'คีรี' มั่นใจรัฐบาลเร่งสางหนี้ 'รถไฟฟ้าสายสีเขียว'
"คีรี" มั่นใจรัฐบาลเร่งหาทางออกสางปมหนี้ "รถไฟฟ้าสายสีเขียว" เป้าหมายไม่ให้ฝ่ายใดเสียประโยชน์ หลัง กทม.เสนอมหาดไทย เคาะแนวทางจ่ายก้อนแรก 2.3 หมื่นล้าน
นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส เปิดเผยว่า กรณีนโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายของรัฐบาลบีทีเอสพร้อมสนับสนุน อยากเห็นประชาชนใช้บริการขนส่งสาธารณะรถไฟฟ้าอย่างสะดวก โดยมองว่าเรื่องนี้สามารถทำได้ แต่ต้องมีการเจรจาด้วยว่ารัฐบาลจะดูแลเอกชนอย่างไร เพราะเอกชนก็ลงทุนโครงการไปแล้ว ดำเนินการตามสัญญาร่วมลงทุน และจะมีรายได้กลับคืนอย่างไร คงต้องหารือกันก่อน ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่มีการนัดเจรจา
ส่วนกรณีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) อยู่ระหว่างเสนอกระทรวงมหาดไทย และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาแนวทางชำระหนี้เกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เรื่องนี้บีทีเอสมีความหวังที่จะได้คืนอยู่แล้ว เพราะไม่มีเอกชนรายใดกล้าที่จะให้บริการโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งวันนี้เชื่อว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและกำลังพยายามที่จะหาวิธีให้เรื่องนี้จบอย่างถูกต้องโดยเร็ว เพื่อไม่ให้ฝั่งใดเสียประโยชน์ ในฐานะเอกชนก็ไม่กังวลเพราะสัญญาจ้างที่มีอยู่ เมื่อยังไม่ได้รับค่าจ้างดอกเบี้ยก็เพิ่มตามสัญญา ถึงเวลาก็ต้องได้รับชำระ เชื่อว่าเรื่องนี้รัฐบาลกำลังพยายามหาทางออกที่ดีและเร็วที่สุดอยู่
ขณะที่กรณี กทม.มีนโยบายจะจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ในกลางเดือน ม.ค.2567 เรื่องนี้บีทีเอสเป็นเอกชนผู้รับจ้างเดินรถ ไม่สามารถก้าวล่วงได้ว่า กทม.จะจัดเก็บค่าโดยสารเมื่อไหร่ หรือเท่าไหร่ แต่เมื่อบีทีเอสเป็นผู้รับจ้างก็ต้องได้รับค่าจ้างตามสัญญา เพราะมีต้นทุนค่าดำเนินงานและยังมีพนักงานที่ต้องให้บริการด้วย
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าแนวทางชำระหนี้เอกชนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยระบุว่า จากก่อนหน้านี้ที่ กทม.พิจารณาจะชำระค่าจ้างการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ครบกำหนดชำระประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันได้เสนอไปยังกระทรวงมหาดไทยพิจารณา ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
โดยเรื่องนี้ตามกระบวนการจำเป็นต้องเสนอให้กระทรวงมหาดไทยและ ครม.ตีความในการชำระค่าใช้จ่ายให้แก่เอกชน เนื่องจากพบว่าสัญญาส่วนนี้อยู่ภายใต้คำสั่ง ม.44 เกี่ยวกับการเจรจาต่อสัญญาสัมปทาน ส่งผลให้ กทม.ไม่สามารถนำเงินสะสมจ่ายขาดที่มีพร้อมอยู่ราว 5 หมื่นล้านบาท มาชำระให้แก่เอกชนได้ทันที เพราะตามกระบวนการต้องผ่านการพิจารณาจากกระทรวงมหาดไทย ครม. และนำกลับมาสู่สภา กทม.พิจารณาอนุมัติ
“ตอนนี้หนี้สะสมในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวปรับเพิ่มขึ้นทุกวัน กทม.ก็ต้องเจรจากัยเอกชนไปเรื่อยๆ ซึ่งเรื่องนี้คุยกับเอกชนมาตลอด และเราอยากให้เรื่องนี้จบให้เร็วที่สุด แต่ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล การพิจารณา ม.44 ด้วยว่าจะมีแนวทางอย่างไร”
ส่วนมูลหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และต่อขยายที่ 2 ปัจจุบันทาง กทม.ได้ยื่นอุทธรณ์คดี และยังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครอง โดยมูลหนี้ส่วนนี้ กทม.รอผลการตัดสินของศาลปกครอง ก่อนกำหนดแนวทางดำเนินการต่อไป โดย กทม.ยอมรับว่าข้อพิพาทที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว จุดเริ่มต้นเกิดจากการดำเนินการที่ไม่นำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภา กทม.ให้ถูกต้อง
สำหรับปัจจุบันหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวระหว่าง กทม. โดยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว แบ่งออกเป็น 1.ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 (อ่อนนุช-แบริ่ง และสะพานตากสิน-บางหว้า) และช่วงที่ 2 (แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท และ 2.ค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้า/เครื่องกล (E&M) รวมกว่า 2.28 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ หนี้ในจำนวนนี้ ปัจจุบันได้มีการยื่นฟ้องและอยู่ในขั้นตอนศาลปกครองพิจารณา แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ1.หนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ศาลปกครองพิพากษาให้ กทม. และเคทีร่วมกัน จ่ายหนี้ให้กับบีทีเอส จำนวนประมาณ 11,755.06 ล้านบาท ทั้งในส่วนค่าเดินรถ และซ่อมบำรุง และ 2.หนี้ก้อนที่ 2 ส่วนค่าเดินรถ และซ่อมบำรุง ที่บีทีเอสได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางให้จ่ายหนี้เพิ่มอีก ประมาณ 11,068.5 ล้านบาท เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2565