จับหมูเถื่อน...กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้
ขบวนการค้าหมูเถื่อนได้ทำลายโครงสร้างราคาระบบการค้าหมูของไทย สมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯ ประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 30,000 ล้านบาท
นับตั้งแต่กรมปศุสัตว์ประกาศว่า ประเทศไทยพบเชื้อไวรัสแอฟริกันอหิวาต์ในสุกรเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 สิริรวมเวลาเกือบ 2 ปี จนเกิดงานแถลงข่าว ผลการตรวจสอบขบวนการหมูเถื่อนของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 ความตอนหนึ่งระบุว่า
“ขบวนการหมูเถื่อนเป็นองค์กรอาชญากรรมที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อความมั่นคงทางอาหารและทางอาชีพของเกษตรกร ประกอบด้วย กลุ่มนายทุน กลุ่มข้าราชการ และกลุ่มข้าราชการฝ่ายการเมือง”
และ “ขบวนการนี้ได้มีการนำเข้าในห้วงที่มีการห้ามนำเข้าเศษซากหมูปี 2564-2566 จำนวน 2,385 ตู้ ขบวนการนี้จะเกิดไม่ได้เลย ถ้าไม่มีความต้องการจากผู้สั่งซื้อ”
คนในวงการหมู อดทน ดิ้นรน ต่อสู้ กับขบวนการหมูเถื่อนมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ปี 2565 แต่ผลกระทบรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเมื่อปริมาณอุปทานหมูในตลาดเพิ่มมากขึ้นในปี 2566 ทำให้ราคาขายหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มตกลงต่อเนื่องนับแต่ต้นปี 2566 และผู้เลี้ยงขาดทุน
เรียกได้ว่า อาการเข้าขั้นโคม่ากันถ้วนหน้า กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้ กว่าปัญหาเนื้อเถื่อนจะได้รับความสนใจจากรัฐ จัดการหาผู้กระทำผิด ผู้เลี้ยงก็เลิกเลี้ยงไปแล้ว
ขบวนการค้าหมูเถื่อนได้ทำลายโครงสร้างราคาระบบการค้าหมูของไทย จนทำให้เกษตรกรเข้ายื่นเรื่องต่อ DSI เมื่อเดือนพฤกษาคม 2566 และเข้ายื่นเรื่องเพิ่มเติมเมื่อเดือนสิงหาคม 2566 รวมเวลานาน 6 เดือน นับตั้งแต่มีการยื่นเรื่องครั้งแรก
ผลของการแถลงของท่านอธิบดี DSI ไม่ได้เกินความคาดหมายใดๆ ของคนในวงการหมู เพราะรู้กันอยู่ว่าอะไรเป็นอะไร สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นขบวนการหมูเถื่อนนี้ไว้ไม่น้อยกว่า 30,000 ล้านบาท หากประเมินผลกระทบในทางวิชาการน่าจะมากกว่านี้
เรียกได้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้น การขาดทุนที่เกิดขึ้นได้ตอกประตูตีโลงผู้เลี้ยงสุกรของไทย ขาดทุนกันถ้วนหน้าทั้งผู้เลี้ยงรายย่อย รายเล็ก รายกลาง รายใหญ่ หรือแม้แต่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ไม่เว้น
การจัดการปัญหาขบวนการหมูเถื่อนของภาครัฐเชื่องช้า ด้วยขบวนการนี้มีส่วนร่วมทั้งกลุ่มนายทุน กลุ่มข้าราชการ และกลุ่มข้าราชการฝ่ายการเมือง สืบไปเจอตอก็เงียบ กว่าจะได้ตัวผู้กระทำผิด ผู้เลี้ยงหลายรายตัดสินใจเลิกเลี้ยง แถมด้วยก้อนหนี้ที่ต้องชดใช้กันต่อไป
ผลร้ายที่ตามมาคือ ปริมาณความต้องการใช้อาหารสัตว์จะลดลงทั้ง ข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง ซึ่งจะกระทบไปต่อเกษตรกรชาวไร่ชาวนา เนื่องจากอาหารหมูที่ผลิตจะมีส่วนประกอบของผลผลิตและผลพลอยได้ทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เช่น ปลายข้าว กากถั่วเหลืองจากการสกัดน้ำมัน กากเบียร์ ซึ่งผลก็เกิดแล้วในข้าวและข้าวโพด
ก่อนหน้านี้รัฐก็ได้ออกมาตรการช่วยชาวนาไปแล้วไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ ตอนนี้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เริ่มมีม็อบข้าวโพดเรียกร้องให้รัฐแก้ปัญหาราคา เรียกร้องการชดเชยช่วยเหลือ แม้ว่าจะมีการขอความร่วมมือประกันรับซื้อไม่ต่ำกว่า 10 บาท/กก. แต่ด้วยผลผลิตที่กำลังเก็บเกี่ยวกันตอนนี้ ราคาซื้อขายจริงไม่น่าจะทำได้
หากไม่มีผู้เลี้ยงหมูแล้ว คิดดูว่าผลผลิตและผลพลอยได้เหล่านั้นจะไปทางไหนต่อ แม้ว่าจะมีหลายคนบอกว่า การเอาผลพลอยได้เหล่านี้ไปเป็นอาหารสัตว์จะได้มูลค่าต่ำ แต่ต้องไม่ลืมว่า หมูกินทุกวัน กินเก่ง เฉลี่ย 2.4 กก./วัน ถ้าไม่สามารถระบายผลพลอยได้ไปเป็นอาหารหมูแล้ว ราคาผลผลิตหลักจะต้องปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเพื่อชดเชยส่วนต่างกำไรจะได้จากผลพลอยได้เหล่านี้
ทางฝั่งผู้บริโภคใช่ว่าจะได้ประโยชน์จากขบวนการหมูเถื่อนนี้ แม้ว่าราคาหมูเขียงจะตกลงมา ทำให้อัตราเงินเฟ้อในภาพรวมของปี 2566 ไม่สูงเท่าปี 2565 แต่เมนูอาหารที่ใช้หมูเป็นส่วนประกอบยังคงขายราคาเดิม ปริมาณหมูในจานยังคงเท่าเดิม เรียกได้ว่า ขึ้นแล้วลงยาก
หลังจากนี้คงต้องจับตาดูกันต่อว่า จะสามารถนำผู้กระทำผิดที่ร่วมขบวนการค้าหมูเถื่อนมารับผิดได้ดังหวังหรือไม่ เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ปล่อยปละละเลย หรือรับส่วยจากผู้ประกอบการที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ฆ่าอาชีพเลี้ยงหมูของเกษตรกรไทยตาดำ ๆ อย่างเลือดเย็น
ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หลังจากนี้เรื่องหมูเถื่อนจะไม่เงียบหาย และภาครัฐจะมีมาตรการออกมาฟื้นฟูเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูอย่างจริงจัง และต้องดึงผู้เลี้ยงรายเล็กและรายกลางกลับมาให้ได้
หาไม่เช่นนั้น ในอนาคตเราจะต้องซื้อหมูจากผู้ผลิตรายใหญ่ไม่เกิน 10 แห่ง ดีไม่ดีจะถูกบีบจากทางอเมริกาและยุโรปให้ต้องนำเข้าเนื้อหมู เมื่อนั้นอุตสาหกรรมหมูไทยคงเป็นแค่เรื่องเล่า ความมั่นคงทางอาหารของไทยคงไม่มั่นคงดังที่เคยมี./