ค่ายรถญี่ปุ่นตบเท้าพบ ‘เศรษฐา’ ปลื้มนโยบายเปลี่ยนผ่าน ‘รถสันดาป’ สู่ ‘EV’  

ค่ายรถญี่ปุ่นตบเท้าพบ ‘เศรษฐา’  ปลื้มนโยบายเปลี่ยนผ่าน ‘รถสันดาป’ สู่ ‘EV’  

ค่ายรถญี่ปุ่นทั้งโตโยต้า - ฮอนด้า ขานรับนโยบายไทยเปลี่ยนผ่านรถยนต์สันดาปสู่อีวี คลอดแพคเกจเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในวงเงิน 50% ของเงินลงทุนในระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ ตบเท้าพบนายกฯที่ทำเนียบก่อนนายกฯไปญี่ปุ่น

ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก โดยเฉพาะรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปพวงมาลัยขวาซึ่งค่ายรถญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นฐานผลิตรถ และชิ้นส่วนทั้งเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศมาเป็นระยะเวลาหลายสิบปี ปัจจุบันไทยมีการผลิตรถยนต์มากถึง 1.9 ล้านคัน เป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียน และอันดับ 10 ของโลก

อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมาจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และเทรนด์การลดมลภาวะสิ่งแวดล้อมทำให้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) มีการเติบโตที่รวดเร็วทั้งในแง่ของผู้ผลิตและผู้ใช้ เฉพาะในประเทศไทยจากมาตรการส่งเสริมที่ผ่านมาทำให้มีค่ายรถยนต์ที่เข้ามาผลิตรถEV มากถึง 13แบรนด์ จาก15บริษัท ทั้งในประเภทรถยนต์นั่งไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ในขณะที่ฝั่งผู้ใช้ ช่วง9เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม–กันยายน2566) มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าใหม่จำนวน50,340คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง7.6เท่า 

การเติบโตที่รวดเร็วของรถ EV ในไทยทำให้ที่ผ่านมามีเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการของค่ายรถยนต์ที่ยังผลิตและจำหน่ายรถเครื่องยนต์สันดาปแบบเดิมโดยเฉพาะค่ายรถญี่ปุ่นที่ต้องการเวลาและมาตรการที่เหมาะสมในการเปลี่ยนผ่านจากการผลิตรถแบบเดิมไปสู่เทคโนโลยีใหม่ ขณะเดียวกันในแวดวงอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ที่เป็นซัพพายเชนของรถยนต์สันดาปก็มีความกังวลว่าจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมรถยนต์หรือไม่

อย่างไรก็ตามนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลังได้ประกาศนโยบายที่จะให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถสันดาปแห่งท้ายๆของโลก และพร้อมมีมาตรการสนับสนุนการลงทุนต่อเนื่องของค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นโดยสั่งให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จัดทำมาตรการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีของค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นเพื่อนำไปเสนอให้กับนักลงทุนในการเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นของนายกรัฐมนตรีและคณะในช่วงกลางเดือน ธ.ค.ที่จะถึงนี้

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการบีโอไอกล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ถือเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในด้านการส่งออก การจ้างงาน และจำนวนผู้ผลิตในซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีจำนวนมากกว่า 2,300 ราย

มาตรการจูงใจลงทุนเปลี่ยนเทคโนโลยียานยนต์

ล่าสุดบอร์ดบีโอไอที่มีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธาน ได้เห็นชอบมาตรการสนับสนุน การลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์นำระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ (Automation and Robotics) มาปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตสำหรับการผลิตรถยนต์ ทั้งแบบสันดาปภายใน ไฮบริด และปลั๊กอินไฮบริด ครอบคลุมทั้งกิจการเดิมและการลงทุนใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นฐานผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่

โดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในวงเงิน 50% ของเงินลงทุนในระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ และในกรณีที่โครงการใช้เครื่องจักรระบบอัตโนมัติในประเทศ ในสัดส่วนไม่น้อยกว่า30% ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในวงเงิน 100% ของเงินลงทุนในระบบดังกล่าว ทั้งนี้ต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในปี 2567

นโยบายตรงใจค่ายรถญี่ปุ่น

โดยมาตรการที่ออกมาบีโอไอได้มีการหารือกับตัวแทนของค่ายรถยนต์ และตัวแทนเอกชนของญี่ปุ่นเช่น องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กรุงเทพฯ เป็นต้นเพื่อให้ได้มาตรการที่ตรงกับความต้องการของนักลงทุนที่จะลงทุนเพิ่มในประเทศไทย

ทั้งนี้หลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้มีการประกาศนโยบายการสนับสนุนรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป และประกาศมาตรการ ยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ สนับสนุนผู้ประกอบการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีสมัยใหม่มีความเคลื่อนไหวจากค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่เข้าพบนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล ดังนี้

ค่ายรถญี่ปุ่นตบเท้าพบ ‘เศรษฐา’  ปลื้มนโยบายเปลี่ยนผ่าน ‘รถสันดาป’ สู่ ‘EV’  

1.บริษัท โตโยต้า เข้าพบนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยนายมาซาฮิโกะ มาเอดะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารภูมิภาคเอเชีย บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น และนายกลินท์ สารสิน ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และคณะผู้บริหาร เข้าพบนายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรียืนยันว่ารัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนการลงทุนในประเทศไทย โดยรัฐบาลตระหนักดีถึงความสำคัญของบริษัทยานยนต์ญี่ปุ่นห่วงโซ่อุปทานของไทย ซึ่งไม่ใช่เพียงบริษัทโตโยต้าเท่านั้น แต่รวมไปถึงทุกบริษัทยานยนต์ญี่ปุ่นรายอื่นๆ

รัฐบาลได้เตรียมความพร้อม ทั้งการเชิญชวนการลงทุนต่าง ๆ การหาแนวทางและมาตรการที่เหมาะสม เพื่อรองรับความต้องการของผู้ประกอบการ โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าจะมีการหารือ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ร่วมกันในอนาคตให้ครอบคลุม ทั้งปัจจัยภายใน คือ การปรับปรุงโครงสร้าง (Internal structure) และปัจจัยภายนอก คือ การเพิ่มมาตรการหรือแรงจูงใจ (Incentive) ร่วมกัน โดยในเดือนธันวาคม 2566 นี้นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการที่จะเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นจะนำเอามาตรการนี้ไปประชาสัมพันธ์ให้นักลงทุนญี่ปุ่นทราบ

ขณะที่ผู้บริหารของบริษัทโตโยต้า กล่าวว่าบริษัทเล็งเห็นถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจและการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ในไทยที่มีความแข็งแกร่ง โดยเฉพาะกลุ่มรถกระบะและ Eco-Car ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ซึ่งไทยมีความสามารถในการแข่งขันระดับโลก

ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยจึงกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตและการส่งออกไปทั่วโลกโดยยืนยันว่าจะร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน ควบคู่กับการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมไปถึงแนวทางการผลิตยานยนต์ทั้งประเภทรถยนต์สันดาป (ICE) ไปจนถึงรถยนต์ไฟฟ้า ทั้ง HEV, PHEV, BEV และ FCEV เพื่อรักษาห่วงโซ่อุปทานและภาคการส่งออกอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทย

ค่ายรถญี่ปุ่นตบเท้าพบ ‘เศรษฐา’  ปลื้มนโยบายเปลี่ยนผ่าน ‘รถสันดาป’ สู่ ‘EV’  

2.บริษัทฮอนด้า เข้าพบนายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีนายโทชิโอะ คุวาฮาระ (Mr. Toshio Kuwahara) ประธานบริษัท เอเชี่ยน ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด (สำนักงานใหญ่ฮอนด้าประจำภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย) และ นายฮิเดโอะ คาวาซากะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เข้าพบนายกรัฐมนตรี

โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้ได้รับทราบถึงความต้องการที่จะเป็นแนวทางสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคต นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำเสมอว่า ญี่ปุ่นเป็นมิตรประเทศที่สำคัญของไทยอย่างยาวนาน ไม่ใช่เพียงบริษัทใดบริษัทหนึ่งเท่านั้น แต่รวมไปถึงทุกบริษัทของญี่ปุ่นด้วย โดยกว่า 50 ปีที่ผ่านมา บริษัทญี่ปุ่นมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่สนับสนุนประเทศไทยให้สามารถเป็นอยู่ได้อย่างทุกวันนี้ พร้อมเชื่อมั่นว่าไทยจะร่วมงานกับทุกบริษัทในการผลักดันการดำเนินการและพัฒนาการผลิตยานยนต์ และต่อยอดไปในภาคการผลิตอื่น ๆ ซึ่งจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง 

ขณะที่ผู้บริหารของฮอนด้ากล่าวขอบคุณสำหรับความอนุเคราะห์จากรัฐบาลไทยด้วยดีเสมอมา ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของภูมิภาค รวมทั้งยังเป็นฐานการส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของฮอนด้าทั่วโลกด้วย โดยบริษัทแสดงความมุ่งมั่นที่จะสานต่อการดำเนินธุรกิจในไทย และสนับสนุนนโยบายด้านพลังงานสะอาดและมาตรการยานยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาล ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางที่ฮอนด้าให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนควบคู่ไปกับการลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร พร้อมมีแนวทางที่จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตทั้งรถยนต์ไฟฟ้าและรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า BEV ในไทย ซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นในเดือนธันวาคม 2566 นี้ 

รวมทั้งได้หารือร่วมกันในประเด็นด้านมาตรการอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ BOI และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาต่อไป เพื่อกำหนดแนวทางและมาตรการที่เหมาะสม เป็นประโยชน์ร่วมกันและส่งเสริมความร่วมมือในตลอดกระบวนการของ Supply Chain โดยให้ความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลจะทำให้การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ทั้งในช่วงเปลี่ยนการผ่านจากรถสันดาป ไปสู่ภาคอุตสาหกรรม EV อีกทั้งในช่วงเดือนธันวาคม 2566 นี้ นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการที่จะเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่น จึงเชื่อมั่นว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถต่อยอดในประเด็นดังกล่าวเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นให้เกิดผลประโยชน์ที่ครอบคลุมความต้องการของผู้ประกอบการได้