‘ซิสโก้’ เปิด ดัชนีสะท้อนองค์กรไทย ‘ไม่พร้อม’ รับมือการมาของ ‘เอไอ’
ผลการศึกษาโดย “ซิสโก้” เผยว่า มีองค์กรในประเทศไทยเพียง 20% เท่านั้นที่มีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการปรับใช้และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วย “เอไอ”
ดัชนีความพร้อมด้านเอไอ “AI Readiness Index” ซึ่งได้ทำการสำรวจข้อมูลจากบริษัททั่วโลกมากกว่า 8,000 แห่ง แสดงให้เห็นว่ามี “ช่องว่างที่สำคัญ” ใน 6 เสาหลักของธุรกิจซึ่งประกอบด้วย กลยุทธ์ โครงสร้างพื้นฐาน ข้อมูล บุคลากร การกำกับดูแล และวัฒนธรรมองค์กร ที่อาจเกิดความเสี่ยงอย่างร้ายแรงในอนาคตอันใกล้นี้
ลิซ เซนโทนี่ รองประธานบริหารและผู้จัดการทั่วไปฝ่ายแอปพลิเคชั่น และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์ ซิสโก้ เปิดมุมมองว่า แม้การปรับใช้เอไอจะมีความคืบหน้าอย่างช้าๆ มานานหลายทศวรรษ แต่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี Generative AI ประกอบกับการเปิดให้ใช้งานอย่างกว้างขวางสำหรับผู้ใช้ทั่วไปในช่วงปีที่ผ่านมา ส่งผลให้มีความสนใจ เกิดเป็นความท้าทาย ความเปลี่ยนแปลง และความเป็นไปได้ใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น
ไทยเร่งใช้มาตรการเชิงรุก
ผลสำรวจระบุว่า 63% เชื่อว่า เอไอจะมีผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินธุรกิจของพวกเขา และอาจก่อให้เกิดประเด็นใหม่ๆ เกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและความปลอดภัย
บริษัทต่างๆ กำลังเผชิญกับความท้าทายมากที่สุดเมื่อใช้ประโยชน์จากเอไอ ควบคู่ไปกับข้อมูลของพวกเขา มีมากถึง 75% ที่ยอมรับว่าสาเหตุเป็นเพราะข้อมูลถูกจัดเก็บอย่างกระจัดกระจายไว้ในระบบต่างๆ ทั่วทั้งองค์กร
อย่างไรก็ตาม ข่าวดีก็คือบริษัทต่างๆ ในไทยกำลังใช้มาตรการเชิงรุกในหลายๆ ด้านเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตที่มุ่งเน้นเอเอไอเป็นหลัก
เมื่อพูดถึงการกำหนด “กลยุทธ์ด้านเอไอ” องค์กร 97% มีกลยุทธ์ด้านเอไอที่แข็งแกร่งอยู่แล้วหรืออยู่ระหว่างการพัฒนา องค์กรมากกว่า 81% ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Pacesetters (มีความพร้อมอย่างเต็มที่) หรือ Chasers (มีความพร้อมปานกลาง) โดยมีเพียง 1% เท่านั้นที่จัดอยู่ในกลุ่ม Laggards (ไม่ได้เตรียมพร้อม)
จากการสำรวจ 99% กล่าวว่า ความจำเป็นเร่งด่วนในการปรับใช้เทคโนโลยีเอไอในองค์กรของพวกเขาเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา โดยมีการรายงานว่า “โครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีและการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์” เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในการปรับใช้เอไอ
‘โครงสร้างพื้นฐาน’ ไม่พร้อม
ซิสโก้เผยว่า 74% ของผู้ตอบแบบสอบถามในไทยเชื่อว่าพวกเขามีเวลาสูงสุดไม่เกินหนึ่งปีในการปรับใช้กลยุทธ์เอไอก่อนที่องค์กรของพวกเขาจะเริ่มได้รับผลกระทบเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญต่อธุรกิจ
องค์กร 81% ในไทยจัดอยู่ในกลุ่ม Pacesetters หรือ Chasers มีเพียง 1% เท่านั้นที่จัดอยู่ในกลุ่ม Laggards นอกจากนี้ 97% ขององค์กรมีกลยุทธ์เอไอที่ชัดเจนอยู่แล้วหรืออยู่ระหว่างการพัฒนา ซึ่งนับเป็นสัญญาณเชิงบวก แต่ก็ยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมาก
ที่น่าเป็นห่วง ในประเทศไทย มีองค์กรเพียง 29% เท่านั้นที่มองว่าโครงสร้างพื้นฐานของตนสามารถปรับขนาดได้อย่างยืดหยุ่น
โดยมี 56% ที่ระบุว่าพวกเขามีความสามารถในการปรับขนาดอย่างจำกัด หรือไม่มีเลยเมื่อต้องรับมือกับปัญหาหรือความท้าทายด้านเอไอใหม่ๆ ภายในโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีที่มีอยู่ในปัจจุบัน
เต็มไปด้วยข้อจำกัด
แม้ว่า “ข้อมูล” จะทำหน้าที่เป็นแกนหลักที่สำคัญสำหรับการดำเนินการของเอไอ แต่กลับเป็นส่วนที่มีความพร้อมน้อยที่สุด 75%ระบุว่า ข้อมูลต่างๆ ถูกแยกส่วนหรือกระจัดกระจายอยู่ในองค์กรของตน ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาท้าทายที่สำคัญ
เนื่องจาก ความยุ่งยากซับซ้อนในการบูรณาการข้อมูลที่อยู่ในระบบต่างๆ และการทำให้ข้อมูลดังกล่าวพร้อมใช้งานสำหรับแอปพลิเคชันเอไอสามารถส่งผลกระทบต่อความสามารถในการใช้ประโยชน์จากแอปพลิเคชันเหล่านี้
อีกหนึ่งความท้าทายยังมีเรื่องของ “บุคลากร” เมื่อเอไอเข้ามาได้เห็นถึงช่องว่างและความเหลื่อมล้ทางดิจิทัลยุคใหม่ มากขึ้น โดยมีผู้บริหาร รวมถึง
จากการสำรวจพบว่า ผู้บริหารระดับสูงมีแนวโน้มที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเอไอมากที่สุด ทว่าระดับกลางและพนักงานทั่วไปยอมรับเอไออย่างมีข้อจำกัดหรือไม่ยอมรับเลย มีองค์กรเกือบหนึ่งในห้าที่บอกว่า พนักงานไม่ค่อยเต็มใจที่จะปรับใช้เอไอหรือต่อต้านการใช้เอไอ
ด้าน “การกำกับดูแล” 57% ขององค์กรไม่มีนโยบายเอไอที่ครอบคลุม ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการทำลายความเชื่อมั่นและความไว้วางใจขณะที่การปรับเปลี่ยน “วัฒนธรรมองค์กร” พบว่ามีการเตรียมการน้อยมาก