IMF เตือน ‘ยุโรปตะวันออก’ ขึ้นค่าแรงเฉียด 20% จ่อทำศักยภาพการแข่งขันตกต่ำ
ประเทศในแถบยุโรปตะวันออก เช่น ฮังการี ขึ้นค่าแรงต่อปีสูงเฉียด 20% แม้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกโรงเตือนส่อลดทอนศักยภาพในการแข่งขันของภูมิภาคในระยะยาว
สำนักข่าวไฟแนนเชียล ไทม์ส (Financial Times) รายงานคำเตือนของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ว่า การปรับขึ้นค่าแรงอย่างรวดเร็วในภูมิภาคยุโรปกลาง และยุโรปตะวันออกมีความเสี่ยงลดทอนความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาคในระยะยาว
โดย IMF ระบุเพิ่มเติมว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ค่าแรงในภูมิภาคดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดด้วยเลขสองหลัก ทว่าประสิทธิภาพในการทำงาน (Productivity) กลับลดลงสวนทางกับค่าแรง
ขณะที่ อัลเฟรด คัมเมอร์ (Alfred Kammer) หัวหน้าแผนกยุโรปของ IMF กล่าวว่า
แนวโน้มค่าแรงที่เพิ่มขึ้นอาจสร้างปัญหาด้านความสามารถในการแข่งขัน สำหรับภูมิภาคที่ได้รับประโยชน์จากบริษัทในยุโรปตะวันตกที่ย้ายฐานการผลิตไปที่นั่น
ในขณะที่การขึ้นค่าจ้างให้สูงขึ้นถือเป็นบรรทัดฐานในภูมิภาคดังกล่าวมาอย่างยาวนาน แต่ศักยภาพในการทำงานและการเพิ่มพูนตัวเลขทางเศรษฐกิจในช่วงไม่กี่ปีมานี้กลับอยู่ในทิศทางกลับกัน
ทั้งนี้ ในไตรมาสที่สองค่าจ้างในภูมิภาคดังกล่าวเพิ่มขึ้นในอัตราเลขสองหลักต่อปีบริเวณพื้นที่ส่วนใหญ่ของยุโรปกลาง และตะวันออกเช่น 16.9% ในฮังการี หรือ 9.9% ในสโลวาเกีย
โดยภูมิภาคนี้อยู่ในอันดับต้นๆ ของตารางสหภาพยุโรป (EU) ในเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้าง และแซงหน้ากลุ่มประเทศส่วนใหญ่ที่รายได้เพิ่มเพียง 4.5% ต่อปี โดยเฉลี่ย อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อในพื้นที่ส่วนใหญ่ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของสหภาพยุโรปอย่างเห็นได้ชัด
นอกจากนี้ IMF คาดว่า ค่าจ้างจะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 11% ในปี 2566 และชะลอตัวลงเป็น 7% ในปีหน้า และ 6% ในปี 2568
ด้านบทวิเคราะห์ของไฟแนนเชียล ไทม์ส ระบุว่า รายงานดังกล่าวคาดว่าจะทำให้ IMF ขัดแย้งกับรัฐบาลยุโรปตะวันออก ซึ่งตั้งเป้ามานานแล้วว่าค่าจ้างที่สูงขึ้นจะเป็นหนึ่งในผลประโยชน์ส่วนใหญ่ของการเป็นสมาชิก EU
อ้างอิง
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์