เศรษฐกิจไทยในสายตาบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ
สองสัปดาห์ก่อน บริษัท ฟิทช์ เรตติ้ง (Fitch's Ratings) คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยไว้ที่ BBB+ แนวโน้มเสถียรภาพ (Outlook Stable) เป็นสถานะที่ไม่ต่างจากที่เป็นอยู่
ที่น่าสนใจคือคำอธิบายและความเห็นของบริษัทจัดอันดับเกี่ยวกับปัจจัยที่ขีดเส้นผลการจัดอันดับคราวนี้ พูดถึงความเข้มแข็งความอ่อนแอของเศรษฐกิจไทย รวมทั้งปัจจัยที่จะมีผลต่อการจัดอันดับในอนาคต
เป็นข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่า นักลงทุนต่างประเทศมองเศรษฐกิจไทยขณะนี้อย่างไร ห่วงใยประเด็นไหน เป็นสิ่งนักลงทุนในประเทศควรทราบ นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
ความน่าเชื่อถือของประเทศที่ BBB+ แนวโน้มเสถียรภาพ เป็นอันดับที่วัดความน่าจะเป็นหรือการคาดหวังที่จะเกิดปัญหาชำระหนี้ในตราสารหนี้ต่างประเทศระยะยาวของรัฐบาล ส่วนแนวโน้มเสถียรภาพหมายถึงยังไม่มีแนวโน้มที่อันดับดังกล่าวจะเปลี่ยนในระยะสั้นทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง
อันดับสูงสุดของการจัดอันดับความน่าเชื่อถือคือ AAA หมายถึงความคาดหวังต่ำสุดที่จะเกิดปัญหาชำระหนี้ ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 11 ประเทศในโลกที่ตราสารหนี้ต่างประเทศระยะยาวของรัฐบาลถูกจัดอันดับในระดับสูงสุด
สำหรับอันดับสูงสุดที่ประเทศไทยเคยได้คือ A ในปี 2540 ก่อนเกิดวิกฤติ จากนั้นอันดับอยู่ที่ BBB+ เป็นส่วนใหญ่ ส่วนแนวโน้มมีทั้งเสถียรภาพ เป็นบวกและลบ
การจัดอันดับคราวนี้ ฟิทช์ให้ความเห็นว่า การคงอันดับไว้ที่ BBB+ และแนวโน้มเสถียรภาพ เป็นผลจากปัจจัยขับเคลื่อนสองปัจจัยที่ให้ผลตรงข้ามกันต่อการจัดอันดับ ตัวแรกเป็นปัจจัยบวก อีกตัวเป็นปัจจัยลบ
ปัจจัยบวกคือ ฐานะต่างประเทศที่เข้มแข็งและกรอบนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ส่วนปัจจัยลบคือ ความอ่อนแอเชิงโครงสร้าง สะท้อนจากอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ต่ำและประเด็นเรื่องธรรมาภิบาล ซึ่งในทั้งสองเรื่องนี้ ตัวเลขไทยจะต่ำเทียบกับประเทศในกลุ่ม BBB+ ด้วยกัน
ฟิทช์มองว่า เครื่องชี้ฐานะการคลังของประเทศไทยถดถอยลงตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และปัจจุบันอยู่ในระดับใกล้เคียงกับประเทศในกลุ่มการจัดอันดับเดียวกัน
ในสายตาฟิทช์ ความเสี่ยงระยะสั้นต่อฐานะการคลังของประเทศคือความไม่แน่นอนว่ารัฐบาลจะชดเชยการใช้จ่ายตามที่ได้สัญญาไว้ (pledges) อย่างไร ส่วนความเสี่ยงระยะปานกลางต่อฐานะการคลัง คือโครงสร้างประชากรที่ไม่เอื้อ หมายถึงจำนวนคนสูงวัยที่จะมากขึ้น เป็นภาระให้รัฐบาลต้องดูแลและใช้จ่าย
ฟิทช์ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวร้อยละ 2.8 ใกล้เคียงกับตัวเลขที่ไอเอ็มเอฟประเมินล่าสุดที่ร้อยละ 2.7
ส่วนปีหน้าฟิทช์มองเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวดีขึ้นเป็นร้อยละ 3.8 ขับเคลื่อนโดยการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว โมเมนตัมการขยายตัวที่ดีขึ้นของการส่งออก การใช้จ่ายในประเทศที่จะขยายตัวตามการเร่งการใช้จ่ายของภาครัฐ และแรงสนับสนุนของมาตรการภาครัฐอื่นๆ ที่จะช่วยเศรษฐกิจ เช่น การยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวจากจีนและอินเดีย
ทั้งหมดจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้นดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นยังมีความไม่แน่นอนทางการเมือง จากที่หลังเดือน พ.ค.ปีหน้า การเลือกนายกรัฐมนตรีจะอยู่ที่สภาล่างไม่มีส่วนร่วมของวุฒิสภา ซึ่งฟิทช์มองว่าเครื่องชี้ด้านธรรมาภิบาลของธนาคารโลก (ที่รวมเสถียรภาพทางการเมืองและฟิทช์ใช้เป็นข้อมูลในการจัดอันดับ) น่าจะดีขึ้น ถ้าการเมืองมีเสถียรภาพ
ในสายตาฟิทช์ การบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่จะท้าทายจากแรงปะทะต่างๆ ต่อเศรษฐกิจ (Economic headwinds) ชัดเจนว่า รัฐบาลจะใช้งบประมาณปี 2567 กระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ ไม่ปรับสู่ยุทธศาสตร์ระยะกลางที่ต้องเพิ่มการลงทุนและผลิตภาพการผลิต คาดว่าการเบิกจ่ายงบปี 2567 จะล่าช้าถึงเมษายนปีหน้า ทำให้โครงการลงทุนใหม่ถูกกระทบ
การเร่งใช้จ่ายของรัฐบาล ทำให้ดุลการคลังจะขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.7 ของจีดีพีในงบ 2567 สูงกว่าระดับเฉลี่ยของประเทศในกลุ่ม BBB+ ที่ขาดดุลร้อยละ 2.9 การขาดดุลที่เพิ่มมาจากการใช้จ่ายที่สูงมากกว่ารายได้เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและฟิทช์ประเมินการขาดดุลจะยืนในระดับร้อยละ 3.5 ของจีดีพีในงบปี 2568 เพราะรายจ่ายทั้งด้านสังคมและการลงทุน
สำหรับโครงการแจกเงินประชาชนอายุกว่า 16 ปี (Cash handouts) วงเงิน 5 แสนล้านบาท เท่ากับ 2.6% ของจีดีพีที่รัฐบาลมีแผนจะออกเป็นกฎหมายพิเศษกู้เงินจะทำให้โครงการล่าไปถึงเดือน พ.ค.ปีหน้า
ฟิทช์มองว่ามีความไม่แน่นอนในการได้รับความเห็นชอบจากสภาในการก่อหนี้ใหม่เต็มจำนวน และโครงการจะกระทบการกระชับฐานะการคลังระยะสั้น รวมถึงลดพื้นที่การคลังที่ควรมี
ประเมินว่าหนี้รัฐบาลกลางจะเพิ่มเป็นร้อยละ 56.8 ของจีดีพีในงบ 2568 และเพิ่มสูงมากขึ้นช่วงสองปีจากนั้นประมาณ 3.4% ของจีดีพี ถ้าเศรษฐกิจขยายตัวไม่ดีขึ้นแม้รัฐบาลใช้จ่ายมากขึ้น โดยหนี้รัฐบาลกลางจะอยู่ที่ 57.5% ของจีดีพีในงบปี 2570
จุดแข็งในการจัดอันดับประเทศไทยคือ ฐานะต่างประเทศ ที่จะเป็นแนวรับให้เศรษฐกิจสามารถตั้งรับภาวะตึงตัวในตลาดการเงินโลก และความเสี่ยงจากภูมิศาสตร์การเมือง
ในปี 2567 ฐานะสุทธิต่างประเทศของไทยคือสินทรัพย์ลบหนี้สิน เป็นเจ้าหนี้อยู่ที่บวก 40.1% ของจีดีพี สูงกว่าระดับเฉลี่ยของประเทศในกลุ่ม BBB+ และกลุ่ม A
ฟิทช์ประเมินว่าดุลบัญชีเดินสะพัดปีนี้จะเกินดุล ส่วน เงินเฟ้อจะอยู่ในเป้าของธนาคารแห่งประเทศไทยปีนี้และปีหน้า ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจไม่ปรับขึ้นปีหน้า แต่อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะมีผลต่อการชำระหนี้ของครัวเรือนและธุกิจเอสเอ็มอี ซึ่งจะกระทบคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์
ซึ่งฟิทช์มองว่าฐานะทุนและปริมาณที่เข้มแข็งจะช่วยธนาคารพาณิชย์ในการบริหารความเสี่ยงเหล่านี้
สรุปคือ ฟิทช์มองว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวและความเสี่ยงหลักอยู่ที่ภาคการคลังและความอ่อนแอของเศรษฐกิจในเชิงโครงสร้าง ฟิทช์ระบุสองปัจจัยที่จะทำให้อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศในอนาคตถูกปรับลดลง
อันแรกคือฐานะหนี้การคลังที่ถดถอยต่อเนื่องจนอัตราส่วนหนี้ภาครัฐต่อจีดีพีเพิ่มสูงขึ้นมากและไม่สามารถลดลงได้ ซึ่งจะมาจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอขณะที่การใช้จ่ายรัฐบาลเพิ่มขึ้น
อันที่สองคือการแทรกแซง ที่ทำให้การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของประเทศขาดประสิทธิภาพ กระทบแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจ และการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว
สำหรับปัจจัยบวกที่จะช่วยให้อันดับความน่าเชื่อถือสูงขึ้นก็เช่น แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจที่ดีขึ้นโดยไม่ได้มาจากการก่อหนี้ของภาคธุรกิจ อัตราส่วนหนี้ภาครัฐต่อจีดีพีที่ลดลง เป็นผลจากการขาดดุลการคลังที่ลดลงและหรือเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีขึ้น.
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรมาภิบาล