สศช.หวังเร่งลงทุน ‘เอฟดีไอ’ เพิ่มแรงหนุนเศรษฐกิจไทยปี 67
ภายหลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินการลงทุนภาเอกชนจะมีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2567
สศช.มองว่ามาตรการส่งเสริมการลงทุนที่ประกาศมาล่าสุดเกี่ยวกับการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จะช่วยสนับสนุนให้นักลงทุนต่างชาติและภายในประเทศพิจารณาขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติมมากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายและจะเป็นแรงขับเคลื่อน สำคัญให้การลงทุนภาคเอกชนในปี 2567 ขยายตัวได้ดีขึ้นต่อเนื่อง
ในขณะที่การลงทุนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยปี 2564 มูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุนอยู่ที่ 4.7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 5.9 แสนล้านบาท ในปี 2565 ซึ่งสูงสุดในรอบ 5 ปี และช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 มีมูลค่ารวม 5.2 แสนล้านบาท ขยายตัวในเกณฑ์สูง 21.9% โดยคำขอรับการส่งเสริมตามกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายมีสัดส่วนเฉลี่ย 70% ของมูลค่าลงทุนรวม และอุตสาหกรรมเป้าหมายสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
- เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (มูลค่ารวมตั้งแต่ปี 2564 ถึง 9 เดือนแรกของปี 2566 อยู่ที่ 4.1 แสนล้านบาท สัดส่วน 25.8%)
- การเกษตร และแปรรูปอาหาร (มูลค่า 1.8 แสนล้านบาท สัดส่วน 11.2%)
- ยานยนต์และชิ้นส่วน (มูลค่า 1.7 แสนล้านบาท สัดส่วน 10.6%)
- ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท สัดส่วน 7.9%)
- การแพทย์ (มูลค่า 0.9 แสนล้านบาท สัดส่วน 5.6%)
รวมทั้งในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 มีบริษัทต่างชาติที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนแล้ว ที่สำคัญในแต่ละอุตสาหกรรม ดังนี้
- อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อาทิ บริษัท ฉางอัน ออโตโมบิล จำกัด บริษัท โฟตอน ซีพี มอเตอร์ จำกัด และบริษัท GAC AION New Energy Automobile Company Limited
- ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ บริษัท มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท โตชิบา เซมิคอนดัคเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด
- ไฟฟ้าจากชีวมวล อาทิ บริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) บริษัท นิวสกาย เอ็นเนอร์จี (แบงค็อก) จำกัด
- อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อาทิ บริษัท น้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี จำกัด
ทั้งนี้หากมีการเร่งรัดโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนเหล่านี้ให้สามารถเกิดการลงทุนจริงได้โดยเร็ว จะช่วยสนับสนุนการลงทุนภายในประเทศในปี 2567 ได้
สำหรับแนวทางการด่าเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐที่สำคัญ นอกจากกรอบมาตรการภายใต้ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (2566-2570) ของบีโอไอ ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.2566 แล้ว ในช่วงปลายปี 2566 บีโอไอได้ออกมาตรการการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติมอีก 2 มาตรการ ได้แก่
1.มาตรการยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ (วันที่ 9 พ.ย.2566) ประกอบด้วย การจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุนในต่างประเทศ รวมทั้งกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ และการประสานความร่วมมือ ปรับปรุงหลักเกณฑ์ เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการเพื่ออ่านวยความสะดวกและลดอุปสรรคในการลงทุน หรือ Ease of Investment
2.มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 (2567-2570) หรือ มาตรการ EV 3.5 (วันที่ 1 พ.ย.2566) โดยจะลดอากรนำเข้าไม่เกิน 40% สำหรับการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูป (CBU) ในช่วง 2 ปีแรก (2567-2568) กรณีเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท และลดอัตราภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท
ทั้งนี้ได้ตั้งเงื่อนไขกระตุ้นการลงทุนในประเทศ ให้ผู้ได้รับการสนับสนุนผลิตเพื่อชดเชยการน่าเข้าภายในปี 2569 ในอัตราส่วน 1 : 2 (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 2 คัน) และจะเพิ่มอัตราส่วนเป็น 1 : 3 ภายในปี 2570
รวมทั้งคาดว่าจะช่วยสนับสนุนให้นักลงทุนทั้งต่างชาติและภายในประเทศพิจารณาขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติมมากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้การลงทุนภาคเอกชนในปี 2567 ขยายตัวได้ดีขึ้นต่อเนื่อง
ธงทอง จันทรางศุ ประธานคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจ เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา โดยกำหนดประเด็น 4 ด้านปรับปรุงกฎหมายระยะแรก ซึ่งตอบโจทย์นโยบายรัฐบาลที่จะสร้างความเชื่อมั่นทางธุรกิจและสร้างขีดความสามารถการแข่งขัน โดยมีคณะอนุกรรมการ 4 คณะรายงานนายกรัฐมนตรีทุก 60 วัน ดังนี้
1.ด้านการส่งเสริมการประกอบธุรกิจ ในบริบทการขออนุญาตทำงาน การรายงานตัว รวมทั้งยกเว้นใช้แบบรายการคนต่างด้าวซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร (ตม.6) ให้ครอบคลุมพาหนะทางบกและทางเรือ การดำเนินการที่เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว หรือการเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรและการทำงานของแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ
2.ด้านการพัฒนาระบบการอนุญาตหลัก (Super License) เป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ขอรับอนุญาตในประเภทธุรกิจที่มีใบอนุญาตจำนวนมากให้ใช้ใบอนุญาตหลักใบเดียว โดยดำเนินการ 3 เรื่อง ได้แก่ กิจการร้านอาหาร ธุรกิจที่พักขนาดเล็กและการขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทย
3.ด้านการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ในการนำเข้าส่งออกสินค้าเพื่อลดข้อจำกัดและระยะเวลาของผู้ประกอบการ เช่น การลดการเปิดตรวจสินค้าถ่ายลำ (Transhipment)
4.ด้านการผลักดันพลังงานสะอาด (Clean Energy) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน โดยจะพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคประชาชน เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของแผนพลังงานชาติ และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก โดยมีนายกิตติ ตั้งจิตรมณีศักดา เป็นประธานอนุกรรมการ