“บพท.” จับมือ “อีอีซี” ใช้ความรู้จากงานวิจัย เสริมการพัฒนา "สมาร์ทซิตี้"

“บพท.” จับมือ “อีอีซี” ใช้ความรู้จากงานวิจัย เสริมการพัฒนา "สมาร์ทซิตี้"

“บพท.” จับมือ “อีอีซี” ใช้ความรู้จากงานวิจัย เสริมการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก รองผอ.บพท.ชี้อีอีซีมีจุดแข็งทั้งกฎหมาย และข้อมูลสามารถทำแซนด์บ็อกด์ต้นแบบได้ บพท.เร่งพัฒนาข้อมูลเมืองอัจฉริยะต้นแบบ 15 พื้นที่ทั่วประเทศ ตามแผนฯพัฒนาฉบับที่13

ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวถึงบทบาทของ บพท.ในความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ว่า บพท.ได้มีการหารือกับอีอีซีในการใช้ความรู้จากงานวิจัยในการพัฒนาเมืองน่าอยู่และเมืองอัจฉริยะในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศมาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์กับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (smart city) ในพื้นที่อีอีซี ซึ่งในปัจจุบันอีอีซีนั้นมีเป้าหมายในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะทั้งที่เป็นเมืองเก่า และพื้นที่ที่เป็นเมืองใหม่เพื่อรองรับจำนวนประชากร และแรงงานในพื้นที่อีอีซีที่มีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต

 

ทั้งนี้อีอีซีถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีความพิเศษที่จะรองรับการนำเอาความรู้ในงานวิจัยเกี่ยวกับการสร้างเมืองอัจฉริยะมาพัฒนาในพื้นที่เนื่องจากอีอีซีมีจุดแข็ง 3 เรื่องคือ

1.เป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมของเรื่องข้อมูลที่มีการเก็บข้อมูลในหลายระดับทั้งจากหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา รวมทั้งองค์กรภาคประชาชน และภาคประชาสังคมซึ่งหากสามารถนำข้อมูลมารวมกันแล้วประยุกต์ใช้เพื่อให้เห็นข้อมูลในระดับพื้นที่ได้ครบถ้วนมากขึ้นซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะ

2.อีอีซีมี พ.ร.บ.เป็นของตัวเองซึ่งถือว่ามีความได้เปรียบในทางแง่กฎหมาย และกฎหมายของอีอีซีถือว่าเป็นกฎหมายที่ทรงพลัง และมีความทันสมัยมีความเหมาะสมที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะได้ ซึ่งถือว่าเป็นข้อได้เปรียบที่มีความแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆที่อาจติดขัดในเรื่องข้อกฎหมาย และขั้นตอนการขออนุญาตต่างๆ

และ 3.อีอีซีมีพื้นที่ทดลองในระดับนโยบายที่เรียกว่า “แซนด์บอกซ์” ซึ่งแนวความคิดนี้ก็ถือว่าสอดคล้องกับการพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะซึ่งจะต้องมีการทดลองบางเรื่องในพื้นที่ที่มีขอบเขตจำกัดก่อน หากได้ผลจึงนำไปขยายผลในพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งจะทำให้สามารถนำงานวิจัยไปทดลองทดสอบในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นแซนด์บอกซ์ก่อนที่จะขยายออกไปในพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้นได้

“บพท.” จับมือ “อีอีซี” ใช้ความรู้จากงานวิจัย เสริมการพัฒนา \"สมาร์ทซิตี้\"

“บพท.มีประสบการณ์ในการทำเมืองอัจฉริยะมาหลายพื้นที่ ซึ่งเห็นถึงปัญหา อุปสรรคและจุดอ่อนของแต่ละพื้นที่ โดยจุดสำคัญที่ชี้วัดความสำเร็จคือความตื่นตัวของสมาชิกภายในชุมชน ซึ่งเมื่อสะท้อนปัญหาภายในแล้วจะสามารถนำเอาความรู้และงานวิจัยเข้าไปแก้ปัญหาได้ ซึ่งถือว่าตอบโจทย์เรื่องของความยั่งยืนในการพัฒนาเมือง และตอบสนองต่อปัญหาภายในที่มีความหลากหลายและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของชุมชน ซึ่งบพท.ก็มีการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆในการแก้ไขปัญหาของชุมชน และพัฒนาเมืองต่อเนื่องจนเป็นเมืองอัจฉริยะซึ่งกระบวนการที่สำคัญซึ่งไม่ใช่บทบาทที่นำโดยภาครัฐ”

“บพท.” จับมือ “อีอีซี” ใช้ความรู้จากงานวิจัย เสริมการพัฒนา \"สมาร์ทซิตี้\"

 ทั้งนี้ บพท.ได้มีเป้าหมายในการพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะต้นแบบ 15 พื้นที่ทั่วประเทศ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างยกระดับข้อมูล การให้ทุนวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่จะยกระดับเมืองเข้าสู่การเป็นเมืองน่าอยู่และชาญฉลาด โดยจังหวัดและพื้นที่ตัวอย่างเช่น จ.ระยองที่มีโจทย์เรื่องของการยกระดับเมืองน่าอยู่ที่ปรับตัวได้ บนฐานข้อมูลเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน

นอกจากนี้ บพท.อยู่ระหว่างการพัฒนาข้อมูลการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่และเมืองอัจฉริยะ (Livable&Smart City) บนฐานงานวิจัยและนวัตกรรม จะเป็นรากฐานที่มั่นคงในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ครอบคลุมทั้ง 7 มิติ คือ มิติด้านการจัดการพลังงานที่ดี (Smart Energy) มิติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี (Smart Environment) มิติด้านการจัดการระบบการขนส่งคมนาคมที่ดี (Smart Mobility) มิติด้านการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ (Smart Economic) มิติด้านการพัฒนาทักษะความรู้ตลอดจนการมีส่วนร่วมของพลเมือง (Smart People) มิติด้านความสะดวกสบายและปลอดภัย (Smart Living) และมิติด้านการบริหารจัดการที่โปร่งใสมีธรรมาภิบาล (Smart Governance) ซึ่งจะส่งผลให้พลเมืองในเมืองอัจฉริยะ มีคุณภาพชีวิตที่ดี และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566-2570)

โดยมีตั้วอย่างของการจัดการเมืองอัจฉริยะในแต่ละพื้นที่ เช่น จ.ฉะเชิงเทรา ที่มุ่งเน้นการเชื่อมโยงระบบข้อมูลเมือง และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อยกระดับความปลอดภัยของเมือง จ.สระบุรี ที่มีการพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการวางผังเมือง เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองน่าอยู่ด้วยฐานข้อมูล และกรุงเทพมหานคร ที่มีการสร้างโมเดลหุ้นส่วนธุรกิจการจัดการขยะบนฐานข้อมูลทางกายภาพและกลไกความร่วมมือของชุมชน เป็นต้น

“บพท.” จับมือ “อีอีซี” ใช้ความรู้จากงานวิจัย เสริมการพัฒนา \"สมาร์ทซิตี้\"

ด้านนางธัญรัตน์ อินทร รองเลขาธิการอีอีซี กล่าวว่าการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในพื้นที่อีอีซีเป็นภารกิจสำคัญที่รองรับการเติบโตของพื้นที่อีอีซีในอนาคตซึ่งจะมีการเพิ่มขึ้นของประชากร แรงงาน และนักลงทุนในพื้นที่ 3          จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีคนอยู่ในพื้นที่นี้กว่า 3.5 แสนคน ซึ่งโจทย์การพัฒนาเมืองทั้งเมืองเก่าและเมืองใหม่ให้เป็นเมืองอัจฉริยะจะตอบโจทย์ของประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 8 ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งนโยบายการพัฒนาเมืองคู่ขนานที่พัฒนาควบคู่กับกรุงเทพมหานครเพื่อรองรับการขยายความเจริญสู่ภูมิภาค

ทั้งนี้เป้าหมายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของอีอีซีถือว่ามีเป้าหมายที่ใกล้เคียงกับ บพท.คือเนื่องจากจะเป็นเมืองที่มีความทันสมัย มีเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกเชื่อมต่อคนและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน แล้วยังต้องเป็นเมืองที่น่าอยู่ที่จะรองรับการอยู่อาศัยของกลุ่มคนต่างๆในพื้นที่อีอีซี ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่อีอีซีมุ่งเน้นให้ความสำคัญมากขึ้น

สำหรับโครงการสมาร์ทซิตี้ในอีอีซีเป็นโครงการ เร่งด่วนภายในระยะเวลา 99 วัน ที่สำนักงานอีอีซีจะดำเนินการเมื่อมีรัฐบาลใหม่ สำหรับพื้นที่ใหม่จะเริ่มต้นจากศูนย์ทั้งหมด โดยจะเปิดให้เอกชนเข้ามาพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ตามเป้าหมาย เน้นการลงมือทําจริง เพื่อดึงดูดเงินลงทุนผ่านอุตสาหกรรมเป้าหมาย ใน 5 คลัสเตอร์หลัก คือ การแพทย์ ดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) BCG และบริการ 

ทั้งนี้ตามแผนแม่บทพัฒนาโครงการได้จัดทำผังการใช้ประโยชน์ที่ดินและแบ่งโซนตามกลุ่มธุรกิจหลัก แบ่งออกเป็น 5 ด้าน ประกอบด้วย

1) ศูนย์กลางการเงิน ประกอบด้วยธุรกิจการเงินและตลาดทุน สนับสนุนการลงทุน Fintech และ Green Bond  

2) สำนักงานภูมิภาค RHQ/ศูนย์ราชการ เช่น สำนักงานภูมิภาคของธุรกิจไทยที่มีธุรกิจในอีอีซี และสถานที่ราชการที่สำคัญ 

3) การแพทย์แม่นยำ/การแพทย์อนาคต เพื่อเป็นที่ตั้งของธุรกิจที่เป็นการร่วมทุนกับโรงพยาบาลชั้นนำของโลก ธุรกิจยาและเวชภัณฑ์ อุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัย 

4) การศึกษา วิจัย และพัฒนา เป็นพื้นที่สำหรับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยไทยเพื่อการสนับสนุนธุรกิจเฉพาะด้านการวิจัยพัฒนาเพื่อธุรกิจเฉพาะด้าน 

5) ธุรกิจเฉพาะด้าน เช่น พลังงานสะอาด ธุรกิจ Digitization และ 5G กลุ่มโลจิสติกส์และวิทยาศาสตร์การกีฬา

โดยพื้นที่ใหม่อยู่ในพื้นที่กว่า 10,000 ไร่ เวลานี้กำลังอยู่ในช่วงการออกแบบซึ่งจะใช้เวลาราว 2-3 ปี โดยเฟสแรกมีพื้นที่ 5,000 ไร่ การออกแบบจะรเน้นตอบโจทย์การใช้สอยของกลุ่มธุรกิจที่เข้ามาลงทุน ซึ่งสมาร์ทซิตี้ของอีอีซีเป็นโครงการเมืองใหม่อัจฉริยะ ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2565 อนุมัติให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เข้าใช้ประโยชน์ที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จำนวน 14,619 ไร่  ในท้องที่ ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรีเพื่อดำเนินโครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ 

ซึ่ง มติ กพอ. เห็นชอบให้ สกพอ. ขอรับจัดสรรงบประมาณแผ่นดินในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 15,000 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2567 จำนวน 4,000 ล้านบาท รวม 19,000 ล้านบาท แยกเป็นค่าชดเชยที่ดิน 10,000 ล้านบาทโครงการจ้างที่ปรึกษาออกแบบขั้นรายละเอียดและจัดทำรายละเอียดการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) 1,000 ล้านบาทโครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อสนับสนุนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (PPP) 200 ล้านบาท และโครงการปรับพื้นที่และก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลาง 7,800 ล้านบาท โดยจะพัฒนาระยะแรกประมาณ 5,000 ไร่ โครงการมีที่ตั้งห่างจากท่าอากาศยานอู่ตะเภา 15 กม. และห่างจากกรุงเทพฯ 160 กม. มีระยะการพัฒนา 10 ปี ระหว่างปี 2565-2575