‘ผู้ซื้อ’ ก็อาจผิดจากการผูกขาด | วิษณุ วงศ์สินศิริกุล
ในระบบเศรษฐกิจ การแข่งขันทางการค้าอย่างเสรีและเป็นธรรม ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่ส่งผลให้การผลิต การบริโภค การแลกเปลี่ยนสินค้าและการให้บริการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
หากแต่เมื่อใดที่อำนาจในการซื้อ หรือขายสินค้าและบริการ อยู่ในมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินความชอบธรรม ย่อมก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมทางการค้าอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง
ความไม่เป็นธรรมทางการค้าที่รับรู้กัน มักเป็นเรื่องของการผูกขาดทางการค้า และโดยมากมักเข้าใจกันว่ามีเฉพาะผู้ผลิตหรือผู้ขายเท่านั้นที่สามารถผูกขาดทางการค้าได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การผูกขาดทางการค้าสามารถเกิดขึ้นได้ในฝั่งของ “ผู้ซื้อ” ด้วยเช่นกัน
Joan Robinson นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ ได้อธิบายถึงโครงสร้างตลาดในภาวะที่ผู้ซื้อรายเดียวมีอำนาจในการคุมตลาดทั้งหมด (Monopsony) ซึ่งตรงกันข้ามกับกรณีที่ผู้ขายรายเดียวมีอำนาจในการคุมตลาดทั้งหมด (Monopoly) ว่า
ตลาดผูกขาดโดยผู้ซื้อ (Monopsony) คือ ตลาดที่มีผู้ซื้อเพียงรายเดียว และสามารถกำหนดราคาสินค้าหรือบริการนั้นๆ ในตลาดได้ ทำให้ความเสียเปรียบทางการค้าเกิดขึ้นกับฝั่งของผู้ผลิต เพราะต้องยินยอมรับราคาที่ผู้ซื้อกำหนด และโดยมากมักเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาตามกลไกตลาด
สถานการณ์เช่นนี้มักเกิดขึ้นในตลาดแรงงาน กล่าวคือ ผู้ว่าจ้างสามารถกดราคาค่าจ้างหรือค่าแรงลงได้ตามที่ต้องการ ในขณะที่ลูกจ้างหรือผู้ขายแรงงานก็ไม่มีทางเลือก และต้องจำยอมรับค่าจ้างที่อาจจะต่ำเกินสมควร ยกตัวอย่างเช่น การทำเหมืองแร่ในพื้นที่ห่างไกลแห่งหนึ่ง ซึ่งบริษัทผู้รับสัมปทานทำเหมืองแร่ประกอบกิจการอยู่เพียงรายเดียว
เมื่อคนในพื้นที่ดังกล่าวต้องการมีงานทำ การทำงานในเหมืองแร่คืองานเดียวที่สามารถหาได้ เพราะถ้าไปทำงานอย่างอื่น อาจมีต้นทุนที่สูงจนไม่คุ้มค่ากับค่าจ้างที่ได้รับ สถานการณ์เช่นนี้ส่งผลให้บริษัทเหมืองแร่เป็น “ผู้ซื้อ” บริการจากแรงงานอยู่เพียงรายเดียว
เนื่องจากแรงงานไม่มีทางเลือกอื่น นายจ้างจึงกลายเป็นผู้ผูกขาดโดยปริยาย ในปัจจุบันสถานการณ์เช่นนี้มักเกิดขึ้นในแวดวงการซื้อ-ขายนักกีฬาในหลายประเทศ
พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560
มาตรา 54 (1) ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจใดร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจอื่นที่แข่งขันในตลาดเดียวกันร่วมกันกำหนดราคาซื้อสินค้าหรือบริการ ซึ่งอาจทำให้กลายเป็นผู้ซื้อเพียงรายเดียว และมีอำนาจกำหนดราคารับซื้อ เช่น กรณีที่กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจตกลงร่วมกันลดราคารับซื้อสินค้า รวมทั้งราคาวัตถุดิบเพื่อการผลิต
มาตรา 54 (4) ห้ามไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจร่วมกันกำหนดแบ่งท้องที่ที่ซื้อสินค้า หรือบริการในท้องที่นั้น หรือกำหนดผู้ซื้อหรือผู้ขายที่ผู้ประกอบธุรกิจแต่ละรายจำหน่ายหรือซื้อสินค้าหรือบริการได้ ซึ่งหากมีผู้ประกอบธุรกิจตกลงร่วมกันเช่นนี้เพื่อให้กลุ่มผู้ซื้อมีอำนาจในการลดราคาสินค้าหรือวัตถุดิบที่ต้องการ หรือสามารถกำหนดราคารับซื้อในระดับที่ต้องการได้ โดยการลดทางเลือกที่ผู้ขายมีอยู่
ลักษณะเช่นนี้โดยทั่วไปจะเรียกว่าเป็นข้อตกลงกำหนดตลาดเพื่อซื้อสินค้าในราคาต่ำ ตัวอย่างเช่น ผู้จำหน่ายส่งสินค้า A ในพื้นที่ A โดยปกติจะสามารถขายสินค้าให้กับผู้ค้าปลีกจำนวนหนึ่ง และเนื่องจากผู้ค้าปลีกแข่งขันกันเพื่อให้ได้รับสินค้า ซึ่งปกติผู้ค้าปลีกจะซื้อสินค้า A ในราคาที่ 100 บาทต่อหน่วย ต่อมาผู้ค้าปลีกร่วมกันตกลงว่า ให้ผู้ค้าปลีกเพียงรายเดียวเป็นผู้ซื้อสินค้า A ในท้องที่ ส่วนผู้ค้าปลีกอื่นๆ ให้ซื้อสินค้า A จากนอกพื้นที่ A
ที่สุดแล้วสถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือ ผู้ค้าปลีกเพียงรายเดียวนั้นสามารถซื้อสินค้า A ได้ในราคา 80 บาทต่อหน่วยในพื้นที่ A เนื่องจากไม่มีผู้ค้าปลีกอื่นเข้ามาแข่งขันซื้อสินค้าด้วย
ซึ่งตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ หากผู้ประกอบธุรกิจมีพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนตามมาตรา 54 จะต้องได้รับโทษอาญาตามมาตรา 72 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ในปีที่กระทำความผิด หรือทั้งจำทั้งปรับ
แต่ถ้าเป็นกรณีการกระทำผิดในปีแรกของการประกอบธุรกิจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ!!!