คาดยอดส่งออก 'อาหาร' พุ่ง 1.5 ล้านล้านบาท

คาดยอดส่งออก 'อาหาร' พุ่ง 1.5 ล้านล้านบาท

3 องค์กรเศรษฐกิจด้านธุรกิจเกษตรและอาหาร เปิดตัวเลขส่งออกสินค้าอาหารไทยในช่วง 9 เดือนแรก ของปีนี้ การส่งออกอาหาร เติบโตขึ้น ทำรายได้เข้าประเทศได้ถึง 1.16 ล้านล้านบาท ส่วนแนวโน้มในปีหน้า คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทยแห่งประเทศไทย  และสถาบันอาหาร  ร่วมแถลงตัวเลขการส่งออกสินค้าอาหารไทยในช่วง 9 เดือนแรก ของปีนี้  พบว่ามีมูลค่า 1.16 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6  มีปัจจัยสนับสนุนจากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น ทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรอาหารในหลายภูมิภาคลดลง จึงมีความต้องการสินค้าอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียนและเอเชียใต้ 

ส่วนประเทศไทย แม้ผลผลิตการเกษตรจะลดลงหลายรายการ แต่สินค้าส่งออกยังได้รับประโยชน์จากความต้องการและราคาตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น จากปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทำให้เกิดภัยแล้ง โดยเฉพาะข้าวและน้ำตาลทราย  

สำหรับสินค้าหลักที่มีมูลค่าส่งออกขยายตัวสูงสุด คือ ผลไม้สด ข้าว และน้ำตาลทราย 

ส่วนมันสำปะหลัง สับปะรด ปลาทูน่า เป็นกลุ่มสินค้าส่งออกที่ลดลง จากผลกระทบด้านภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก คือสหรัฐ ยุโรป จีน ญี่ปุ่น ชะลอตัว  และปัญหาวัตถุดิบการเกษตรที่มีผลผลิตลดลงและต้นทุนสูงขึ้น

ทั้งนี้แนวโน้มไตรมาสสุดท้ายของปี  คาดว่าจะฟื้นตัวจากไตรมาสก่อน ซึ่งจะทำให้ทั้งปี 2566 การส่งออกอาหารไทยจะมีมูลค่าอยู่ที่ 1.55 ล้านล้านบาท  คือ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 

ส่วนแนวโน้มส่งออกสินค้าอาหารไทยในปีหน้า คาดว่าอุตสาหกรรมอาหารไทย จะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5  ทั้งการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ และการผลิตที่เน้นการส่งออก  ตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ โดยคาดว่าการส่งออกอาหารไทยในปี 2567 จะมีมูลค่า 1.65 ล้านล้านบาท 

โดยในปี 2567 เงินบาทคาดว่าจะมีค่าเฉลี่ย 35.00  บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ใกล้เคียงกับปี 2566 ตามการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ซึ่งเป็นระดับที่จะเอื้ออำนวยต่อการส่งออกสินค้าอาหารไทย

ขณะที่ ภาพรวมส่วนแบ่งตลาดอาหารโลก ในปี 2566 ไทยมีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.47 จากร้อยละ 2.25 ในปีก่อน ขณะที่ประเทศจีนและเวียดนาม มีส่วนแบ่งตลาดอาหารโลกเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับไทย  
 
โดยไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 12 ของโลก ปรับตัวดีขึ้น 3 อันดับ จากปีที่แล้ว ส่วนสหรัฐอเมริกา บราซิล และเนเธอร์แลนด์ ยังคงเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 1 ถึง 3 ของโลกตามลำดับเช่นเดียวกับปีก่อน ขณะที่จีน ขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 4 ของโลก