ปลดล็อกข้อจำกัดการเงิน เร่งลงทุนลดโลกร้อน
นับวันปัญหาวิกฤติโลกรวนทวีความรุนแรง สะท้อนความจำเป็นเร่งด่วนที่ประเทศต่างๆ ต้องหาทางบรรเทาผลกระทบที่จะต้องเจอบ่อยครั้งขึ้น
เพื่อมุ่งให้โลกปรับตัวสู่สภาวะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero emission) หรือสภาวะที่โลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกสมดุลกับก๊าซเรือนกระจกที่จะถูกดูดซับออกจากชั้นบรรยากาศภายในปี ค.ศ.2050
จึงจะช่วยไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในระยะยาวสูงเกิน 2 องศาเซลเซียส จากระดับก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมตามข้อตกลงปารีส โดยจะพยายามอย่างมากที่จะจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งในปัจจุบันโลกร้อนขึ้นมาราว 1.2 องศาเซลเซียสแล้ว
การจะมุ่งสู่เป้าหมายท้าทายของโลกข้อนี้ แต่ละประเทศต้องอาศัยเม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้นมากจากภาครัฐและเอกชน เพื่อลงทุนรับมือและเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านในหลายด้าน
ทั่วโลกนับถอยหลัง เร่งลงทุนลดสภาวะโลกรวน
Global Financial Stability Report ของ IMF (Oct 2023) ระบุว่า ทั่วโลกต้องยกระดับการลงทุนขนานใหญ่ในแต่ละปีเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (Climate migration investment) เป็นมูลค่าสูงถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์ในปี ค.ศ.2030 เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero Emission ภายในปี ค.ศ.2050
นั่นคือจะต้องลงทุนเพิ่มอีกหลายเท่าจากระดับปัจจุบัน 3% เป็น 12% ของมูลค่าการลงทุนรวมในโลก
การลงทุนรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทำได้หลายรูปแบบ เช่น การลงทุนเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีสู่ Low carbon emission ด้วยการผลิตพลังงานสะอาดทดแทนพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะและเปลี่ยนมาใช้รถยนต์พลังงานสะอาด
การก่อสร้างอาคารลดการปล่อยคาร์บอนและประหยัดพลังงาน รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศพร้อมรับมือผลกระทบทางกายภาพรุนแรงจากสภาวะโลกรวนได้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจและสังคมที่จะเกิดขึ้นได้
ในปัจจุบันกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา (EMDEs) ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาในโลกกว่า 2 ใน 3 โดย IMF ประเมินว่า EMDEs ต้องเร่งลงทุนด้าน Climate migration มากขึ้นถึงปีละ 2 ล้านล้านดอลลาร์ในปี ค.ศ.2030 (หรือประมาณ 40% ของการลงทุนรวมด้าน Climate migration ของโลก)
อย่างไรก็ดี ภาครัฐของประเทศส่วนใหญ่มีแนวโน้มกู้และลงทุนเพิ่มได้อีกไม่มาก บนข้อจำกัดทางการคลังที่สูงขึ้นหลังวิกฤติโควิด ดังนั้น บทบาทการลงทุนด้าน Climate migration ขนานใหญ่ที่ต้องเร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรมภายในปี ค.ศ.2030 จะมาจากเม็ดเงินลงทุนของภาคเอกชนเป็นหลักมากถึง 80-90% ของมูลค่าเงินลงทุนรวมด้านนี้ของ EMDEs
จะเห็นได้ว่า การระดมเงินทุนจากภาคเอกชนนับเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้เป้าหมาย Net zero emission เกิดขึ้นได้จริงภายในปี ค.ศ.2050
IMF พบว่า EMDEs ยังประสบปัญหาในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนภาคเอกชน แม้ในปัจจุบันกระแสเม็ดเงินลงทุนแก้ปัญหาสภาพอากาศรวนในโลกจะตื่นตัวขึ้นมาก แต่กระแสการลงทุนด้านนี้ใน EMDEs ยังเกิดขึ้นไม่เยอะ ไม่ค่อยเห็นการกระจายการลงทุนไปถือสินทรัพย์ที่ช่วยลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกลุ่มประเทศเหล่านี้มากนัก
ส่วนหนึ่งอาจเพราะตลาดการเงินในประเทศยังพัฒนาไม่มากเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนทั่วโลก นอกจากนี้ บางประเทศอาจมีปัญหาเฉพาะ เช่น อันดับความน่าลงทุนของตราสารไม่จูงใจ ความเสี่ยงทางการเมือง ความไม่แน่นอนของกฎเกณฑ์เชิงสถาบัน ความเสี่ยงในการดำเนินการ และการขาดแคลนโครงการลงทุนสีเขียวที่น่าลงทุน
นอกจากนี้ EMDEs ยังขาดระบบจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสภาพอากาศที่มีคุณภาพ น่าเชื่อถือและได้มาตรฐานสากล ส่งผลให้นักลงทุนที่ต้องการนำข้อมูลไปประเมินโอกาสและความเสี่ยงของการลงทุนด้านนี้ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาทำได้ไม่ง่ายนัก
IMF ได้นำเสนอชุดนโยบายปลดล็อกข้อจำกัดทางการเงินของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เพื่อเร่งให้การลงทุนแก้ปัญหาวิกฤติสภาพอากาศเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งแต่ละประเทศจำเป็นต้องดำเนินนโยบายหลายด้านควบคู่กัน
เช่น การปฏิรูปการใช้พลังงานฟอสซิลและกำหนดราคาซื้อขายคาร์บอน การส่งเสริมให้ภาคการเงินเป็นแหล่งระดมทุนเพื่อการลงทุนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากแหล่งเงินทุนทั้งในและนอกประเทศ
การออกแบบสถาปัตยกรรมข้อมูลเกี่ยวกับสภาพอากาศ เช่น การจัดเก็บและการเปิดเผยข้อมูล การจัดทำมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Taxonomies) การจัดทำคะแนนผลกระทบทางสภาพอากาศ (Climate impact score) และการวางระบบกระจายความเสี่ยงในการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน
๐ ประเทศไทยพร้อมแค่ไหน?
ภูมิภาคอาเซียนและเอเชียใต้จัดอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก โดยเฉพาะมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย อินโดนีเซีย ที่ได้รับการประเมินว่า หากอุณหภูมิโลกสูงขึ้นถึงระดับ 2-2.6 องศาเซลเซียส ภายในปี ค.ศ.2048 จะทำให้ GDP ลดลงราว 20-36% จากผลกระทบต่อผลิตภาพแรงงานและภาคเกษตร
แต่ไทยยังปรับตัวรับมือความเสี่ยงด้านสภาพอากาศได้ค่อนข้างช้าอยู่ในอันดับ 39 จาก 48 ประเทศ ณ ปี 2562 (Swiss Re Institute, 2021) สำหรับการประเมินของ Climateactiontracker.org ล่าสุด ณ พ.ย.2566 ยังพบว่า ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่เตรียมรับมือปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไม่เพียงพอเข้าขั้นวิกฤติ (critically insufficient climate actions)
ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) เปิดเผยผลศึกษาว่า ภูมิภาคอาเซียนต้องเร่งลงทุนแก้ปัญหาโลกร้อนเพิ่มขึ้นอีกปีละ 2 แสนล้านดอลลาร์ ผ่านการระดมทุนขนานใหญ่จากภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ
สำหรับประเทศไทย ADB มองว่าการพัฒนาระบบนิเวศการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable finance ecosystem) เป็นความเร่งด่วนหลัก เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยเข้าถึงแหล่งเงินสำหรับการลงทุนเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ได้มากขึ้น
จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องในด้านอุปทานและอุปสงค์ของตลาดการเงินไทย การออกนโยบายกำกับดูแล การออกแบบผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืน รวมถึงการตระหนักรู้ของนักลงทุนถึงความสำคัญของ ESG ในตลาดการเงินไทย
ปัญหาใหญ่ของโลกกำลังรออยู่ข้างหน้า ผู้กำกับดูแลและธุรกิจในภาคการเงินไทยเริ่มมีแนวทางให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อความยั่งยืนในแผนยุทธศาสตร์ประเทศและขององค์กร ความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนเพื่อให้ทิศทางและแผนปฏิบัติการสอดคล้องกันและจัดลำดับความสำคัญ
จะช่วยสร้างระบบนิเวศการเงินยั่งยืน ปลดล็อกข้อจำกัดทางการเงินให้ประเทศไทยสามารถเร่งการลงทุนจากภาคเอกชนในและต่างประเทศ เพื่อเร่งเปลี่ยนผ่านประเทศท่ามกลางวิกฤติโลกรวนได้ในที่สุดค่ะ
(บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด)