กางไทม์ไลน์ ‘ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ’ ‘แรงงาน’รายงานนายกฯชง ครม.12 ธ.ค.นี้
"คารม"เผย "พิพัฒน์" นำไทม์ไลน์การทำงานของกระทรวงแรงงานเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เข้า ครม.ได้ 12 ธ.ค.นี้ หลังเข้าที่ประชุม ไตรภาคี 8 ธ.ค.
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม. ) วันนี้ (21 พ.ย.) ว่าในการประชุม ครม.วันนี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้รายงานให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และที่ประชุมครม. รับทราบความคืบหน้าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ หรือค่าจ้างขั้นต่ำ ของแรงงานทั่วประเทศตามที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการไปโดยมีกรอบระยะเวลาการทำงานดังนี้
คาดว่าจะสรุปรายละเอียดเข้ามาเสนอให้ที่ประชุมครม. ภายในวันที่ 12 ธันวาคม 2566 นี้เพื่อให้ทันกับกรอบเวลาการขยับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำช่วงปีใหม่
สำหรับไทม์ไลน์เบื้องต้นของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบใหม่นั้น นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สรุประยะเวลาไว้ดังนี้
- วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 สรุปรายละเอียดอัตราค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานใน 77 จังหวัด
- วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 กระทรวงแรงงาน หารือภายในถึงการพิจารณาอัตราค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานใน 77 จังหวัด
- วันที่ 8 ธันวาคม 2566 นัดประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง หรือคณะกรรมการไตรภาคี พิจารณาอัตราค่าแรงขั้นต่ำ รอบใหม่
- วันที่ 12 ธันวาคม 2566 กระทรวงแรงงาน เสนอ ครม. พิจารณาอัตราค่าแรงขั้นต่ำ รอบใหม่
ก่อนหน้านี้ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่าการปรับค่าแรงขั้นต่ำในปีนี้นั้นมีการปรับขึ้นอย่างแน่นอน แต่อาจไม่ใช่ 400 บาททั่วประเทศ เพราะฐานของค่าแรงขั้นต่ำแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน โดยจะพิจารณาบนพื้นฐานของข้อมูลใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน อัตราเงินเฟ้อ
ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างรอข้อมูลของแต่ละจังหวัด เพื่อประชุมหารือที่กระทรวงแรงงานในวันที่ 17 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ จากนั้นจึงจะเป็นการหารือของคณะกรรมการค่าจ้างในรูปแบบไตรภาคี ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกินกลางเดือนธันวาคมนี้ ทั้งนี้ ต้องสอบถามไปยังธนาคารแห่งประเทศและสภาพัฒน์ฯ ด้วยว่าอัตราเงินเฟ้อในประเทศไทยปี 2566 คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ เพื่อเอามาคำนวณได้
“เรายังยืนยันว่า จะมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแน่นอน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในภาพรวมเริ่มมีการฟื้นตัว ทั้งนี้ ต้องระวังในเรื่องของอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ส่งผลให้ต้นทุนและราคาวัตถุดิบสูงขึ้น โดยอาจไม่ใช่ตัวเลข 400 บาททั่วประเทศเนื่องจากฐานค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ จะเป็นไปตามกฎหมายแรงงานในมาตรา 87 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน
โดยคำนึงถึงความจำเป็นในการครองชีพของลูกจ้าง ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง และสภาพเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวม และการเจรจาหารือกันในระบบไตรภาคีด้วย ซึ่งการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ นั้น ได้มีการใช้สูตรการคำนวณประกอบการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทยตั้งแต่ปี 2560 ส่งผลให้ตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำของแต่ละจังหวัดมีอัตราที่ไม่เท่ากัน เนื่องจากแต่ละจังหวัดมีสภาพเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน”