'กมธ.การเงิน' เรียก 'รมช.คลัง' แจงปมกู้ เพื่อแจกดิจิทัลวอลเล็ต พรุ่งนี้
"สส.ก้าวไกล" เผยประเด็นคาใจ จ่อซัก "รมช.คลัง" ในเวทีกมธ.การเงิน พรุ่งนี้ ปมกู้มาแจกดิจิทัลวอลเล็ต พร้อมแนะช่องหากติดขัดกฎหมาย ใช้เสียงข้างมากในสภาฯ ปลดล็อคก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายณัฐพงษ์ สุปริยศิลป์ สส.น่าน พรรคเพื่อไทยเป็นประธานกมธ. ได้นัดพิจารณาการดำเนินนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ในวันที่ 15 พ.ย. เวลา 09.30 น. ซึ่งได้เชิญ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง มาให้ข้อมูลกับกมธ.
โดย นายวรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ฐานะรองประธานกมธ. คนที่สอง ให้สัมภาษณ์ว่ามีประเด็นที่กมธ.ต้องขอคำชี้แจง อาทิ การออกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน เพื่อนำมาใช้ในนโยบายดังกล่าวสามารถทำได้หรือไม่ เพราะมีรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ กำกับอยู่โดยเฉพาะเงื่อนไขที่ระบุว่าการกู้เงินนั้นต้องจำเป็นเร่งด่วน โดยในรายละเอียดนั้นต้องรอฟังคำชี้แจงว่าจะดำเนินการอย่างไร ส่วนข้อท้วงติงทางกฎหมายอื่นๆ หากพบว่ามีข้อจำกัดทางกฎหมายแล้วจะดำเนินการอย่างไร ทั้งนี้ตนไม่เห็นด้วยที่จะใช้ช่องทางของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความ และต้องการให้ฝ่ายการเมืองรับผิด รับชอบทางการเมืองมากกว่า
นายวรภพ กล่าวด้วยว่า ในกรณีที่ติดเงื่อนไขในกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง ว่าด้วยความจำเป็นเร่งด่วน รัฐบาลควรแก้ไขกฎหมายวินัยการเงินการคลังก่อน เพราะรัฐบาลคุมเสียงข้างมาก จึงมีช่องทางให้ทำได้
นายวรภพ กล่าวด้วยว่า นอกจากนั้นคือหลักเกณฑ์ เงื่อนไขต่างๆ ที่พบข้อกังวลของผู้ค้ารายย่อย ที่เมื่อประชาชนจ่ายเงินดิจิทัลแล้วไม่สามารถแลกเป็นเงินสดได้ ต้องนำไปซื้อสินค้าต่อ ซึ่งประเด็นที่พบความกังวล คือ ไม่สามารถนำไปซื้อวัตถุดิบในร้านค้ารายย่อย ที่ไม่อยู่ในระบบภาษีได้ และมีข้อจำกัดให้ซื้อวัตถุดิบหรือสินค้าในห้างค้าปลีกขนาดใหญ่เท่านั้น โดยหากเป็นเช่นนั้นอาจไม่ตอบโจทย์การกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง
“ผมเตรียมข้อเสนอแนะ เรื่องร้านค้ารายย่อยที่ต้องนำเงินดิจิทัลไปซื้อของในร้านที่อยู่ในระบบภาษีต่อ เพราะถือว่ากีดกันผู้ค้ารายเล็กในตลาดไม่ให้เข้าร่วมได้ เช่น กรณีผู้ค้าขายข้าวมันไก่ เมื่อได้รับเงินจากประชาชน ต้องนำเงินดิจิทัลซื้อไก่ ซื้อข้าวต่อ แต่ไม่สามารถซื้อจากตลาดทั่วไปได้ ต้องนำไปซื้อในร้านค้าปลีกขนาดใหญ่เพราะถือว่าอยู่ในระบบภาษี เท่ากับบีบร้านค้ารายย่อย และมีเพียงร้านค้าปลีกขนาดใหญ่เท่านั้นที่เงินจะหมุนบรรจบซึ่งเป็นร้านของเจ้าสัว หากทำแบบนั้นเท่ากับไม่ตอบโจทย์การกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก” นายวรภพ กล่าว.