‘เศรษฐา’ อุบ ‘แผนสำรอง’ แจกเงินดิจิทัล ย้ำเร่งแก้วิกฤติ ‘เศรษฐกิจไทย’ โตต่ำ
"เศรษฐา" ยัน ออกพ.ร.บ.กู้เงิน5 แสนล้าน ทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เป็นวิธีการที่เหมาะสมและโปร่งใสที่สุด อุบแผนสำรองหากฯไม่ผ่านขั้นตอนทางกฎหมาย ยกตัวเลขจีดีพีโตแค่ 1.5% ชี้เกิดวิกฤติแล้ว โตต่ำกว่าศักยภาพมาก และโตต่ำกว่าาเศรษฐกิจหลายประเทศ
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์พิเศษรายการ “เนชั่นอินไซต์” เกี่ยวกับโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท 50 ล้านคนของรัฐบาลว่า วันนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตจะเดินต่ออย่างไร หากไม่ผ่านขั้นตอนทางกฎหมายได้จะมีแผนสำรองหรือไม่ เรื่องนั้นค่อยว่ากันอีกทีว่าในเรื่องของวิธีการว่ารัฐบาลจะเดินต่อไปอย่างไร หรือในเรื่องของแผนสำรองจะมีหรือไม่
แต่วันนี้สิ่งที่บอกได้คือที่ต้องใช้ พ.ร.บ.การกู้เงินนั้นเนื่องจากเรารับฟังความคิดเห็นทุกฝ่าย โดยในส่วนนี้การออกพ.ร.บ.เงินกู้ฯนั้นต้องขอความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ถ้าผ่านความเห็นกฤษฎีกา ผ่าน ครม.และสภาฯก็ถือว่าในเรื่องนี้มีความชอบธรรมในเรื่องกฎหมาย เนื่องจาก ครม.เป็นตัวแทนของ สส. และ สส.ก็เป็นตัวแทนของประชาชน ถ้าในเรื่องนี้ผ่าน ครม.ได้ก็ถือว่ามีความชอบธรรมแล้วเมื่อเข้าสู่สภาฯก็เป็นขั้นตอนของการดูรายละเอียดปีกย่อยที่ต้องมาดูกัน
ถามว่าระยะเวลานั้นอาจนานแต่เป็นความเนิ่นนานเพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ซึ่งก็ต้องให้ระยะเวลากับขั้นตอนในส่วนนี้ ซึ่งก็มั่นใจเพราะเป็นนโยบายหลักซึ่งมั่นใจว่าจะเดินต่อไปได้ซึ่งรัฐบาลมีการรับฟังและปรับเปลี่ยนนโยบายให้มีความเหมาะสมและรับการตรวจสอบมากที่สุด ซึ่งรัฐบาลทำอยู่
“การปรับนโยบายนี้ทำตามข้อเสนอที่มีข้อเสนอให้ปรับเปลี่ยนจากฝ่ายต่างๆ ที่มีข้อท้วงติงหรือมีข้อแนะนำ ถ้าปรับแล้วบอกว่าไม่ตรงปกนักที่ได้หาเสียงไว้ มันก็เป็นข้อด้อย แต่ถ้าไม่ปรับก็มองว่าเราไม่รับข้อเสนอ ซึ่งก็เหมือนว่ารัฐบาลโดนทั้งขึ้นทั้งร่อง ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นผลบวกเพราะรัฐบาลรับฟังข้อมูลจากทุกภาคส่วนแล้วนำมาปรับเปลี่ยนในการทำงานในเรื่องนี้ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้”
เมื่อถามว่านายกรัฐมนตรีเห็นดัชนีตัวไหนที่เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีปัญหามากจนต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ นายเศรษฐากล่าวว่าในเรื่องนี้รัฐบาลดูตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจที่รัฐบาลเห็นว่าไตรมาสที่ผ่านมาขยายตัวได้เพียง 1.5% และในระยะ 10 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจขยายตัวได้เฉลี่ย 1.8% เท่านั้น ขณะที่มาเลเซียซึ่งเป็นคู่แข่งของประเทศไทยนั้นเศรษฐกิจโตได้ 3.3% ขณะที่หลายประเทศในอาเซียนเติบโตได้มากถึง 3-4% ยังไม่รวมถึงประเทศอื่นๆที่เศรษฐกิจขยายตัวได้สูงกว่าประเทศไทยที่มีการแข่งขันกัน เวียดนามเองก็อยากที่จะดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศเข้าไปในประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ก็เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศให้มีความเป็นอยู่ที่ดี กินดีอยู่ดี และมีศักดิ์ศรีได้กับการเป็นคนไทย ทำให้รัฐบาลต้องดูแลพี่น้องประชาชนให้ดี ซึ่งเรื่องนี้ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยด้วยเช่นกัน
“ถึงเราไม่เทียบกับประเทศอื่นๆ การเติบโตเศรษฐกิจในระดับ 1.5% ก็ถือว่าเศรษฐกิจตกต่ำเกินไปอยู่ดี แล้วยังมีอีกหลายปัญหาที่สั่งสมมานาน ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงจาก 80% ขึ้นมาเป็น 95% ซึ่งสูงเป็นอันดับ 1 ใน 15 ของโลก ซึ่งเราจะไม่มีมาตรการขนาดใหญ่เข้ามากระตุ้นได้อย่างไร แล้วเราบอกว่าเราจะไปแก้ภาคการผลิตเพื่อส่งออก แล้วผมถามว่าเราจะส่งออกไปไหนเพราะวันนี้ก็รู้ว่าต่างประเทศนั้นมีเรื่องของปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นเหมือนกันซึ่งมาตรการแบบนี้ต้องออกมาช่วยเศรษฐกิจภายในประเทศ” นายกรัฐมนตรี กล่าว
ส่วนที่มีข้อคัดค้านโครงการนี้นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าคนเรานั้นมองต่างมุมได้ เพราะต่างคนต่างมองได้ โดยมาตรการอื่นๆนั้นเราก็ต้องทำควบคู่ไปแต่เรื่องของการแจกเงินดิจิทัลนั้นรัฐบาลก็ต้องทำด้วยเพราะเป็นเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบครั้งเดียวเป็นการแจกเงินแบบครั้งเดียว (one time)
ทั้งนี้ยืนยันว่าการทำในเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ 5 แสนล้าน เป็นส่วนหนึ่งในการพลิกโฉมประเทศ ซึ่งในการทำเรื่องเศรษฐกิจส่วนอื่นๆเช่นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การเปิดตลาดใหม่ๆ การทำ FTA ทุกอย่างต้องควบคู่กันไป รวมทั้งการแก้ปัญหาหนี้ในระบบ และนอกระบบ รวมทั้งการแก้ปัญหายาเสพติด
“วันนี้ไม่มีปัจจัยหนึ่งปัจจัยเดียว มีหลายๆปัจจัย ที่รัฐบาลต้องทำแล้วต้องดำเนินการจัดการทำให้การทำงานเราต้องทำงานในเชิงกว้างแล้วต้องมาดูว่าเราจะทำอย่างไรบ้าง เช่น ในเรื่องของการเพิ่มรายได้เกษตรกร การเปิดการค้า ขจัดปัญหาหนี้นอกระบบ แก้ปัญหาการพนันออนไลน์ การใช้ 30 บาทรักษาทุกโรคพลัส ยกระดับการรักษาพยาบาลของประชาชน และการติดตามปัญหาส่วย เป็นต้น” นายเศรษฐา กล่าว