'ณัทกฤช' ชี้ นโยบายอีวี 30@30 หนุนเศรษฐกิจประเทศโต
"กรรมาธิการการพลังงาน" ระบุ นโยบายอีวี 30@30 หนุนเศรษฐกิจประเทศโต แก้ปัญหาโลกร้อน ดันไทยสู่เป้าหมาย Net Zero
"โพสต์ทูเดย์" จัดงานสัมมนา “POSTTODAY SMART CITY THAILAND 2024” โดย นายณัทกฤช อภิภูชยะกุล ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการพลังงาน ในหัวข้อ SMART Life in Smart City ว่า ทั้ง SMART Life และ Smart City มีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเป็นหลัก โดยมีการนำเทคโนโลยีมาช่วยให้มีสุขภาพชีวิตที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม การมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น มักจะมาพร้อมกับการใช้ไฟฟ้า และการใช้พลังงานมากขึ้น จึงต้องมีความเสถียรภาพเพื่อตอบรับกับ SMART Life และ Smart City ในอนาคต
สำหรับจุดเด่นหลักของประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียน คือ ประเทศไทยมีความเสถียรภาพด้านไฟฟ้ามากกว่า จึงสามารถดึงดูดนักลงทุนมาดำเนินธุรกิจในไทยได้ เพราะต่อให้ประเทศอื่นมีค่าไฟฟ้าที่ถูกกว่าประเทศไทยก็ตาม หากไม่มีความเสถียรภาพในระบบไฟฟ้า จะเกิดค่าความเสียหายที่มากกว่า ซึ่งระบบไฟฟ้า และระบบสายส่งประเทศไทยดีมากกว่าหลายประเทศ
"ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ได้กระทบไปถึงภาคครัวเรือน ในช่วงที่เกิด PM2.5 พบว่าเด็กเล็กๆ ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ กระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม"
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประชาชนสามารถปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ได้เอง เพื่อให้ตนเองได้ประหยัดพลังงาน เช่น การใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็นนวัตกรรมใหม่อย่าง อินเวอร์เตอร์ การเลือกใช้หลอดไฟเป็น LED และใช้เครื่องใช้ไฟฟ้ามาตรฐานเบอร์ 5 ส่วนคนที่มีกำลังซื้อก็สามารถติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปไว้ใช้เองเพื่อช่วยประหยัดไฟฟ้า
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการการพลังงาน กระทรวงพลังงาน มีส่วนร่วมในการผลักดันสมาร์ท ซิตี้ จากนโยบายการผลักดันมาตรการยานยนต์ไฟฟ้า 30@30 การเพิ่มส่วนแบ่งยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จะเป็นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานรถอีวี ดังนั้น นโยบายนี้จะช่วยลดปัญหา PM2.5 เพราะหลักๆ คือ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ดี
"การส่งเสริมนโยบายอีวีโดยการเพิ่มจำนวนรถอีวี นอกจากดีมานด์ที่ใช้แล้ว สิ่งสำคัญที่ไม่แพ้กันคือ การมีสถานีชาร์จรถอีวี โดยกระทรวงพลังงาน ตั้งเป้าเพิ่มหัวจ่ายให้ได้ 1.2 หมื่นหัว ในปี 2030 นอกจากจะช่วยด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว จะช่วยการจ้างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจ Reskill ตลาดแรงงานของประเทศไทย พร้อมหนุนเป้าหมาย Net Zero
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์