“ศุภชัย”แนะใช้เงินให้ถูกที่ลงทุนให้ถูกทางดันเศรษฐกิจไทยโตเต็มศักยภาพ
หากเปรียบเทียบเศรษฐกิจไทยเหมือนเครื่องบินลำใหญ่ที่มี 4 เครื่องยนต์ จะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีความปลอดภัยจากระบบการเงินที่มั่นคง เงินทุนสำรองสูง แต่เงินเฟ้อไม่สูงมากนัก รวมถึงอัตราการว่างงานก็ไม่สูงด้วย
ดังนั้น เศรษฐกิจไทยควรที่จะขยายตัวในระดับ 5% ได้อย่างต่อเนื่อง แต่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ยประมาณ 3% แสดงให้เห็นว่าเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจยังทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ
ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) และอดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ให้สัมภาษณ์ว่า ในอนาคตเรื่องของ“ความชัดเจน”จากภาครัฐจะเป็นตัวกำหนดทิศทางเศรษฐกิจที่จะส่งไปถึงเอกชนซึ่งเป็นผู้คุมเครื่องยนต์เศรษฐกิจต่างๆอย่างแท้จริง
"ถ้ารัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจน การลงทุนจะตอบสนองต่อความต้องการประเทศได้ดี โดยมีเอกชนทำหน้าที่ตอบสนองนโยบายนั้นๆ ถ้าทั้งสองขาทั้งเอกชนและรัฐบาลเดินไปด้วยกันก็เศรษฐกิจจะเติบโตได้อย่างเต็มที่"
อย่างไรก็ตาม บทบาทของรัฐบาล ต้องแก้สิ่งที่ยังเป็นปัญหาคือ เรื่องสาธารณูปโภค ที่ต้องลงทุนอย่างต่อเนื่องไม่ให้ขาดหายไป แต่สถานการณ์ไทยขณะนี้พบว่า สัดส่วนการลงทุนภาครัฐ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยช่วงวิกฤติเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ไทยมีสัดส่วนการลงทุนภาครัฐอยู่ที่ 30-35% ซึ่งจีดีพีช่วงนั้นเฉลี่ยขยายตัวที่ 7-9% แต่มาในช่วงหลังๆ การลงทุนของรัฐบาลลดลงอย่างต่อเนื่อง มาอยู่ที่ 20% และ 15% ตามลำดับ ซึ่งเป็นเหมือนการขาดพลังงานที่จะไปหล่อเลี้ยงการเคลื่อนตัวของเศรษฐกิจประเทศ
การลงทุนจะมีผลตอบแทนเป็นรายได้ประชาชาติ ดังนั้นเมื่อการลงทุนหดตัวลงก็จะเป็นผลตีกลับมาทำให้รายได้ประชาชาติลดลงด้วย เมื่อรวมกับตลาดแรงงานอายุน้อยของไทยเทียบกับอินโดนีเซียและเวียดนามที่ีมีอยู่น้อยกว่า ยิ่งทำให้การลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ค่อยๆหายตามทิศทางการเข้าสู่สังคมสูงวัย ปัจจัยเหล่านี้ ยิ่งทำให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนไม่เต็มศักยภาพ
อย่างไรก็ตาม การลงทุนที่ว่านี่้ ไม่ต้องเพิ่มโครงการใหม่ เพราะไทยมีโครงการมากอยู่แล้วมากกว่า 1,000 โครงการ เพียงแต่ต้องเลือกลงทุนในโครงการให้ถูกเพื่อตอบโจทย์ระยะยาว ไม่เช่นนั้นจะไม่รู้ว่าจะไปทางไหน อีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศจะไปทางไหน ก็จะได้ตอบว่า "ไม่รู้"
ดังนั้น ภาครัฐและเอกชนจะต้องทำงานร่วมกัน ต้องกำหนดทิศทางการลงทุนให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกที่กำลังจะเปลี่ยนไป ต้องทำให้แรงงานมีประสิทธิภาพตามเศรษฐกิจดิจิทัลให้ได้ เช่น รู้จักการนำAI มาใช้ ซึ่งต้องมีแผลการลงทุนด้านบุคลากรให้ชัดเจนและต้องไม่ทำผิดพลาดเพราะไม่ได้เตรียมตัวไว้ล่วงหน้า แต่แผนยุทธศาสตร์ที่ว่านี้ต้องสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอด ให้ยืดหยุ่นแต่มีภูมิคุ้มกันสิ่งท้าทายใหม่ๆเป็นการพัฒนาในระยะยาว
ศุภชัย กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจไทยถือว่าเติบโตดีพอสมควรในระดับกลางๆ ไม่ได้ด้อยไปกว่าประเทศอื่นเลย แต่ควรจะเติบโตได้มากกว่านี้ แต่สิ่งที่เป็นตัวกีดขวางหรือเป็นจุดอ่อนของเศรษฐกิจไทยที่สำคัญคือ 1. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่แม้จะลงเงินไปในระบบการศึกษามากแต่ไม่ประสบผลสำเร็จสักที
2. ความสามารถในการขับเคลื่อนทางด้านการลงทุนเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง ซึ่งคำขอในการลงทุนเพิ่มขึ้นทุกปีแต่การลงทุนในความเป็นจริงนั้นยังไม่เพิ่มขึ้นหรืออาจจะเพิ่มบ้างบางพื้นที่ ขณะเดียวกันโครงการลงทุนต่างๆไม่คืบหน้า เช่น กรณี EEC เพราะมีปัญหามากมายเช่นการเวนคืนพื้นที่ โครงการไม่ประสานกันจนการประมูลล่าช้า
3. ความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองและชนบท ประเทศไทยมีความต่างระหว่างคนรวยและคนจนมากถึง 20 เท่า ในแผนยุทธศาสตร์ชาตินั้นกำหนดลดความเหลื่อมล้ำให้ได้ 10-15 เท่า ด้วยการสร้างสังคมใหม่ที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือหารายได้ หรือ สร้างรายได้ใหม่ๆ "
ศุภชัย กล่าวถึงสภาวะที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญอยู่ว่า ด้านรายจ่ายคนไทย พบว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่ให้กู้เงินง่าย ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนสูงถึง 90%ต่อจีดีพี สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือลดความอยากและหันมากระตุ้นการออมให้มากขึ้น ตามหลักการในเศรษฐกิจพอเพียงคือพอประมาณอย่างมีเหตุมีผลและมีภูมิคุ้มกัน
"การที่รัฐกระตุ้นความอยากแต่เพียงอย่างเดียวเพื่อให้เศรษฐกิจโตขึ้น สามารถทำชั่วคราวเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจทรุดตัว ขณะที่เรื่องของหนี้สาธารณะเห็นว่าไม่ใช่เป็นเรื่องที่น่ากังวลตราบใดที่ภาวะเศรษฐกิจดีหนี้สาธารณะก็จะลดลง เช่น หนี้สาธารณะที่ 60% ต่อจีดีพี แต่ถ้าเศรษฐกิจโต 4-5% สัดส่วนหนี้ก็จะลดลงเอง แต่ยอมรับว่าเงินที่กู้มามีสัดส่วนในการแจกเงินค่อนข้างมากอยากให้รัฐบาลบริหารสัดส่วนในการแจกเงินใหม่โดยให้ลดลงบ้าง เพื่อให้ความอยากลดลง ให้เศรษฐกิจอยู่บนพื้นฐานพอประมาณ โควิดหมดไปแล้วก็ควรปรับตัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลง"
ดังนั้น การกู้เงินเพื่อมาลงทุนไม่ใช่เรื่องที่ผิด ในทางตรงกันข้ามสามารถทำได้แต่เราต้องรู้จักที่จะใช้เงินให้เป็น และลงทุนอย่างถูกที่ถูกทางเพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เต็มศักยภาพ