รัฐจ่าย780ล้านชะลอข้าวนาปี66/67 ชดเชยดอกเบี้ย4%ผู้ค้าสต็อกของ
ครม.เคาะ 780 ล้านชดเชยดอกเบี้ยผู้ค้าให้เก็บข้าวไว้ในสต็อก หวังชะลอสินค้าเข้าสู่ตลาดช่วงผลผลิตออกตามฤดูกาลนาปี 2566/67ป้องกันข้าวราคาตกต่ำ ขณะมาตรการช่วยชาวนาไร่ละ1,000 บาทโอนแล้ววันนี้ (28 พ.ย. 66)
ประเทศไทยมีชาวนาประมาณ 18 ล้านคนคิดเป็นสัดส่วนประชากร 25% ของทั้งหมด ดังนั้นการดูแลชาวนาให้มีรายได้ที่มั่นคงและเพียงพอเป็นสิ่งจำเป็น ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) (28 พ.ย. 2566) มีมติให้ความเห็นชอบโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก ปีการผลิต 66/67 (โครงการฯ) และอนุมัติกรอบวงเงินจำนวน 780 ล้านบาท ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ
ตามมติคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2566
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ข้าวจะออกสู่ตลาดพร้อมกันในช่วงต้นฤดู ส่งผลให้โรงสีและตลาดกลางมีความจำเป็นต้องเร่งจำหน่ายผลผลิตออกสู่ตลาด ดังนั้น โครงการฯ จะเป็นการช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการให้มีสภาพคล่องในการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร โดยการเก็บรักษาสต๊อกไว้และชดเชยค่าเสียโอกาสในการเก็บรักษาข้าว ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายข้าวได้ในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม
ช่วยดอกเบี้ยให้ชะลอสต๊อก60-180วัน
โดยผู้ประกอบการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งจะเก็บสต๊อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร โดยมีเป้าหมายเป็นขาวเปลือและข้าวสาร 4 ล้านตัน ในระยะเวลา 2-6 เดือนและรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการค้าข้าวที่จะเข้าร่วมโครงการฯ ผ่านธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารของรัฐที่ผู้ประกอบการค้าข้าวเป็นลูกค้าอยู่ ตามมูลค่าข้าวเปลือกที่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ เก็บสต๊อกไว้ในอัตรา 4% ต่อปี และตามระยะที่เก็บสต๊อกไว้ 60-180 วัน นับตั้งแต่วันที่รับซื้อ
ทั้งนี้ ผู้ประอบการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการฯ จะต้องนำเงินกู้ในรูปแบบตั๋วสัญญาใช้เงิน (ยกเว้น ธ.ก.ส. เป็นสัญญาเงินกู้) จากธนาคารไปดำเนินการรับซื้อข้าวเปลือกและข้าวสารจากเกษตรกร โดยทางตรงและทางอ้อม, การก็บสต๊อกข้าวและข้าวเปลือกที่รับซื้อจากเกษตรกรในรูปข้าวเปลือก หรือสีแปรสภาพเป็นข้าวสารตามปริมาณและมูลค่าที่ได้รับจัดสรร และการยื่นขอชดเชยดอกเบี้ย เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินหรือสัญญากู้ยืมเงินครบกำหนดชำระให้ธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารของรัฐรับรองการกู้เงินและดอกเบี้ยที่จะได้รับการชดเชย โดยผู้เข้าร่วม
โครงการฯ นำหลักฐานดังกล่าวยื่นการขอรับชดเชยอกเบี้ยต่อคณะอนุกรรมการจังหวัดตามขั้นตอนต่อไป
ย้ำต้องโปร่งใสต้องมีข้าวในสต๊อกจริง
“การที่ผู้ประกอบการค้าข้าวมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร โดยไม่เร่งระบายผลผลิตออกสู่ตลาดจะสามารถดึงปริมาณข้าวส่วนเกินออกจากระบบตลาดได้เป็นการดูแลสถานการณ์ราคานอกเหนือจากมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรด้านอื่นๆ”
อย่างไรก็ตามเพื่อให้การดำเนินโครกงารเป็นไปอย่าง ถูกต้องและโปร่งใส เห็นควรให้ความสำคัญในการควบคุม กำกับ ดูแล และดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการตรวจสอบเก็บสต๊อกข้าวของผู้ประกอบการค้าข้าว
นายชัย กล่าวอีกว่า ครม.ยังได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2566 ถึงการจัดทำมาตรการ/โครงการเพื่อสนับสนุนหรือให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและภาคเกษตรในลักษณะการสนับสนุนการเพิ่มระดับผลิตภาพ (Productivity) ของภาคการเกษตร การพัฒนาภาคเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน หรือเป็นการยกระดับกระบวนการผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตร ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถสร้างรายได้ของตนเองได้อย่างเพียงพอในระยะยาว และดำรงชีวิตได้ย่างมีคุณภาพและมีความยั่งยืนต่อไป
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 จ่ายเงินแก่ชาวนาไร่ละ 1,000 บาทได้เริ่ม Kick Off จ่ายเงินโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 14 พ.ย. 2566 ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 ไร่ หรือ 20,000 บาท วงเงินทั้งสิ้น 54,336 ล้านบาท
ชาวนา4.68ครัวเรือนได้ไร่ละพัน
เป้าหมายเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวกับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปีการผลิต 66/67 ได้รับประโยชน์กว่า 4.68 ล้านครัวเรือน โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินการทยอยโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย. - 2 ธ.ค. 2566 จำนวน 5 รอบ แบ่งเป็นรายภูมิภาค
นอกจากนี้ ได้ดำเนินมาตรการคู่ขนานในการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกและเสริมสภาพคล่องชาวนา ผ่านสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67 และสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2566/67 อีกด้วย