้น 11 ครั้งตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว
เป็นการให้สัญญาณกับตลาดการเงินว่า แม้อัตราดอกเบี้ยไม่ได้ปรับขึ้น แต่ความน่าจะเป็นในครั้งต่อๆ ไป จะเป็นการปรับขึ้นมากกว่าปรับลง เพราะอัตราเงินเฟ้อสหรัฐยังสูงกว่าเป้าระยะยาวที่ร้อยละ 2 และเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวได้ดี ทําให้แรงกดดันเงินเฟ้อยังมีอยู่
นอกจากนี้ยังให้ข้อมูลว่า ความเห็นส่วนตัวของกรรมการส่วนใหญ่ในคณะกรรมการนโยบายการเงินมองว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจปรับขึ้นได้อีกครั้งก่อนสิ้นปี ซึ่ง ณ ตอนนั้น เหลือการประชุมในปีนี้อีกสองครั้ง
สัญญาณทั้งหมดก็เพื่อไม่ให้ตลาดการเงินชะล่าใจว่าอัตราดอกเบี้ยจะไม่ปรับขึ้นอีก และเปิดช่องและความมีเหตุมีผลให้เฟดสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ถ้าต้องทำ
ผลคือช่วงเดือนกันยายน ถึงการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันพุธที่ 1 พฤศจิกายน ตลาดการเงินก็ปรับตัวตามสัญญาณ higher for longer เห็นได้จากอัตราดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะยาวที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และบางครั้งเกินร้อยละ 5
ส่งผลให้ภาวะในตลาดการเงินสหรัฐตึงตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับเป้าหมายทางนโยบายของเฟดที่ต้องการให้ภาวะการเงินในประเทศตึงตัว เพื่อลดแรงกดดันของเงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจ
ในการประชุมครั้งล่าสุดเดือนพฤศจิกายน เฟดก็ส่งสัญญาณ higher for longer ต่อ อธิบายว่าแม้อัตราดอกเบี้ยจะไม่ได้ปรับขึ้นในการประชุมคราวนี้ ไม่ได้หมายความว่าอัตราดอกเบี้ยจะไม่ปรับขึ้นอีก
คําถามว่าอัตราดอกเบี้ยควรปรับขึ้นอีกหรือไม่ยังมีอยู่ ซึ่งเฟดจะพิจารณาเป็นครั้งๆ ไปตามข้อมูลที่จะออกมาในแต่ละการประชุม ซึ่งเฟดยํ้าว่าอัตราดอกเบี้ยที่ได้ปรับขึ้นรวมแล้วกว่าร้อยละ 5 ถือว่ามาก
และผลของอัตราดอกเบี้ยที่สูงต่อเศรษฐกิจอาจยังมีอยู่ในระบบเศรษฐกิจคือยังไม่หมด ซึ่งจะทําให้เศรษฐกิจชะลอมากขึ้นในระยะต่อไปและลดแรงกดดันของเงินเฟ้อ
ทำให้การพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ยจะต้องทําด้วยความระมัดระวัง และไม่พูดว่าอัตราดอกเบี้ยจะไม่ปรับขึ้น เพื่อเปิดพื้นที่ให้เฟดสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ถ้ามีเหตุต้องทำ
สรุปคือ higher for longer ชี้ถึง ภาวะการเงินที่อัตราดอกเบี้ยจะยืนอยู่ในระดับสูงอย่างปัจจุบันหรือสูงกว่าเป็นเวลาอีกนานพอควร เพื่อลดแรงกดดันของเงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจ
เป็นภาวะแวดล้อมทางการเงินที่จะต่างไปจากสิ่งที่เศรษฐกิจโลกและนักลงทุนคุ้นเคยในช่วง 10-15 ปีผ่านมาที่อัตราดอกเบี้ยในระบบเศรษฐกิจโลกตํ่ามาก และเหมือนกับภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำที่ยืนระยะอยู่ได้เป็น 10 ปีในเศรษฐกิจโลก ภาวะดอกเบี้ยที่สูงและอาจสูงขึ้นก็สามารถยืนระยะได้นานเช่นกัน ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก ตลาดการเงิน รวมถึงเสถียรภาพเศรษฐกิจ
คําถามที่สอง คือ ผลกระทบของ higher for longer คือ ผลของอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นต่อเศรษฐกิจโลก คําตอบคือผลกระทบจะมีมาก เพราะอัตราดอกเบี้ยที่สูงคือต้นทุนการเงินที่สูงขึ้น ซึ่งจะกระทบทุกมิติของเศรษฐกิจ
ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การใช้จ่าย การลงทุน การกู้ยืม ราคาสินทรัพย์ ความสามารถในการชำระหนี้ และความผันผวนในตลาดการเงิน
เพราะโลกเศรษฐกิจจะเปลี่ยนไปจากโลกเดิมที่อัตราดอกเบี้ยต่ำมาก ทุกอย่างดูง่ายไปหมด สภาพคล่องมีมาก ไปสู่โลกเศรษฐกิจใหม่ที่อัตราดอกเบี้ยหรือต้นทุนการเงินจะแพงขึ้น ทุกอย่างจะยากขึ้น สภาพคล่องลดลง ความเสี่ยงมีมากขึ้น
การจัดสรรทุนหรือใช้ประโยชน์เงินที่มีจะไม่ง่ายเหมือนเดิม ประมาทไม่ได้ ทุกอย่างต้องระวัง
ตัวอย่างเช่น ต้นทุนการเงินที่แพงขึ้น ทำให้บริษัทกำไรลดลง กระทบตลาดหุ้น ดัชนีไม่พุ่งทะยานเหมือนก่อน ตลาดพันธบัตรก็เช่นกัน แรงกดดันจะเป็นขาลง ตลาดสินเชื่อจะตึงตัวเพราะธนาคารจะระมัดระวังมากขึ้นในการปล่อยกู้เพราะต้นทุนการระดมเงินฝากแพงขึ้น
ภาคอสังหาริมทรัพย์ก็จะถูกกดดันจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทําให้ความต้องการซื้อบ้านของประชาชนลดลง กดดันราคาบ้านและราคาอสังหาริมทรัพย์ ราคาสินทรัพย์ก็จะลดลงจากความต้องการลงทุนที่ลดลงและความเสี่ยงที่มีมากขึ้น
ผู้ที่มีหนี้ต้องชำระ ไม่ว่าจะเป็น รัฐบาล บริษัทธุรกิจ และครัวเรือน จะมีภาระชำระหนี้สูงขึ้นเพราะอัตราดอกเบี้ยแพงขึ้น ทําให้ต้องตัดรายจ่ายด้านอื่นมาชำระหนี้ เกิดความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ สร้างปัญหาหนี้เสียและกดดันฐานะของสถาบันการเงิน
นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในโลกเศรษฐกิจที่อัตราดอกเบี้ยสูง ซึ่งจะเกิดขึ้นกับทุกเศรษฐกิจทั่วโลก คําถามคือ เราพร้อมหรือยังและเข้มแข็งพอหรือไม่ที่จะรักษาการเติบโตและอยู่รอดในสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยากขึ้น
และประเทศควรทําอย่างไรในแง่นโยบายเศรษฐกิจเพื่อให้เศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคนในประเทศไปต่อได้ในสถานการณ์เช่นนี้
เช่นเดียวกัน บริษัทธุรกิจควรปรับตัวและเตรียมการอย่างไร เพื่อให้อยู่รอดและไปต่อได้ในสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยากขึ้น เป็นคําถามที่ควรต้องคิดเรื่องคําตอบเพื่อการเตรียมการ
นี่คือความเห็นผมที่ให้ไป
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล