พาณิชย์-ดีอีเอส ท็อปรับเพิ่มงบปี67 “จุลพันธ์” ยังไม่ส่งกฤษฎีกากม.กู้เงิน
ส่องงบประมาณ 67 พาณิชย์ได้เพิ่ม 50% รองลงมาดีอีเอสเพิ่ม 30.8% และต่างประเทศ ต่างประเทศเพิ่ม 19.2% ส่วนมหาดไทย ศึกษาธิการ กลาโหม รั้งมูลค่า พร้อมตั้งใช้หนี้เพิ่ม 1.18 แสนล้าน เพิ่ม 100% "จุลพันธ์” เผยยังไม่ส่งพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านให้กฤษฎีกา
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2566เห็นชอบรายละเอียดงบประมาณปี 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ ทั้งนี้ในส่วนของงบประมาณปี 2567 มีหลายกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา รวมถึงการจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้คืนหนี้เงินกู้
โดยกระทรวงที่ได้รับงบประมาณสูงสุด 3 อันดับแรก คือ มหาดไทย 3.531 แสนล้านบาท และได้รับเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อน 8.57% รองลงมาคือกระทรวงศึกษาธิการ 3.283 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.31% และกระทรวงการคลัง 3.271 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.73%
อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์ถึงกระทรวงที่ได้งบประมาณเพิ่มขึ้นในสัดส่วนสูงสุด 3 อันดับแรกได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ 6,822 ล้านบาท เพิ่มจากปีงบประมาณก่อน 378.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50.88% รองลงมากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) 8,827.8 ล้านบาท เพิ่มจากปีงบประมาณก่อน 2,041 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.08% และกระทรวงการต่างประเทศ 9,009.8 ล้านบาท เพิ่มจากปีงบประมาณก่อน 1,453.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.23%
นอกจากนี้ ยังมีการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมในส่วนที่น่าสนใจเช่น การจัดสรรให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัด2.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.57 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7.33% หน่วยงานของศาล และองค์กรอิสระ 2.49 หมื่นล้านบาทเพิ่มขึ้น 1.78 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7.68% องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นวงเงิน 1.01 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.47 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 17.11% และกำหนดรายได้เงินชดเชยเงินคงคลัง 1.18 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 100% ส่วนงบกลางฯ (11 รายการ) รวม 6.03 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น1.27 หมื่นล้านเพิ่มขึ้น 2.1%
สำหรับกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีวงเงินรวม 3.48 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2566 ซึ่งมีวงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท จำนวน 295,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9.3% แยกเป็น 1.รายจ่ายประจำ 2.535 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 72.85% ต่องบประมาณ 2.รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 118,361 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.40% ต่องบประมาณ 3.รายจ่ายลงทุน 715,381 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 20.56% ต่องบประมาณ 4.รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 118,320 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.40% ต่องบประมาณ
ส่วนวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล กำหนดไว้ที่ 693,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.63% ต่อวงเงินงบประมาณรวม หรือลดลงจากปีงบประมาณ 2566 ซึ่งมีวงเงิน 695,000 ล้านบาท จำนวน 2,000 ล้านบาท หรือลดลง 0.3% ขณะที่ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิ ประเมินไว้อยู่ที่ 2.787 ล้านบาท
“จากนี้ไปสำนักงบประมาณพิจารณาการปรับปรุงรายละเอียดก่อนเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ก่อนสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นำร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป”
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่ากระทรวงการคลังยังไม่ได้ส่งรายละเอียดใดๆเกี่ยวกับการ
ออกพ.ร.บ.กู้เงิน5 แสนล้านบาทที่จะนำมาใช้ในโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต1 หมื่นบาทให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแต่อย่างใดเนื่องจาก ต้องปรับแก้และเพิ่มเติมข้อมูลสถานการณ์เศรษฐกิจไตรมาส3ปี66ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ได้แถลงข่าวไปเมื่อวันที่20พ.ย.2566ที่ผ่านมาโดยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)ขยายตัวเพียง1.5%เท่านั้น
“กระทรวงการคลังยังไม่ได้จัดทำร่างพ.ร.บ.กู้เงิน5 แสนล้านบาทแต่อย่างใดส่วนจะแล้วเสร็จเพื่อส่งสำนักงานกฤษฎีกาพิจารณาตีความได้เมื่อใดนั้นขณะนี้ ยังให้คำตอบไม่ได้เนื่องจากต้องรอให้ข้อมูลครบถ้วนก่อนคาดว่าไม่เกินสิ้นปีนี้อย่างแน่นอน”