เปิดศึก 'แลนด์บริดจ์' รัฐเข็น – ประชาชนค้าน
โครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน หรือ “แลนด์บริดจ์” อีกหนึ่งบิ๊กโปรเจกต์ที่ขณะนี้รัฐบาลกำลังให้ความสำคัญเชิญชวนนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติเข้าร่วม เพื่อผลักดันให้ไทยกลายเป็นจุดศูนย์กลางของการขนส่งทางทะเลของภูมิภาค
ล่าสุดนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงคมนาคม ใช้โอกาสการเดินทางเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีความร่วมมือเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (เอเปค) ครั้งที่ 34 นครซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา จัดเวทีนำเสนอโครงการ “Thailand Landbridge Roadshow” พบว่านักลงทุนในหลายประเทศมีความสนใจ เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น จีน และตะวันออกกลาง
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เล่าถึงแนวทางการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ จะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ซึ่งจะเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2568-2583 โดยจะมีการคัดเลือกเอกชนในรูปแบบการประกวดราคานานาชาติ (International Bidding) สัญญาเดียว มีระยะเวลาสัญญาในการบริหาร 50 ปี ซึ่งประกอบด้วย การพัฒนาท่าเรือ 2 ฝั่ง, ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และทางรถไฟ
อีกทั้งจากผลการศึกษาพบว่าภายใต้อายุสัญญาสัมปทานนั้น นักลงทุนจะได้รับผลประโยชน์ด้านการเงินไม่น้อยกว่า 10% โดยมีระยะเวลาคืนทุนที่ 24 ปี แต่หากนักลงทุนมีการพัฒนาเพิ่มเติมจากการอุตสาหกรรม และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จะช่วยสร้างผลประโยชน์ด้านการเงิน และระยะเวลาคืนทุนดีกว่าการประเมินข้างต้น
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางการเดินหน้าประชาสัมพันธ์โครงการเพื่อดึงดูดนักลงทุนนั้น ฝั่งประชาชนในพื้นที่พัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ จัดเวที “ชำแหละแลนด์บริดจ์ระนอง-ชุมพร ใครได้ใครเสีย ? ชำแหละทุกมุม ทุกมิติ กับ 10 เหตุผลสำคัญที่โครงการไม่ควรเกิดขึ้น” โดยประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกมาเสวนาในครั้งนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงกังวลต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการยกผลประโยชน์ด้านการลงทุนให้ต่างชาติ
โดยข้อมูลบางช่วงของแถลงการณ์จากสภาประชาชนภาคใต้และภาคีเครือข่าย ระบุด้วยว่า แลนด์บริดจ์จะมีการก่อสร้างท่าเรือขนาดใหญ่ที่ระนอง และชุมพร โครงการรถไฟรางคู่ โครงการนิคมอุตสาหกรรมและปิโตรเคมีจำนวนหลายหมื่นไร่ และยังต้องมีโครงการสัมปทานแหล่งหิน
ซึ่งทั้งหมดนี้รัฐบาลกำลังล้างผลาญฐานทรัพยากรทุกอย่างที่พวกเรามีเพื่อยกให้กับกลุ่มทุนต่างชาติทั้งสิ้น เพราะสุดท้ายแล้วคนที่จะได้ประโยชน์ คือผู้ที่จะเข้ามาลงทุนในโครงการที่หมายถึงกลุ่มทุนต่างชาติ และรวมถึงผลประโยชน์จะได้กับนักการเมือง และกลุ่มทุนรับเหมาก่อสร้าง เพียงบางกลุ่มเท่านั้น และสุดท้ายเราพวกเราต้องเป็น “ผู้เสียสละ” ที่จะต้องยินยอมทุกอย่างภายใต้วาทกรรม เพื่อความเจริญและความมั่งคั่งของประเทศ
ท้ายนี้การเดินหน้าพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ จะเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในช่วงเดือน เม.ย.ปีหน้า ท่ามกลางการคัดค้านของประชาชนอย่างไร คงต้องจับตาดู รวมไปถึงการผลักดัน พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ.... เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคใต้ (SEC) ต้องแล้วเสร็จภายใน ธ.ค.2567 เพื่อเป็นก้าวแรกสำคัญของการพัฒนาแลนด์บริดจ์