นายกฯ พบ USABC ย้ำไทยเปิดกว้างสำหรับธุรกิจและการลงทุน
นายกฯ ต้อนรับคณะนักธุรกิจสหรัฐฯ ย้ำไทยเปิดเกว้าง ชี้โอกาสลงทุนอุตฯ สมัยใหม่ ชู 3 ประเด็นร่วมมือไทยขับเคลื่นเศรษฐกิจ
วันนี้ (21 พ.ย.) เมื่อเวลา 13.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล คณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (U.S.-ASEAN Business Council: USABC) เข้าเยี่ยมคารวะ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยมี นายโรเบิร์ต โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย และนายไบรอัน แมคฟีเทอร์ส รองประธานอาวุโสและกรรมการผู้จัดการระดับภูมิภาค สภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน
พร้อมด้วยผู้แทนบริษัทสมาชิก จำนวนรวม 42 บริษัท จากภาคกลุ่มอุตสาหกรรม 8 สาขาหลัก ได้แก่ พลังงานและปิโตรเคมีสาธารณสุข เทคโนโลยีดิจิทัล การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภค และผลิตภัณฑ์ความงาม คมนาคมและการขนส่ง และธุรกิจที่ปรึกษาและกฎหมาย
นายวัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการหารือ ว่า นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้พบ USABC อีกครั้ง ซี่งถือเป็นโอกาสที่จะได้แลกเปลี่ยนมุมมองและข้อเสนอแนะร่วมกันว่าจะเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของไทย-สหรัฐฯ และเป็นการสานต่อข้อหารือทั้งจากการเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (UNGA) เมื่อเดือนก.ย. และ การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา
อีกทั้งยังได้เดินทางไปทั่วโลกเพื่อพบปะกับผู้นำทางธุรกิจต่างๆ พร้อมเน้นย้ำข้อความที่ว่า
“ขณะนี้ประเทศไทยเปิดกว้างสำหรับธุรกิจแล้ว และไม่มีเวลาใดที่เหมาะสมไปกว่านี้อีกแล้วที่จะลงทุนในประเทศไทย” (Thailand is now open for business, and there has never been a better time to invest in Thailand)
ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการกระตุ้นเศรษฐกิจและการมีส่วนร่วมเชิงรุกร่วมกับพันธมิตรระหว่างประเทศ ซึ่งสหรัฐฯ เป็นมิตรอันเก่าแก่ของไทย มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งระหว่างสองประเทศ โดยไทยยินดีที่จะกระชับความร่วมมือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น การพัฒนาอย่างสมดุลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล พลังงานสะอาด การดูแลสุขภาพ และอื่นๆ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีระบุว่า พร้อมขับเคลื่อนประเทศให้เจริญเติบโต ท่ามกลางการแข่งขันทางเศรษฐกิจในระดับโลก ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และวิกฤติสภาพภูมิอากาศ ซึ่งได้ระบุถึง 3 ประเด็นสำคัญที่สามารถร่วมกับนักธุรกิจสหรัฐฯ ได้ ดังนี้
ประการแรก ความยั่งยืน ไทยมุ่งมั่นที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 ผ่านการเร่งรัดโครงการริเริ่มเศรษฐกิจสีเขียว และการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียน
โดยขณะนี้ ไทยกำลังดำเนินการทั้ง "การลด" ด้วยการลดกิจกรรมที่ไม่จำเป็น ลดการใช้พลังงานฟอสซิล และดำเนินการ"ชดเชย" ด้วยการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้และลงทุนในพลังงานหมุนเวียน
ไทยยินดีกับการลงทุนและองค์ความรู้ของสหรัฐฯ ในด้านพลังงานทดแทน เทคโนโลยีไฮโดรเจน ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ และเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ (CCU) และการกักเก็บคาร์บอน (CCS) รวมทั้งเชิญชวนให้นักธุรกิจสำรวจโอกาสในการลงทุนอุตสาหกรรมสมัยใหม่ของไทย ซึ่งหมายรวมถึงอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ขั้นต้น เกษตรกรรมขั้นสูง เทคโนโลยีชีวภาพ และยานยนต์ไฟฟ้า (EVs)
โดยไทยยินดีต้อนรับบริษัทในสหรัฐฯ ที่จะมาร่วมสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางของรถยนต์ไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียนพร้อมด้วยสิทธิประโยชน์จูงใจที่สามารถปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละบริษัท
นอกจากนี้ รัฐบาลมีแนวทางที่จะออกตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond) ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญของการสร้างความตระหนักรู้ถึงการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน (ESG) และการบรรลุข้อตกลงด้านสภาพภูมิอากาศ
ประการที่สอง ความร่วมมือกับพันธมิตร ไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์ระดับภูมิภาค ซึ่งรัฐบาลจะยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายการคมนาคมในภูมิภาค เช่น แผนที่จะสร้างสนามบินระดับภูมิภาคแห่งใหม่ในจังหวัดภูเก็ตและเชียงใหม่ พัฒนาสนามบินขนาดเล็ก และสร้างรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมต่อไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และที่อื่นๆ เข้ากับทะเลผ่านประเทศไทย
นอกจากนี้ ไทยยังมีโครงการ Landbridge ซึ่งเป็นโครงการเชื่อมต่อขนาดใหญ่ให้กับนักลงทุนที่มีศักยภาพ ช่วยลดระยะเวลาในการเดินทาง โดยเชื่อมต่อทะเลอันดามันเข้าสู่อ่าวไทย ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังเร่งการเจรจา FTA ตลอดจนยกระดับFTA ที่มีอยู่เดิม ให้สอดคล้องกับกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทาน และการพัฒนาเศรษฐกิจสะอาด
ประการที่สาม การสร้างความเติบโตผ่านเศรษฐกิจดิจิทัล รัฐบาลให้ความสำคัญกับการยกระดับเศรษฐกิจไทยให้เป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่สร้างผลกำไรสูง โดยมีเป้าหมายที่จะเสริมสร้างระบบนิเวศนี้ด้วยนโยบายและมาตรการเชิงนวัตกรรมต่างๆ
โดยนายกฯ ได้หารือร่วมกับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกเพื่อสนับสนุนความต้องการด้านดิจิทัลของไทย ซึ่งมีแนวทางที่จะลงทุนและเป็นพันธมิตรร่วมกัน รวมทั้งในอนาคต ไทยเชื่อมั่นว่าจะได้ร่วมมือกับ USABC และธุรกิจอื่นๆ เพิ่มเติม ซึ่งพร้อมทำงานร่วมกันเพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ความรู้ และทรัพยากรอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการเติบโตของระบบนิเวศดิจิทัล
นายกฯ เน้นย้ำว่าประเทศไทยเปิดกว้างและมีความพร้อมทุกด้าน ในฐานะพันธมิตรที่เชื่อถือได้ โดยเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าเมื่อเกิดความร่วมมือกัน จะสามารถก้าวไปสู่อนาคตที่สดใสของประชาชนทั้งสองประเทศ
ด้านผู้แทนจากบริษัทภาคเอกชนสหรัฐฯ เปิดเผยว่า มีแนวทางที่จะสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง และยินดีที่รัฐบาลจะเร่งขับเคลื่อน FTA และมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลที่จะช่วยสนับสนุนการขยายการค้าการลงทุนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงเห็นพ้องกับความมุ่งมั่นของไทยในการผลักดันการใช้พลังงานทดแทน เศรษฐกิจสีเขียวการสร้างความยั่งยืน
ซึ่งหลายบริษัทแสดงความพร้อมที่จะหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นร่วมกัน ได้แก่
- ด้านคมนาคมและการขนส่ง มีแนวทางที่จะขยายการลงทุนในไทยในระยะยาวและพร้อมต่อยอดมาตรการ EV ของรัฐบาล
- อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ยินดีที่จะส่งเสริมผลผลิตจากเกษตรกรของไทย และผลักดันให้อาหารไทยให้เป็น Food Paradise
- เทคโนโลยีดิจิทัล ยินดีที่จะแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีของสหรัฐฯ มีศักยภาพ โดยเฉพาะเทคโนโลยีคลาวด์และระบบฐานข้อมูลต่างๆ
- ยาและเวชภัณฑ์ ยินดีที่จะหารือถึงแนวทางการจัดหาวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก ซึ่งจะประสานงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขของไทยต่อไป
- ด้านการให้บริการทางการเงิน ยินดีที่จะพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในไทยให้รองรับต่อเทคโนโลยีในอนาคตและการสร้างความมั่นคงทางไซเบอร์ด้วย
ในช่วงท้าย นายกฯ ขอบคุณสำหรับความมุ่งมั่นและการหารือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันที่จะช่วยกำหนดรูปแบบความร่วมมือในอนาคต ซึ่งสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในพันธมิตรทางธุรกิจที่สำคัญ พร้อมเชื่อมั่นว่า ยังมีอะไรอีกมากที่สามารถลงมือและทำได้ร่วมกัน