หวัง 'ดิจิทัล วอลเล็ต' ดันGDPโตแซงหนี้ 'พรหมินทร์' ยันกู้ 5 แสนล้านในประเทศ
"พรหมินทร์"ดันดิจิทัลวอลเล็ต เห็นสัญญาณเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปีหน้า ชี้เครื่องวัดเศรษฐกิจทุกตัวชะลอตัว ยันโครงการดันGDPได้ 1-1.5% เงินหมุนในระบบเศรษฐกิจ หนี้สาธารณะต่อGDPลดลงกลับมาอยู่ 62% เท่าเดิมในปี 70 แต่หนี้ครัวเรือนจะลด ยใช้แหล่งเงินกู้ในประเทศ สภาคล่องเพียงพอ
นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทของรัฐบาลเพื่อนำเงินมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงิน 10,000 บาทให้คน 50 ล้านคน ว่ารัฐบาลมีความตั้งใจที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่เพราะมองเห็นปัญหาเศรษฐกิจที่สั่งสมอยู่ของประเทศมานานและหากปล่อยไว้โดยไม่ทำอะไรในปี 2567 เศรษฐกิจมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดวิกฤติได้
ทั้งนี้ ปัญหาของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันนั้นเรามีการฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้ช้าที่สุดในภูมิภาค เมื่อรวมกับเศรษฐกิจในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาที่ขยายตัวเฉลี่ย 1.9% ต่อปีซึ่งถือว่าขยายตัวได้ต่ำมาก ขณะที่หนี้ครัวเรือนไทยนั้นสูงถึง 91.6% สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก ขณะที่การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอัตราเร่งทำให้ประชาชนที่มีภาระต้องผ่อนสินค้านั้นมีภาระสูงมากขึ้นจนไม่มีกำลังจะใช้จ่าย ซึ่งภาวะแบบนี้ทำให้ประชาชนไม่มีกำลังซื้อส่งผลต่อกำลังการผลิตสินค้าที่ลดต่ำกว่า 58% ขณะที่การบริโภคภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ การเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า การลงทุนของรัฐวิสาหกิจชะลอตัว ทั้งหมดอยู่ในภาวะที่ลดลงหากปล่อยไปแบบนี้เรื่อยเศรษฐกิจไทยจะไม่โตและอยู่ในภาวะเฉาตายในที่สุด
“ภาวะวิกฤติที่รออยู่ข้างหน้าสะท้อนผ่านภาวะ ตัวเลขต่างๆ เมื่อรวมกับเรื่องของหุ้นกู้ของเอกชนจำนวนมากที่จะครบกำหนดชำระกว่า 1 ล้านล้านบาทในปีหน้า หนี้ที่สูงทำให้เสี่ยงจะเป็นต้มยำกุ้งได้ แต่เมื่อรู้แล้วเราต้องแก้และป้องกันก่อน สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นมาแล้วมองไปข้างหน้าเมื่อคาดการณ์ไปถึงอนาคตแล้วมีความเสี่ยงมากทำให้รัฐบาลต้องตัดสินใจในวันนี้เพราะมีขั้นตอนทางกฎหมายที่ต้องดำเนินการ”
นพ.พรหมินทร์ กล่าวต่อว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตรัฐบาลต้องยืนให้มั่นในเรื่องนี้เพราะนโยบายนี้คือการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องทำให้เศรษฐกิจขยายตัวและโตได้มากกว่าหนี้ที่เกิดขึ้น นโยบายนี้จึงไม่ใช่การสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย เพราะการแจกเงินครั้งนี้บางส่วนนั้นจะเกิดการลงทุนใหม่ๆ เพราะผลการสำรวจที่ออกมาระบุว่าบางส่วนจะเอาเงินนี้ไปรวมกันทั้งในระดับครัวเรือน ชุมชน เพื่อเป็นทุนในการผลิตและต่อยอดอาชีพต่อไป
โดยรัฐบาลคาดว่าเม็ดเงินจะหมุนในระบบเศรษฐกิจได้ 3.3 รอบ ทั้งนี้ได้ข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะเพิ่มขยายตัวขึ้นจากมาตรการนี้ประมาณ 1-1.5%
ทั้งนี้ยืนยันว่าการหาแหล่งเงินโดยการออกเป็น พ.ร.บ.เงินกู้นั้นได้มีการปรึกษากับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้วว่าจะไม่กระทบกับเครดิตเรตติ้ง โดยสิ่งสำคัญคือวันแรกของการเริ่มใช้นโยบายนี้รัฐบาลต้องมีเงินแบ็คอัพเต็มจำนวนแบบบาทต่อบาทเท่ากับจำนวนที่จะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่กำหนดเงินจำนวนนั้นเป็นดิจิทัลเคอร์เรนซี และรัฐบาลต้องมีแผนใช้คืนเงินที่ชัดเจน
ซึ่งรัฐบาลมีแผนที่จะใช้หนี้จำนวนนี้ใน 4 ปี และจะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีลดลงกลับมาอยู่ที่ระดับ 61 – 62% ภายในเทอม 4 ปีของรัฐบาลนี้ โดยการกู้เงินนี้จะใช้การกู้เงินในประเทศเป็นหลักเนื่องจากมีสภาพคล่องเพียงพอ
“ที่ผ่านมารัฐบาลได้พิจารณาถึงทางเลือกต่างๆที่จะหาแหล่งเงินมาใช้ในโครงการนี้ ซึ่งตอนจะใช้การขยายมาตรา 28 ของพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังก็มีเสียงที่ไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก ขณะที่เรื่องของงบประมาณก็มีข้อจำกัดมาก ขณะที่ พ.ร.ก.ก็ไม่สามารถออกได้เพราะติดเงื่อนไขของความเร่งด่วน การออก พ.ร.บ.เงินกู้จึงเป็นวิธีการที่เซฟที่สุดและสะอาดที่สุด ส่วนขั้นตอนการผ่านสภาฯนั้นรัฐบาลมั่นใจว่าจะผ่านสภาฯแน่นอนเพราะรัฐบาลมีเสียงข้างมาก และเหตุผลที่ได้บอกมาแล้วจะสามารถโน้มน้าวให้สมาชิกสภาฯเห็นชอบได้เพราะเรื่องนี้รัฐบาลของเราทำเพื่อประชาชน จึงไม่มีแผนสองรองรับ”น.พ.พรหมินทร์กล่าว