‘เศรษฐา’ เปิดใจเคลื่อน ‘แลนด์บริดจ์’ สร้างโอกาสลงทุน – สร้างสมดุลภูมิภาค
"เศรษฐา" เปิดใจเดินหน้าโครงการแลนด์บริดจ์ หวังสร้างโอกาสไทยเป็นฮับการลงทุนในด้านโลจิสติกส์ เช่น การสร้างหัวรถจักรไฟฟ้าเพื่อส่งออกทั่วโลก ชี้ไม่แย่งสายเรือจากสิงคโปร์เพราะการค้าโลกจะขยายตัวมาก ชี้โครงการนี้ช่วยสร้างทั้งโอกาสเศรษฐกิจ และความสมดุลในภูมิภาค
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์พิเศษผ่านรายการ “เนชั่นอินไซด์” กับ "เครือเนชั่น" ตอนหนึ่งได้กล่าวถึง "โครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้" (แลนด์บริดจ์) ว่าโครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่รัฐบาลออกไปโรดโชว์ให้นักลงทุนต่างชาติได้รับทราบว่าประเทศไทยกำลังจะมีการลงทุนโครงการนี้ ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท และได้นำไปหารือกับนักลงทุน และรัฐบาลประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐ จีน และซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น
โดยโครงการนี้ตนเองไม่ได้พึ่งมาคิดตอนที่เป็นนายกรัฐมนตรี แต่คิดมานานแล้วว่าควรจะผลักดันการที่เราลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบราง และรถไฟความเร็วสูง เรื่องของท่าเรือน้ำลึก จะเพิ่มศักยภาพของประเทศไทยได้สูงมาก
ทั้งนี้โอกาสของโครงการนี้สำหรับประเทศไทยมีอีกมาก เนื่องจากปัจจุบันการลงทุนของการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะน้ำมันนั้น 60% ต้องใช้ช่องแคบมะละกาเป็นเส้นทางสัญจร ซึ่งขณะนี้มีความหนาแน่นมาก มีเรือขนส่งสินค้ามาก ต้องใช้เวลามาก และมีอุบัติเหตุ ขณะที่อนาคตการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศจะเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการที่ไทยลงทุนก็ไม่ได้กระทบกับสิงคโปร์เพราะการค้าโลกจะขยายตัวมากขึ้นมีการขนส่งมากขึ้นอยู่แล้ว
หากในอนาคตจะมีบริษัทหนึ่งจากจีนมาผลิตรถหัวจักรไฟฟ้า ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ระดับโลกถามว่าประเทศไทยต้องการหัวรถจักรเท่าไร ซึ่งเราไม่ใช่ประเทศขนาดใหญ่เหมือนสหรัฐ จีน หรือรัสเซียที่จะผลิตหัวรถจักรแล้วขายได้ตลอด แต่ว่าหากอยากให้เขามาตั้งโรงงานผลิตคือ ต้องให้เราสามารถเป็นฮับในการส่งออก
ซึ่งการที่เราลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ จำนวนมาก เราไม่อยากให้ต่างชาติใช้เราเป็นแค่ทางผ่าน เราอยากเป็นฮับในการผลิตซึ่งเราต้องมีระบบการขนส่ง และเชื่อมต่อกับประเทศต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ส่วนการลงทุนโครงการขนาดใหญ่โครงการนี้ส่วนหนึ่งซาอุดีอาระเบียนั้นได้มีการพูดกันชัดเจนในระดับหนึ่งแล้วว่าให้ความสนใจในการจะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมการขนส่งน้ำมัน รวมทั้งในส่วนของโรงกลั่น และท่อส่งน้ำมัน รวมทั้งปิโตรเคมีที่เกี่ยวข้องซึ่งมีความเป็นไปได้สูง
“แลนด์บริดจ์นั้นจะเชื่อมต่อการขนส่ง และช่วยลดความตึงเครียดเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคเพราะหลายประเทศที่เป็นมหาอำนาจสนใจโครงการนี้มาก ที่สำคัญคือ ประเทศไทยเป็นกลาง แล้วเราวางตัวเป็นกลางเรื่องของการค้าระหว่างประเทศ แล้วประเทศขนาดใหญ่นั้นมีความสบายใจที่จะเข้ามาร่วมลงทุนของประเทศไทยในโครงการนี้ ถ้าหากประเทศไทยสามารถทำได้ประเทศไทยก็จะมีจุดยืนในความเป็นกลางที่แข็งแกร่ง และช่วยเชื่อมต่อมหาอำนาจทั้งจีนและสหรัฐในทางการค้าได้ ” นายกรัฐมนตรี กล่าว
สำหรับขั้นตอนการดำเนินการโครงการนี้รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับประเด็นต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับโครงการ ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน สิ่งแวดล้อม และข้อกฎหมายต่างๆ ซึ่งปัจจุบันกำลังศึกษาแล้วจะมีการทำในส่วนต่างๆ อย่างรอบคอบที่สุด โดยภายในรัฐบาลนี้จะเห็นแผนที่ชัดเจน และมีการออกข้อกฎหมายพิเศษเฉพาะมาใช้ในพื้นที่แลนด์บริดจ์ซึ่งจะมีโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่จำนวนมาก โดยไม่ได้มีแค่ท่าเรือเท่านั้น เพราะจะมีเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในพื้นที่เพื่อรองรับการลงทุน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจทางจำนวนมากจะเกิดขึ้นตามมา
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์