ร.ฟ.ท.ลุยสร้างพื้นที่ทับซ้อนไฮสปีด หลังเจรจา 'เอเชียเอราวัน' ไร้ข้อสรุป
การรถไฟฯ เตรียมเสนอ ครม.เดินหน้าก่อสร้างพื้นที่ทับซ้อน 2 โครงการไฮสปีดเทรน ช่วงบางซื่อ – ดอนเมือง หลังการเจรจา “เอเชียเอราวัน” ยังไร้ข้อสรุป
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โดยระบุว่า ปัจจุบันโครงการดังกล่าวยังอยู่ระหว่างเจรจากับเอกชนผู้ชนะการประมูล เกี่ยวกับปัญหาก่อสร้างพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน และโครงการไฮสปีดเทรนไทย - จีน สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นปี 2566
อย่างไรก็ดี จากการประเมินสถานการณ์ล่าสุดมีแนวโน้มว่า ร.ฟ.ท.จะเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างพื้นที่ทับซ้อนเอง เพื่อไม่ให้โครงการมีความล่าช้า โดยเฉพาะไฮสปีดเทรนไทย – จีนที่งานโยธาคืบหน้าต่อเนื่องแล้ว เบื้องต้น รฟท.ได้หารือกับเอกชนผู้ชนะการประมูลในโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบินก็ไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด
ดังนั้นขั้นตอนหลังจากนี้ ร.ฟ.ท.จะต้องกลับมาประเมินวงเงินก่อสร้างให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งประเมินว่าจะต้องจัดหาเงินทุนจากแหล่งใด อาทิ การใช้งบประมาณบางส่วนของโครงการไฮสปีดเทรนไทย-จีน หรือจากโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน หรือหากจะต้องใช้เงินกู้ และอาจจะต้องเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติเพิ่มกรอบวงเงินเพิ่มเติม และการปรับแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการต่อไป โดยคาดว่า จะเสนอ ครม. ได้ภายในปีนี้
ทั้งนี้ โครงการไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน ร.ฟ.ท.ได้ลงนามร่วมลงทุนกับ บริษัท เอเชียเอราวัน จำกัด ที่มีเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ลงนามไปเมื่อวันที่ 24 ต.ค.2562 โครงการดังกล่าวยังไม่เริ่มก่อสร้าง และยังอยู่ขั้นตอนแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนใน 2 ประเด็น คือ ประเด็นพื้นที่ทับซ้อนโครงการไฮสปีดเทรนไทย-จีน โดยที่ผ่านมาได้มีการเจรจาให้เอกชนคู่สัญญา คือ เอเชียเอราวัน ลงทุนสร้างงานโยธาช่วงทับซ้อนนี้วงเงิน 9,207 ล้านบาท หลังจากนั้นภาครัฐจะทยอยจ่ายคืนเป็นงวด แต่การเจรจายังไม่ได้ข้อสรุป
นอกจากนี้ยังมีประเด็นค่าสิทธิบริหารแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ซึ่งในสัญญาให้ชำระงวดเดียว 10,671 ล้านบาท แต่เนื่องจากผลกระทบโควิด-19 ทำให้ปริมาณผู้โดยสารไม่เป็นไปตามที่ศึกษาไว้ ประกอบกับ ครม.ได้มีมติให้เยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเอกชน ส่งผลให้มีการเจรจาแก้ไขสัญญาใหม่ โดยเอกชนสามารถแบ่งชำระเป็นงวด
นายนิรุฒ กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ร.ฟ.ท.ได้มองแนวทางแก้ไขปัญหาคู่ขนานกับการรอการเจรจากับ เอเชีย เอรา วัน โดยนับตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ร.ฟ.ท.ได้เริ่มศึกษาแนวทางในการลงทุนงานโยธาส่วนของพื้นที่ทับซ้อนแล้ว หากกรณีที่เอเชีย เอรา วัน ไม่สามารถดำเนินการได้ ร.ฟ.ท. ก็จะต้องแก้ไขปัญหาส่วนนี้ แต่ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหาก ร.ฟ.ท. จะกลับมาดำเนินการเองในช่วงพื้นที่ทับซ้อนทั้ง 2 โครงการจะต้องไปแก้สัญญาร่วมลงทุนไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย
อย่างไรก็ดี แนวทางที่ ร.ฟ.ท. ต้องมาสร้างเองในพื้นที่ทับซ้อน ก็มีการคำนวนไว้แล้วว่าจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นกว่า 6,000 - 8,000 ล้านบาท อีกทั้งปัจจุบัน ร.ฟ.ท. ยังไม่เริ่มต้นขั้นตอนประกวดราคางานโยธาช่วง 4-1 ดังนั้นหากจะกลับมาดำเนินการเอง ก็จำเป็นต้องใช้เวลา หากเทียบกับการรอเจรจาจากเอกชนซึ่งเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะที่ผ่านมาทางเอกชนก็ได้เริ่มขั้นตอนศึกษางานส่วนนี้และได้มีการเจรจาร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง