‘เศรษฐา’ ฝ่า 4 ด่านหิน ดัน ‘พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้าน’ แจกเงินดิจิทัล 50 ล้านคน

‘เศรษฐา’ ฝ่า 4 ด่านหิน ดัน ‘พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้าน’ แจกเงินดิจิทัล 50 ล้านคน

เปิดเส้นทาง 4 ด่านหิน "รัฐบาลเศรษฐา" ผ่าน พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้าน เพื่อผลักดันดิจิทัลวอลเล็ต ตั้งแต่การพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องของกฤษฎีกาหลายฉบับ การพิจารณาของ ครม.ที่ต้องวัดใจพรรคร่วมรัฐบาล ก่อนเข้าสู่รัฐสภาทั้ง ส.ส. และสว.และองค์กรอิสระที่อาจไปยื่นศาลรธน.

ในที่สุดก็เป็นที่ชัดเจนว่าการเดินหน้าโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทให้ประชาชน 50 ล้านคน วงเงิน 5 แสนล้านบาทรัฐบาลภายใต้การนำของเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้ข้อสรุปแหล่งที่มาของเงิน 5 แสนล้านบาทโดยการใช้การออกกฎหมายเป็น พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท 

ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ให้กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับที่.. พ.ศ....ก่อนที่จะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาร่างกฎหมาย ก่อนจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และสภาฯตามขั้นตอน

แม้ว่ารัฐบาลจะมีการวางไทม์ไลน์ว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตฯจะสามารถเริ่มต้นได้ในเดือน พ.ค.2567 แต่ในแง่การทำงานของรัฐบาลยังต้องผ่านขั้นตอนต่างๆในการพิจารณาข้อกฎหมายฉบับนี้จากฝ่ายต่างๆอย่างน้อย 4 ขั้นตอน เป็น 4 ด่านสำคัญที่รัฐบาลจะผลักดัน พ.ร.บ.เงินกู้ฉบับนี้  ซึ่งหากมีการสะดุดในขั้นใดขั้นหนึ่งก็จะส่งผลต่อโครงการ และอาจกระทบไปถึงเสถียรภาพของรัฐบาลได้โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงเป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล โดยก่อนหน้านี้นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยว่านายกรัฐมนตรี ได้สั่งการว่าให้พิจารณาดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการออก พ.ร.บ.เงินกู้ฉบับนี้ให้รอบครอบที่สุดโดยให้ใช้เวลาได้เต็มที่

โดยกรอบการพิจารณาที่เลขาฯกฤษฎีการับไปนั้นจะเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับว่าการออก พ.ร.บ.กู้เงินนี้จะขัดต่อกฎหมายหรือไม่ โดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องต้องตรวจสอบได้แก่

  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2560
  •  พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
  •  พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 
  • กฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ 2548 

 

โดยมีข้อกฎหมายที่ต้องดูเป็นพิเศษเนื่องจากมีผู้ไปร้องเรียนกับองค์กรอิสระแล้ว เช่น

  • มาตรา 140 แห่งรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2560
  • มาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 ที่ระบุว่า หากใช้เงินที่ไม่ได้เป็นไปตามงบประมาณปกติ หรือกู้เงินรัฐบาลจะทำได้ในกรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น 
  • มาตรา 9 วรรคสาม แห่ง พรบ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 ที่ระบุว่าคณะรัฐมนตรีต้องรักษาวินัยในกิจการที่เกี่ยวกับเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัตินี้ อย่างเคร่งครัด ในการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายการคลัง การจัดทํางบประมาณ การจัดหารายได้ การใช้จ่าย การบริหารการเงินการคลัง และการก่อหนี้ ครม.ต้องพิจารณาประโยชน์ที่รัฐหรือ ประชาชนจะได้รับ ความคุ้มค่า และภาระการเงินการคลังที่เกิดขึ้นแก่รัฐ รวมถึงความเสี่ยงและ ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างรอบคอบ

นำความเห็นกฤษฎีกาเข้าบอร์ดดิจิทัลอีกรอบ

โดยหลังจากที่กฤษฎีกาให้ความเห็นเสร็จเรียบร้อยแล้วจะนำความเห็นเข้าสู่ที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานอีกครั้ง เพื่อให้คณะกรรมการมีมติเห็นชอบร่วมกันก่อนที่จะไปสู่ขั้นตอนต่อไป ซึ่งความเห็นของคณะกรรมการการกฤษฎีกาถือว่ามีน้ำหนักต่อการตัดสินใจของรัฐบาล และพรรคร่วมรัฐบาลว่าจะเดินหน้ากฎหมายฉบับนี้ต่อไปหรือไม่อย่างไร และในกรณีที่ข้อกฎหมายฉบับนี้ขัดต่อข้อกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่ง คำแนะนำของกฤษฎีกาว่ารัฐบาลควรทำอย่างไรต่อไปถือว่ามีความสำคัญเช่นกัน

‘เศรษฐา’ ฝ่า 4 ด่านหิน ดัน ‘พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้าน’ แจกเงินดิจิทัล 50 ล้านคน

2.คณะรัฐมนตรี และพรรคร่วมรัฐบาล

เป็นด่านที่ 2 ที่รัฐบาลจะต้องผ่านไปให้ได้ ทั้งนี้จากองค์ประกอบในคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่มีนายกรัฐมนตรี ถือว่าเป็นคณะกรรมการชุดใหญ่ที่มีรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีจากหลายกระทรวง ในทางการเมืองนั้นถือว่ามีตัวแทนของพรรคร่วมรัฐบาลอยู่เกือบครบทุกพรรค ในกรณีที่ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นว่ากฎหมายกู้เงินฉบับนี้ไม่ขัดต่อกฎหมาย การนำกฎหมายเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เพื่อขอความเห็นชอบก็จะไม่มีปัญหาน่าจะผ่านความเห็นชอบจาก ครม.ได้โดยเร็ว

‘เศรษฐา’ ฝ่า 4 ด่านหิน ดัน ‘พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้าน’ แจกเงินดิจิทัล 50 ล้านคน

แต่หากเป็นในทางตรงกันข้าม กรณีที่กฤษฎีกาให้ความเห็นว่าขัดต่อกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่ง แต่รัฐบาลยังคงยืนยันใช้อำนาจเดินหน้ากฎหมายฉบับนี้โดยนำเอาเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ก็อาจเกิดเหตุการณ์ที่พรรคร่วมรัฐบาลแสดงความไม่เห็นด้วย โดยสามารถแสดงออกได้หลายวิธี เช่น การให้บันทึกในการประชุม ครม.ว่าตนไม่เห็นด้วย การขอให้โหวตใน ครม.แล้วไม่เห็นชอบ หรือแม้กระทั่งการวอร์คเอาต์ไม่เข้าประชุม ครม.ในครั้งนั้นๆ

ซึ่งหากเกิดสถานการณ์แบบนี้ขึ้นก็จะสะท้อนให้เห็นรอยร้าวในพรรคร่วมรัฐบาลทันที ซึ่งจะมีผลต่อด่านต่อไปที่รัฐบาลจะต้องฟันฝ่าคือการเสนอกฎหมายเพื่อขอความเห็นชอบต่อรัฐสภา

‘เศรษฐา’ ฝ่า 4 ด่านหิน ดัน ‘พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้าน’ แจกเงินดิจิทัล 50 ล้านคน

 

3.การพิจารณาของรัฐสภา เมื่อ ร่างพ.ร.บ.กู้เงินผ่านสองด่านแรกมาได้จะเข้าสู่ขั้นตอนสำคัญคือการพิจารณาของรัฐสภาฯ ซึ่งขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภาฯนั้นจะมีทั้งการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือวุฒิสมาชิก (ส.ว.) ซึ่งต้องมีผ่านการพิจารณา 3 วาระในการพิจารณา  ได้แก่วาระ 1 รับหลักการ วาระ2 ตั้งคณะกรรมาธิการ และลงมติเห็นชอบหรือไม่

ทั้งนี้แม้นายกรัฐมนตรีจะมั่นใจในเสียงข้างมาก 320 เสียงในสภาฯจะทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาฯได้ แต่ในทางการเมืองหมายความว่าพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคโดยเฉพาะพรรคขนาดใหญ่อีก 3 พรรคการเมืองได้แก่ พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ต้องยกมือสนับสนุนอย่างพร้อมเพรียง แต่หากมีปัญหาที่บางพรรคไม่เห็นด้วยในนโยบายหรือกฎหมายฉบับนี้แล้วมีการโหวตไม่เห็นด้วย หรืองดออกเสียงก็จะทำให้กฎหมายฉบับนี้มีความเสี่ยงที่จะตกไปในชั้นการพิจารณาของสภาฯได้เช่นกัน

และ 4.ศาลรัฐธรรมนูญ  ถือว่าเป็นอีกด่านสำคัญที่มีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลจะต้องเตรียมความพร้อมเพราะว่าองค์กรอิสระสามารถดำเนินการยื่นเรื่องการออกพ.ร.บ.กู้เงินให้กับศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าการออกกฎหมายของรัฐบาลขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยปัจจุบันมี องค์กรอิสระที่จับตาการออกกฎหมายฉบับนี้ของรัฐบาลได้แก่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาศึกษาโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยให้เชิญนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน ด้านเศรษฐศาสตร์ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาร่วมเป็นคณะกรรมการเพื่อติดตามตรวจสอบเรื่องนี้โดยตรง

ขณะที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับหนังสือจาก ศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ที่ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ม.231(1) ประกอบ ม.23(1) แห่ง พรป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน 2560 เพื่อเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า พรบ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2560 ม.140 ประกอบ พรบ.วินับการเงินการคลังของรัฐ 2561 ม.53 หรือไม่ 

เส้นทางการผลักดัน พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทเพื่อเป็นแหล่งเงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล ต่อจากนี้จึงไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่มีหลายด่านหินที่ต้องเผชิญ และต้องฟันฝ่าอีกมากกว่าที่จะสามารถผลักดันกฎหมายกู้เงินฉบับนี้ได้สำเร็จและสามารถแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน แต่หากผ่านไปไม่ได้ต้องดูผลกระทบทางการเมืองที่จะตามมาจากการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ด้วยเช่นกัน