ยอดหนี้ครัวเรือนพุ่ง 16 ล้านล้าน! - ท่องเที่ยว 'ฟื้น' ดันจ้างงานเพิ่ม
สภาพัฒน์เผยตัวเลขหนี้ครัวเรือนล่าสุดเพิ่มขึ้นแตะ 16 ล้านล้านบาท ย้ำต้องจับตาความเสี่ยงการติดกับดักหนี้ของเกษตรกร เร่งปรับโครงสร้างหนี้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ขณะที่การจ้างงานขยายตัวต่อเนื่อง
เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ดนุชา พิชยนันท์ ระบุ หนี้สินครัวเรือนไตรมาส 2 ปี 2566 มีมูลค่า 16.07 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.6% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 90.6% คงที่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา
หากพิจารณาหนี้ครัวเรือนรายวัตถุประสงค์ พบว่า สินเชื่อเกือบทุกประเภทขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยการขยายตัวของหนี้สินครัวเรือน มีที่มาจากหนี้เพื่ออสังหาริมทรัพย์ และหนี้เพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเป็นหลัก ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนลดลงเล็กน้อย โดย NPLs มีมูลค่า 1.47 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 2.68% จากไตรมาสก่อน และคิดเป็นสัดส่วน 2.71% ต่อสินเชื่อรวม
อย่างไรก็ตาม หนี้สินครัวเรือนมีประเด็นที่ควรให้ความสำคัญคือ ความเสี่ยงในการติดกับดักหนี้ของเกษตรกรไทยจากมาตรการพักหนี้ จากผลการศึกษาถึงผลกระทบของมาตรการพักหนี้เกษตรกรที่ผ่านมา พบว่า มาตรการฯ ไม่สามารถลดหนี้ของเกษตรกรได้มากนัก เพราะเกษตรกรที่เข้าร่วมมักมีการก่อหนี้เพิ่ม เนื่องจากรายได้จากการทำการเกษตรยังไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย
ดังนั้น ต้องยกระดับรายได้ควบคู่กับการดำเนินมาตรการฯ และเร่งดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เนื่องจากยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งมูลค่าหนี้ และบัญชีที่เป็นหนี้เสีย
ท่องเที่ยวฟื้นดันจ้างงานเพิ่ม
สำหรับการจ้างงานไตรมาส 3 ปี 2566 ขยายตัวต่อเนื่อง โดยผู้มีงานทำมีจำนวน 40.1 ล้านคน จากการขยายตัวของการจ้างงานทั้งภาคเกษตรกรรม และนอกภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะสาขาโรงแรม/ภัตตาคาร ตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจากปีก่อน
การว่างงานมีทิศทางที่ดีขึ้น มีผู้ว่างงาน 4 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 0.99% โดยผู้ว่างงานลดลงทั้งผู้ที่เคย และไม่เคยทำงานมาก่อน และลดลงในเกือบทุกกลุ่มอายุ แต่กลุ่มอายุน้อยยังคงมีอัตราการว่างงานสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น ขณะที่ผู้ว่างงานระยะยาวลดลงต่อเนื่อง
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์