นายกฯ ดึง ปค. - คลัง - ตร.แก้หนี้นอกระบบ!

นายกฯ นำแถลงแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ยกเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ สร้างความมั่นคง และคืนศักดิ์ศรีให้กับประชาชน ติดตามรายละเอียดจาก คุณคัชฑาพงศ์ ลีลาพงศ์ฤทธิ์ รายงานจาก ทำเนียบรัฐบาล

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของประชาชน โดยได้ประเมินจำนวนหนี้ครัวเรือนนอกระบบของประชาชนทั่วประเทศไว้ขั้นต่ำ 50,000 ล้านบาท ซึ่ง รัฐบาลจะจริงจังต่อการแก้ปัญหาดังกล่าว และยกเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ สร้างความมั่นคง และคืนศักดิ์ศรีให้กับประชาชน ด้วยการบูรณาการทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ และกระทรวงการคลัง เพื่อไม่ให้ประชาชนกลับไปในวงจรหนี้นอกระบบอีก โดยภาครัฐจะเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย ดูแลเจ้าหนี้ และลูกหนี้อย่างเป็นธรรม

โดยการดำเนินการนั้น นายกรัฐมนตรี ระบุว่า จะมีการทำฐานข้อมูลกลาง นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อความโปร่งใสตั้งแต่เริ่มจนจบ และมีวิธีเข้าสู่กระบวนการหลายรูปแบบ เพื่อความสะดวกของประชาชน และประชาชนสามารถตรวจสอบความคืบหน้าการดำเนินการได้ ซึ่งหลังขั้นตอนการไกล่เกลี่ยแล้ว กระทรวงการคลัง จะเข้ามาช่วยปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งระยะเวลา เงื่อนไข และกระบวนการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถชดใช้หนี้ได้โดยไม่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และรัฐบาล จะไม่สร้างภาวะอันตรายทางศีลธรรมในมาตรการ การช่วยเหลือทั้งหมด

ด้าน นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงแผนการดูแลลูกหนี้นอกระบบ หลังมีการไกล่เกลี่ย และปรับโครงสร้างหนี้แล้วว่า ธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ก็จะเข้าไปช่วยเหลือโดยเปิดให้ลูกหนี้กู้ รายละไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลา 5 ปี รวมถึงโครงการสินเชื่อสำหรับอาชีพอิสระ เพื่อส่งเสริมอาชีพนั้น ก็สามารถกู้ได้สูงสุด 100,000 บาท/ราย ระยะเวลาสูงสุด 8 ราย ซึ่งอัตราดอกเบี้ย จะเป็นไปตามความสามารถของลูกหนี้ และธนาคาร ธ.ก.ส.ก็มีโครงการรองรับ เช่น กรณีติดจำนองที่ดินหนี้นอกระบบ ธ.ก.ส. ก็มีวงเงินสำหรับเกษตรกร รายละไม่เกิน 2,500,000 บาท/ราย เพื่อนำไปแก้ปัญหาที่ทำกิน รวมถึงผู้ประกอบการเจ้าหนี้ ที่ต้องการดำเนินการให้ถูกกฎหมาย ก็สามารถขออนุญาตดำเนินการได้ในรูปแบบพิโกไฟแนนซ์ เป็นต้น

ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ได้เชิญชวนประชาชนที่ประสบปัญหา ทั้งถูกข่มขู่ ถูกดูหมิ่น หรือต้องการปรับหนี้นอกระบบเข้าระบบ ไปลงทะเบียนได้ที่ศูนย์ดำรงธรรมศาลากลางจังหวัด หรือที่ว่าการอำเภอทุกแหล่ง รวมถึงสำนักงานเขตทุกแห่ง เพื่อให้กระทรวงมหาดไทยได้รวบรวมข้อมูล และแก้ปัญหาต่อไป ส่วนหากลูกหนี้ที่ยังกังวลอิทธิพลเจ้าหนี้นั้น กระทรวงมหาดไทย ยังได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ลงพื้นที่ไปสำรวจในพื้นที่ด้วยตนเองด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์