‘เศรษฐา’เตรียมพบ ‘บิ๊กคอร์ป’ สหรัฐฯ เล็งปิดดีลลงทุนหลายแสนล้าน
‘เศรษฐา’ ใช้โอกาสประชุมเอเปคที่สหรัฐฯพบนักธุรกิจชั้นนำสหรัฐฯใน 3 สาขาการลงทุนที่สำคัญทั้ง EV อิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมดิจิทัล คุยเทสลา ไมโครซอฟต์ กูเกิล HP หวังปิดดีลลงทุนระดับแสนล้านเข้าไทย จัดกิจกรรมให้ 20 นักธุรกิจไทยหารือกับเอกชนรายใหญ่สหรัฐฯ มั่นใจดึงลงทุน
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลบทุน (บีโอไอ) กล่าวถึงกิจกรรมที่นายเศรษฐา ทวิสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลังเดินทางเยือนสหรัฐฯเพื่อเข้าร่วมประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ที่นครซานฟรานซิส ระหว่างวันที่ 12 – 17 พ.ย.นี้ นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการที่จะพบปะหารือกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทขนาดใหญ่สหรัฐฯหลายแห่ง ที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) อุตสาหกรรมสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำของโลก
โดยใน อุตสาหกรรม EV นายกรัฐมนตรีจะหารือกับผู้บริหารของเทสลา (Tesla) โดยเป็นการต่อยอดจากที่เคยพบปะกันที่นิวยอร์ก โดยวันนี้จะมาพูดคุยให้ลึกขึ้นและติดตามผล เนื่องจากไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอีวีในภูมิภาค โดยช่วงที่ผ่านมามีบริษัทรายใหม่หลายรายเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เข้ามาตั้งฐานการผลิตส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ
ทั้งนี้ตลาดอีวีในเมืองไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มียอดจดทะเบียนรถอีวีมากกว่า 60,000 คัน เพิ่มขึ้น 7 เท่า เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในภูมิภาค เป็นสิ่งที่ทำให้ตลาดไทยเป็นที่ดึงดูดของค่ายรถยนต์อีวีที่ต้องการเข้ามาเปิดตลาดลงทุนในประเทศไทย นอกจากนี้คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ที่นายกฯ เป็นประธานยังเห็นชอบมาตรการอีวี 3.5 ต่อเนื่องจาก อีวี 3 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยที่ต้องการให้ไทยเป็นผู้นำของภูมิภาคในการเป็นฐานผลิตอีวีและเป็นท็อปเท็นของโลก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ไทยสามารถสร้างความมั่นใจดึงนักลงทุนให้มาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นได้
สำหรับ กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ นายกฯ มีกำหนดการจะพบบริษัท Analog Devices, Inc (ADI) บริษัท บริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด (HP) นอกจากนี้จะมีการหารือกับ บริษัท Nvidia ผู้ผลิตชิปชั้นนำของอเมริก ซึ่งทั้งหมดเป็นบริษัทชั้นนำด้านอิเล็กทรอนิกส์ของสหรัฐฯ บริษัทเหล่านี้มีความสนใจในประเทศไทย เพราะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้ายุทธศาสตร์ที่ประเทศทั่วโลกต้องการดึงให้ไปผลิตที่ประเทศตัวเอง โดยเฉพาะสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งที่ผ่านมาไทยเป็นการผลิตกลางน้ำ รัฐบาลจึงมีเป้าหมายชัดเจนที่ต้องการมุ่งยกระดับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มุ่งไปสู่ต้นน้ำมากขึ้น ด้วยการส่งเสริมโรงงานผลิตที่ผลิตในเรื่องอเล็กทรอนิกส์
ซึ่งนายกฯ จะได้พบปะพูดคุยและเชิญชวนให้ขยายฐานการผลิตในไทย สำหรับจุดแข็งของไทยที่ทำให้บริษัทเหล่านี้สนใจ เนื่องจากไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อมมากที่สุดในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า นิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือ สนามบินที่มีคุณภาพ และซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิสก์ที่มีผู้ผลิตชิ้นส่วนกว่า 2,000 ราย ที่มีทักษะสูง มีประสบการณ์ทำงานกับบริษัทระดับโลกมาหลาย 10 ปี และพร้อมมาอยู่ในซัพพลายของฐานการผลิตใหม่ ๆ ความต้องการพลังงานสะอาด ความเป็นกลางทางคาร์บอน ไทยสามารถทำให้มั่นใจว่ามีพลังงานสะอาดสามารถป้อนให้กับกำลังการผลิต ซึ่งเป็นจุดแข็งสำคัญที่ดึงดูดให้เข้าไปตั้งฐานการผลิตในไทย
เลขาธิการบีโอไอกล่าวว่าต่อว่าในส่วนอุตสาหกรรมดิจิทัลนายกรัฐมนตรีของไทยจะพบกับบริษัทสำคัญ เช่น บริษัท AWS บริษัท Google และบริษัท ไมโครซอฟต์ โดยก่อนหน้านี้บริษัทอเมซอนมีการประกาศร่วมลงทุนในไทยในต้นปีหน้า โดยลงทุนไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 2 แสนล้านบาท โดยระยะแรกลงทุนสร้าง data center 3 แห่ง เฟสแรกประมาณ 2 หมื่น ล้านบาท ซึ่งจะเห็นว่าบริษัทต้องการ่วมทุนรัฐบาลไทยที่สนับสนุน
ขณะที่บริษัทไมโครซอฟต์ เป็นบริษัทที่นายกฯ ได้พบที่นิวยอร์ก และทำงานกันต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้เป็นรูปธรรมและพยายามดึงดูดให้บริษัทเหล่านี้ เข้ามาตั้งฐาน ทำดาต้าเซนเตอร์และคลาวน์ เซอร์วิสในไทย รวมถึงมาช่วยยกระดับเรื่องดิจิทัลอินฟอร์เมชั่น รวมถึงการพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัล
“ไทยจะพยายามอย่างเต็มที่ ที่จะดึงบริษัทเหล่านี้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยให้ได้” เลขาธิการบีโอไอกล่าว
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีจะนำผู้ประกอบการไทยและนักธุรกิจไทยประมาณ 20 คน ที่ร่วมเดินทางมาด้วยไปพบกับ โดยมีกิจกรรมให้ผู้ประกอบการไทยพบกับบริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ เพื่อสร้างศักยภาพความร่วมมือในอนาคต รวมทั้งมีกิจกรรมพาภาคธุรกิจไทยเยี่ยมชมภาคธุรกิจสหรัฐฯ โดยจัดกิจกรรมเชิญบริษัทของสหรัฐฯ กว่า 80 บริษัท มาพบปะพูดคุยกันเพื่อหาโอกาสในการร่วมมือกันในอนาคต