'ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ' นายจ้างไม่ไหว! รอภาพรวมศก.ฟื้นตัวค่อยขึ้น
รมว.แรงงาน ยืนยันปรับค่าแรงขั้นต่ำในปีนี้อย่างแน่นอน แต่อาจไม่ใช่ 400 บาททั่วประเทศ เตรียมหารือ17 พ.ย.นี้ขณะที่รองประธาน อีคอนไทย หวั่นนายจ้างไม่ไหว แนะขึ้นพ.ค.ปีหน้า หรือรอให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว หนุนปรับโครงสร้างก่อนปรับเงินเดือนข้าราชการ
Keypoint:
- ปรับแน่! ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท แต่ไม่ทั่วประเทศ ต้องพิจารณาจากบนพื้นฐานของข้อมูลใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน อัตราเงินเฟ้อ
- ตอนนี้ไม่ควรปรับค่าแรงขั้นต่ำ ปรับเงินเดือนข้าราชการ เหตุภาพรวมเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว เงินเฟ้อปี 2566 ไม่เกิน 1% คาดค่าแรงบวกเพิ่มได้ 5-6 % หรือขึ้นได้ประมาณ 17-20 บาทเท่านั้น หาก 400 บาท เท่ากับค่าแรงเพิ่มขึ้น 17% นายจ้างรับไม่ไหว
- เสนอปรับค่าแรงเดือนพ.ค.2567 ส่วนปรับเงินเดือนข้าราชการ ควรปรับให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยก่อน ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ค่อยปรับ
ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ประกาศจะมอบของขวัญปีใหม่ให้แก่แรงงานไทยด้วยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท จากปัจจุบันในกทม.อยู่ที่ 353 บาท ส่วนต่างจังหวัดจะแตกต่างกันไป ซึ่ง ไตรมาส 2/2566 (เม.ย.-มิ.ย.)สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) สำรวจสถานการณ์การมีงานทำของคนไทย พบว่ามีจำนวนผู้มีงานทำอยู่ที่ 39.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 6.6 แสนคน
หารือค่าแรงขั้นต่ำ17พ.ย.
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่าจะมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำในปีนี้อย่างแน่นอน แต่อาจไม่ใช่ 400 บาททั่วประเทศ เพราะฐานของค่าแรงขั้นต่ำแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน จะพิจารณาบนพื้นฐานของข้อมูลใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน อัตราเงินเฟ้อ โดยจะมีการประชุมหารือที่กระทรวงแรงงานในวันที่ 17 พ.ย.เพื่อนำข้อมูลไปหารือในคณะกรรมการค่าจ้างในรูปแบบไตรภาคี คาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกินกลางเดือนธันวาคม รวมทั้งสอบถามอัตราเงินเฟ้อปี 2566 จากธนาคารแห่งประเทศและสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อนำมาคำนวณประกอบ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททำได้จริง! แต่เบื้องต้นไม่ทั่วประเทศ
เผยค่าแรงไทย10 ปีย้อนหลัง
“ยืนยันว่าจะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างแน่นอน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในภาพรวมเริ่มมีการฟื้นตัว เพียงแต่ต้องระวังเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ส่งผลให้ต้นทุนและราคาวัตถุดิบสูงขึ้น โดยอาจไม่ใช่ตัวเลข 400 บาททั่วประเทศเนื่องจากฐานค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน”รมว.แรงงาน กล่าว
ทั้งนี้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ จะเป็นไปตามกฎหมายแรงงานในมาตรา 87 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน โดยคำนึงถึงความจำเป็นในการครองชีพของลูกจ้าง ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง สภาพเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวม และการเจรจาหารือกันในระบบไตรภาคีด้วย ซึ่งการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
สถิติย้อนหลัง 10 ปี ตั้งแต่ปี 2554 – 2565 พบว่ากระทรวงแรงงานปรับค่าแรงขั้นต่ำ ดังนี้
- ปี 2556 ทุกจังหวัดมีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่วันละ 300 บาท
- ปี 2560 จังหวัดที่มีค่าแรงขั้นต่ำสูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ภูเก็ต สมุทรปราการ และสมุทรสาคร มีค่าแรงอยู่ที่วันละ 310 บาท จังหวัดที่มีค่าแรงขั้นต่ำน้อยที่สุดคือ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี ยะลา ระนอง และสิงห์บุรี มีค่าแรงอยู่ที่วันละ 300 บาท
- ปี 2561 จังหวัดที่มีค่าแรงขั้นต่ำสูงสุด คือ ชลบุรี ภูเก็ต และระยอง มีค่าแรงอยู่ที่วันละ 330 บาทจังหวัดที่มีค่าแรงขั้นต่ำน้อยที่สุดคือ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา มีค่าแรงอยู่ที่วันละ 308 บาท
- ปี 2563 จังหวัดที่มีค่าแรงขั้นต่ำสูงสุด คือ ชลบุรี และภูเก็ต มีค่าแรงอยู่ที่วันละ 336 บาท จังหวัดที่มีค่าแรงขั้นต่ำน้อยที่สุดคือ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา มีค่าแรงอยู่ที่วันละ 313 บาท
- ปี 2565 จังหวัดที่มีค่าแรงขั้นต่ำสูงสุด คือ ชลบุรี ระยอง และภูเก็ต มีค่าแรงอยู่ที่วันละ 354 บาท จังหวัดที่มีค่าแรงขั้นต่ำน้อยที่สุดคือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส น่าน และอุดรธานี มีค่าแรงอยู่ที่วันละ 328 บาท
คาดขึ้นค่าแรงเดือนพ.ค.67
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย)กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรง ควรทยอยปรับขึ้น และควรประกาศว่าแต่ละปีจะปรับขั้นอัตราเท่าใด เพราะการจะขึ้นค่าแรง ไม่สามารถทำได้ทันที เนื่องจากต้องมองสถานการณ์ประกอบการด้วย และควรจะหารือกับไตรภาคีทั้งหมดด้วย
“การประชุมคณะกรรมการไตรภาคี ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ผลออกมาว่าจะใช้เงินเฟ้อย้อนหลัง 3 ปี (2564-2566) เพื่อเฉลี่ยคำนวณเป็นตัวเงินขึ้นค่าแรง ซึ่งปี 2566 เงินเฟ้อ ต่ำลงจากปี 2565 ส่งผลให้เงินเฟ้อปี 2566 ไม่เกิน 1% คาดค่าแรงบวกเพิ่มได้ 5-6 % ขึ้นได้ประมาณ 17-20 บาท แต่หากขึ้น 400 บาท เท่ากับ 17 % ซึ่งหากเพิ่มค่าแรงดังกล่าว นายจ้างจะไม่ไหว ดังนั้น การขึ้นค่าแรงควรขึ้นในเดือนพฤษภาคมปีหน้า”นายธนิต กล่าว
ขึ้นเงินเดือนควบคู่ลดขนาดองค์กร
นายธนิต กล่าวด้วยว่ารัฐบาลควรมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และการขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ซึ่งหากจะปรับขึ้นค่าแรงต้องมองหากรอบที่เหมาะสม เพราะไม่เช่นนั้นจะกระทบต่อผู้ประกอบการที่ปรับตัวไม่ทัน และอาจต้องปิดกิจการ ส่วนการปรับเงินเดือนข้าราชการ ส่วนตัวมองว่าควรปรับขึ้น เนื่องจากไม่ได้ขึ้นมานานหลายปี
“ปัจจุบันมีข้าราชการอยู่ประมาณ 1,700,000 คน และมีบุคลากรของรัฐอีกประมาณ 1,230,000 กว่าคน รวมเป็นกว่า 3 ล้านคน ซึ่งรัฐบาลต้องมีความชัดเจนว่าจะขึ้นเงินเดือนเฉพาะในส่วนของข้าราชการ หรือ รวมบุคลากรของรัฐ ซึ่งรวมถึงรัฐวิสาหกิจด้วย และการขึ้นจะนำเงินมากจากไหน เพราะปัจจุบันงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ใช้ในส่วนนี้ก็ประมาณกว่า 700,000 ล้านบาทแล้ว หากขึ้นมา 10 % ก็คิดเป็นเงิน 70,000 กว่าล้านบาท” นายธนิต กล่าว
อย่างไรก็ตาม การขึ้นเงินเดือนข้าราชการควรทำควบคู่กับการลดขนาดขององค์กรร่วมด้วย เนื่องจากปัจจุบันมีจำนวนข้าราชการอยู่จำนวนมาก และ การขึ้นเงินเดือนข้าราชการอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะทำให้การจับจ่ายใช้สอยในประเทศสูงขึ้น ควรต้องเพิ่มการขึ้นเงินเดือนภาคเอกชนด้วย เพื่อทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
รอเศรษฐกิจฟื้นค่อยขึ้นเงินเดือน
รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง กล่าวว่าเห็นด้วยที่จะมีการปรับเงินเดือนให้กับข้าราชการ แต่ตอนนี้ภาวะฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังไม่ดี สถานการณ์โดยรวมจึงยังไม่เหมาะสม เพราะจะเป็นการเพิ่มภาระด้านงบประมาณด้านการคลังให้แก่ประเทศ
อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท หรือการปรับเงินเดือนข้าราชการ รัฐบาลควรจะรอไปอีกสักระยะ ไม่ควรทำตอนนี้ ควรรอให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างชัดเจน แต่หากจะเดินหน้าอาจพิจารณาปรับขึ้นเงินเดือนในส่วนของข้าราชการชั้นผู้น้อย หรือเพิ่มเงินเดือนให้ผู้น้อยมากกว่าข้าราชการขั้นกลาง หรือชั้นผู้ใหญ่ เพื่อช่วยลดภาระด้านการคลังได้
แนะขึ้นเงินเดือนขรก.ชั้นผู้น้อยก่อน
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท มองในแง่บวกอาจะทำให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น และไม่ทำให้เกิดปัญหาเรื่องต้นทุนที่สูงเกินไป แต่ถ้าปรับขึ้นมากกว่านี้จะกระทบกับธุรกิจขนาดเล็ก SMEs ที่ใช้แรงงานเข้มข้น ตอนนี้ระดับค่าแรงขั้นต่ำสูงสุดคือ 354 บาท ที่ระยอง ภูเก็ต ชลบุรี ส่วนเป้าหมายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปถึงระดับ 600 บาท ในปี 2570 มีความเป็นไปได้หากรัฐบาลสามารถทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้เฉลี่ยปีละ 4-5 %
ส่วน การปรับเงินเดือนข้าราชการ ควรดำเนินการใน 2 ระยะ คือ ระยะแรกต้องปรับให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยก่อน เนื่องจากเงินเดือนไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ รวมทั้งพนักงานข้าราชการที่เป็นลูกจ้างจากนั้นระยะที่สองค่อยปรับขึ้นในส่วนข้าราชการระดับกลางหรือผู้บริหารระดับสูง