“จุลพันธ์”รับความล่าช้า”แจกเงินดิจิทัล”กระตุ้นจีดีพีปีหน้าน้อยลง

“จุลพันธ์”รับความล่าช้า”แจกเงินดิจิทัล”กระตุ้นจีดีพีปีหน้าน้อยลง

“จุลพันธ์”ระบุ ความล่าช้า”แจกเงินดิจิทัล”มีผลกระตุ้นจีดีพีปีหน้าน้อยลง ชี้ข้อกฎหมายอื่นและการฟ้องร้องจะเป็นอุปสรรคต่อการพิจารณาพ.ร.บ.เงินกู้สำหรับโครงการ ยืนยันเศรษฐกิจไทยมีปัญหาต้องใช้โครงการดังกล่าวช่วย เชื่อกฎหมายกู้เงินจะผ่านการพิจารณาแน่นอน

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า โครงการแจกเงิน 5 แสนล้านบาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล ที่มีความล่าช้ากว่าแผนเดิม จะมีผลทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจ(จีดีพี) ผ่านโครงการนี้ลดน้อยกว่าเดิม ทั้งนี้ เดิมโครงการนี้รัฐบาลวางแผนที่จะ เริ่มในเดือนก.พ.ปีหน้า แต่ในปัจจุบันกำหนดใหม่เป็นเดือนพ.ค.ปีหน้า เนื่องจาก มีความจำเป็นต้องรอขั้นตอนตามกฎหมายในการออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์เสียก่อน

“ตอนนี้ โครงการดีเลย์ ก็มีผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้น้อยลง แต่เราก็จะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆเข้ามา โดยเราตั้งเป้าจะทำให้จีดีพีเติบโตที่ 5% ตลอดระยะ 4 ปีนี้ ซึ่งจะทำให้ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีลดลง และไม่น่าจะเกินกว่าระดับปัจจุบัน”

เขากล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงการคลังยังไม่ได้ทำการยกร่างพ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท โดยอยู่ในระหว่างการที่คณะกรรมการโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้สอบถามความเห็นไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งตนประเมินว่า กฤษฎีกาจะส่งความเห็นกลับมายังรัฐบาลภายในสิ้นปีนี้

อย่างไรก็ตาม เขาปฏิเสธที่จะตอบคำถามว่า หากคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่เห็นด้วยกับการออกร่าง กฎหมายกู้เงิน 5 แสนล้านบาท รัฐบาลจะเชื่อความของคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือไม่ โดยตอบเพียงว่า เชื่อว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา คงไม่ตอบเพียงว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้

เขากล่าวด้วยว่า ไม่ว่า รัฐบาลจะเลือกแนวทางใดในการระดมเงินสำหรับโครงการนี้ ก็จะต้องมีผู้ไปฟ้องร้อง เพราะมีคนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการ ดังนั้น เรื่องขอข้อกฎหมายอื่นที่ต้องมีการพิจารณาร่วม ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินโครงการ อย่างไรก็ดี การที่รัฐบาลเลือกที่จะออกพ.ร.บ.เงินกู้ ก็เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่วม หากไม่เห็นด้วย เราก็ต้องปฏิบัติตาม ซึ่งตนก็ไม่ได้มีแผนสำรอง

ส่วนกรณีที่มีความคิดเห็นของบางฝ่ายที่ระบุว่า การที่รัฐบาล ออกพ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ทั้งที่ก่อนหน้านี้ระบุว่า จะไม่กู้แต่ใช้เงินจาก พ.ร.บ.งบประมาณ เพื่อให้โครงการนี้เดินต่อไปไม่ได้ เขากล่าวว่า เป็นไปไม่ได้ ไม่มีใครคิดแบบนั้น ไม่อยู่ในหัว โดยเรามีหน้าที่ในการเดินหน้าโครงการ ซึ่งเป็นโจทย์ที่รับมาจากรัฐบาล ถ้าโครงการนี้ไม่สำเร็จ เราก็ไม่แคร์เรื่องคะแนนความนิยม

“ถ้าเรากลัวเรื่องคะแนนนิยม เราก็ต้องทำตามเงื่อนไขเดิม แต่นี่เราปรับเงื่อนไขลงมา การที่เราทำแบบนี้ ไม่มีกระแสตอบรับที่ดี ดังนั้น การยอมถอย ก็เพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้”

เขายืนยันว่า เศรษฐกิจไทยต้องได้รับการกระตุ้น เพราะเราก็มีความเชื่อว่า ขณะนี้ สถานการณ์ไม่ดี เมื่อดูทิศทางประเทศจากกระบวนการในการพัฒนาไปข้างหน้าถ้าเป็นลักษณะปัจจุบันจะเดินไม่ถึง จะเกิดปัญหาใน 4-5 ปีข้างหน้า ทั้งในเรื่องการดูแลสวัสดิการประชาชน การจะทำโครงสร้างงบประมาณ เรื่องการรักษากรอบวินัยการเงินการคลัง เพราะประเทศจำเป็นต้องใช้เงิน แต่ว่าการเติบโตเศรษฐกิจไม่มีทางโตทัน ถ้าเดินในลักษณะนี้

“ถ้าจะถามเรื่องจำเป็นเร่งด่วน ก็มีความเร่งด่วนหลายระดับ ผมมองว่า อ่านคนละมุม ถ้ามองไทม์ไลน์ หรือถ้าถามว่า วันนี้ผมมีเงินในกระเป๋าไหม ผมก็มี แต่ถ้ามองแบบบริหารประเทศ เราจะมอง ณ จุดวันนี้อย่างเดียวไม่ได้”

สำหรับเรื่องกรอบกฎหมาย หลายคนคอมเมนท์บอกว่า ทำไม่ได้ ก็โชคดีที่เขาไม่มีอำนาจในการวินิจฉัย เพราะถ้าเขามีอำนาจในการวินิจฉัย กฎหมายดังกล่าวก็จะไปไม่ได้ เป็นมุมกฎหมายที่มองคนละมุม เรามีหน้าที่ในการทำ แน่นอนว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ เราก็ต้องเดินหน้าไปสู่สภาฯ ขั้นตอนกฤษฎา ศาลรัฐธรรมนูญอย่างไรก็ไป ก็มีคนยื่นอยู่แล้ว รัฐบาลก็มีหน้าที่ไปชี้แจงตอบข้อสงสัยในมุมของเรา ส่วนผลจะเป็นอย่างไรก็ต้องรอดู ซึ่งตนเชื่อมั่นว่า เดินได้

ทั้งนี้ การออกพ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการนี้นั้น ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลจะเกิดภาระหนี้ทันที เนื่องจาก การกู้เงินของรัฐบาลโดยการออกพันธบัตรรัฐบาลนั้น จะกู้ต่อเมื่อมีการแลกเงินดิจิทัลวอลเล็ตจากธนาคารแล้ว หรือมีการถอนเงินออกแล้วเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลก็จะมีมาตรการจูงใจให้คนถือเงินดิจิทัลนี้ให้นานที่สุด