'รถไฟฟ้าสีชมพู' เปิดบริการ ลุ้นนายกฯ ขยายเวลานั่งฟรีเป็นของขวัญปีใหม่
นายกฯ เปิดรถไฟฟ้าสายสีชมพู ลุ้นขยายเวลาให้ประชาชนทดลองนั่งฟรีเป็นของขวัญปีใหม่ ด้าน "คีรี" ประกาศสนับสนุนค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย พร้อมเจรจารัฐบาล ยอมรับหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวยังไร้ข้อสรุป
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมศูนย์ควบคุมการเดินรถ และเข้าร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี วันนี้ (21 พ.ย.) โดยระบุว่า ขณะนี้รถไฟฟ้าสายสีชมพูมีความพร้อมเปิดให้บริการแล้ว ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีที่จะอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน รัฐบาลจึงอยากเชิญชวนให้ประชาชนมาทดลองใช้บริการ ทดลองปรับพฤติกรรมในการเดินทาง ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เปลี่ยนมาใช้ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ทำให้การเดินทางสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ที่มีข่าวออกมาว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูจะเก็บเงินในวันที่ 18 ธ.ค.นี้ กรณีนี้รัฐบาลจะมีการพิจารณาให้ทดลองใช้จนถึงช่วงเทศกาลปีใหม่เพื่อเป็นของขวัญให้แก่ประชาชนหรือไม่ เรื่องดังกล่าวคงต้องหารือกับเอกชน เรื่องนี้จะต้องมีการพูดคุยกันอีกครั้งก่อน แต่แน่นอนว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นสิ่งที่สำคัญ ต้องขอบคุณเอกชน ทางบีทีเอสที่ทำให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี สะดวกสบายแก่พี่น้องประชาชนโดยเฉพาะการเดินทางจากชานเมือง ซึ่งการพัฒนาสิ่งเหล่านี้เริ่มต้นจากรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ทำกันมานานแล้ว น่าจะประมาณ 20 ปี ต้องขอบคุณทางบีทีเอสที่ช่วยให้มีวันนี้
สำหรับโดยรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู นับเป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) สายที่สองของประเทศไทย ต่อจากรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง (MRT สายสีเหลือง) ที่ได้เปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบเชิงพาณิชย์ไปแล้วเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งมีจุดเด่นในการทำหน้าที่เป็นระบบขนส่งมวลชนระบบรอง (Feeder Line) เช่นเดียวกัน เพราะมีสถานีที่เป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายหลักมากถึง 5 สถานี ได้แก่ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง), สถานีหลักสี่ เชื่อมต่อกับรถไฟชานเมือง สายธานีรัถยา, สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว, สถานีวัชรพล เชื่อมต่อกับโครงรถไฟฟ้าสายสีเทาในอนาคต และสถานีมีนบุรี เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม
นอกจากนี้ ด้านศักยภาพการรองรับผู้โดยสารจะมีรถไฟฟ้าวิ่งให้บริการในระบบและขบวนสำรอง รวมทั้งสิ้น 42 ขบวน โดยระยะแรกแต่ละขบวนจะให้บริการด้วยขนาด 4 ตู้ต่อขบวน สามารถขนส่งผู้โดยสารได้ประมาณ 17,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง และในอนาคตเมื่อจำนวนผู้โดยสารเพิ่มสูงขึ้นก็สามารถเพิ่มขนาดสูงสุดได้ถึง 7 ตู้ต่อขบวน รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 28,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง เมื่อให้บริการด้วยความถี่ 2 นาที
ด้านนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด กล่าวว่า การเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูในวันนี้ บีทีเอสปลื้มใจมากที่สามารถเพิ่งโครงข่ายรถไฟฟ้าบริการประชาชนได้มากขึ้น โดยภาพรวมโครงการนี้นับว่าล่าช้ามาประมาณ 2 ปี จากผลกระทบโควิด-19 ซึ่งการเปิดให้บริการนั้นจะให้ประชาชนทดลองใช้ฟรี และเริ่มเก็บค่าโดยสารวันที่ 18 ธ.ค.นี้ ส่วนกรณีที่รัฐบาลจะขยายระยะเวลาให้บริการฟรีออกไปนั้น เป็นเรื่องที่ต้องหารือกันอีกครั้ง
ขณะที่กรณีนโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายของรัฐบาลบีทีเอสพร้อมสนับสนุน อยากเห็นประชาชนใช้บริการขนส่งสาธารณะรถไฟฟ้าอย่างสะดวก โดยมองว่าเรื่องนี้สามารถทำได้ แต่ต้องมีการเจรจาด้วยว่ารัฐบาลจะดูแลเอกชนอย่างไร เพราะเอกชนก็ลงทุนโครงการไปแล้ว ดำเนินการตามสัญญาร่วมลงทุน และจะมีรายได้กลับคืนอย่างไร คงต้องหารือกันก่อน ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่มีการนัดเจรจา
นายคีรี ยังกล่าวถึงกรณีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) อยู่ระหว่างเสนอกระทรวงมหาดไทย และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาแนวทางชำระหนี้เกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เรื่องนี้บีทีเอสมีความหวังที่จะได้คืนอยู่แล้ว เพราะไม่มีเอกชนรายใดกล้าที่จะให้บริการโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งวันนี้เชื่อว่ารัฐบาบให้ความสำคัญกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและกำลังพยายามที่จะหาวิธีให้เรื่องนี้จบอย่างถูกต้องโดยเร็ว เพื่อไม่ให้ฝั่งใดเสียประโยชน์ ในฐานะเอกชนก็ไม่กังวลเพราะสัญญาจ้างที่มีอยู่ เมื่อยังไม่ได้รับค่าจ้างดอกเบี้ยก็เพิ่มตามสัญญา ถึงเวลาก็ต้องได้รับชำระ เชื่อว่าเรื่องนี้รัฐบาลกำลังพยายามหาทางออกที่ดีและเร็วที่สุดอยู่
ส่วนกรณีที่ กทม.มีนโยบายจะจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ในกลางเดือน ม.ค.2567 เรื่องนี้บีทีเอสเป็นเอกชนผู้รับจ้างเดินรถ ไม่สามารถก้าวล่วงได้ว่า กทม.จะจัดเก็บค่าโดยสารเมื่อไหร่ หรือเท่าไหร่ แต่เมื่อบีทีเอสเป็นผู้รับจ้างก็ต้องได้รับค่าจ้างตามสัญญา เพราะมีต้นทุนค่าดำเนินงานและยังมีพนักงานที่ต้องให้บริการด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้เวลาประมาณ 15.00 น. จะมีการเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ตลอดแนวเส้นทางช่วงแคราย - มีนบุรี ทั้ง 30 สถานี โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าโดยสาร และตั้งแต่วันที่ 22 พ.ย.2566 จะเปิดให้ทดลองใช้บริการได้ระหว่างเวลา 06.00 – 20.00 น. ทุกวันต่อเนื่องไป จนกว่ารถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู จะมีความพร้อมในการขยายระยะเวลาทดลองให้บริการเพิ่มขึ้นตามลำดับ หลังจากนั้นมีกำหนดจัดเก็บค่าโดยสารในวันที่ 18 ธ.ค.2566 โดยกำหนดอัตราราคาค่าโดยสาร 15 - 45 บาท
สำหรับโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี มีระยะทางประมาณ 34.5 กิโลเมตร ใช้ทางวิ่งยกระดับตลอดสาย รวมทั้งสิ้น 30 สถานี ประกอบด้วย สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี สถานีแคราย สถานีสนามบินน้ำ สถานีสามัคคี สถานีกรมชลประทาน สถานีแยกปากเกร็ด สถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด สถานีแจ้งวัฒนะ - ปากเกร็ด 28 สถานีศรีรัช สถานีเมืองทองธานี สถานีแจ้งวัฒนะ 14 สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ สถานีหลักสี่ สถานีราชภัฏพระนคร สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ สถานีรามอินทรา 3 สถานีลาดปลาเค้า สถานีรามอินทรา กม.4 สถานีมัยลาภ
สถานีวัชรพล สถานีรามอินทรา กม.6 สถานีคู้บอน สถานีรามอินทรา กม.9 สถานีวงแหวนรามอินทรา สถานีนพรัตน์ สถานีบางชัน สถานีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ สถานีตลาดมีนบุรี และสถานีมีนบุรี ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับศูนย์ซ่อมบำรุงฯ และมีอาคารจอดแล้วจร 1 แห่ง ในบริเวณเดียวกันนี้ เพื่อรองรับผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวสามารถนำรถมาจอดและเดินทางเข้าสู่ระบบขนส่งสาธารณะทางรางได้โดยสะดวก นอกจากนี้ ในอนาคตอันใกล้รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู จะเปิดให้บริการส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช - เมืองทองธานี เพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสามารถเดินทางจากสถานีเมืองทองธานี เข้าสู่พื้นที่เมืองทองธานี ผ่านวงแหวนเมืองทองธานี ไปสิ้นสุดปลายทางบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานีได้โดยสะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น