‘สศช.’ เปิดความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย ภูมิรัฐศาสตร์ – ภัยพิบัติ –สังคมแบ่งขั้ว

‘สศช.’ เปิดความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย  ภูมิรัฐศาสตร์ – ภัยพิบัติ –สังคมแบ่งขั้ว

สภาพัฒน์”ชี้ปัจจัยความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย ในบริบทการเปลี่ยนแปลงโลก ชี้เศรษฐกิจยังเผชิญความไม่แน่นอน ความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์  โลกแบ่งขั้ว ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกระทบกับภาคเกษตร - ความหลากหลายทางชีวภาพ เแนะเสริมความรู้ให้ประชาชนรู้เท่าทันเฟคนิวส์

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ “สภาพัฒน์” กล่าวในระหว่างงานประชุมประจำปี 2566 หัวข้อ "Transitioning Thailand : Coping with the Future” เมื่อเร็วๆนี้ว่าความไม่ปกติในเศรษฐกิจโลกที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่  3 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ในเรื่องของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ – จีน การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งในเรื่องของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อที่สูงในหลายประเทศยังคงส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยมาอย่างต่อเนื่อง

ในปี 2565 จนถึงต้นปี 2566 เราพูดกันถึงความไม่ปกติของเศรษฐกิจโลกซึ่งมีปัญหาในเรื่องเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งในขณะนี้แม้ว่าเงินเฟ้อในสหรัฐฯจะลดลง เราพูดกันถึงเรื่องเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ แต่วันนี้เป็นลักษณะของซอฟต์แลนด์ดิ้ง แต่ภูมิภาคอื่นๆยังมีปัญหาเช่น ในยุโรปยังมีเงินเฟ้อที่สูงมาก ขณะที่ในประเทศจีนเองมีปัญหาเศรษฐกิจซึ่งเราก็ยังไม่รู้ก็คือปัญหาเศรษฐกิจจีนนั้นจะลึกและกว้างขนาดไหน

 

นอกจากนั้นสิ่งที่เป็นความเสี่ยงทางเศรษฐกิจไทยยังต้องมองในมติของภัยพิบัติธรรมชาติที่มีความถี่มากขึ้นเกิดบ่อยขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ซึ่งจะกระทบเรื่องของความหลากหลายทางชีวภาพ และกระทบกับในเรื่องของภาคเกษตรของประเทศไทยอย่างมาก

 “จากภาวะความผันผวนของภูมิอากาศที่เกิดขึ้นทำให้ภาวะเอลนีโญกำลังจะเกิดขึ้น ทำให้อินเดีย ไม่ขายสินค้าเกษตรออกนอกประเทศ ขณะที่ไทยยังไปได้อยู่ในเรื่องของการขายสินค้าเกษตรแต่เราก็ต้องดูเรื่องของความมั่นคงทางอาหารในประเทศของเราเป็นสำคัญด้วย”นายดชุชา กล่าว

‘สศช.’ เปิดความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย  ภูมิรัฐศาสตร์ – ภัยพิบัติ –สังคมแบ่งขั้ว

ขณะที่ปัญหาเรื่องของความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ก็ยังคงมีอยู่ ไม่ใช่แค่ในเรื่องของทหารและความมั่นคง แต่เราเห็นเรื่องของการแบ่งกลุ่มทางเศรษฐกิจออกเป็นขั้วที่มีความชัดเจนมากขึ้น มีความท้าทายมากขึ้น ถึงขนาดมีการพูดกันเรื่องการเปลี่ยนแปลงเงินสกุลหลักของโลก ซึ่งเรื่องเหล่านี้คาดการณ์ได้ยากประเทศไทยต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยงที่ไทยต้องพิจารณาและดูทิศทางว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทยบ้างในอนาคต  

 

เฟคนิวส์ทำสังคมแบ่งขั้ว

เลขาธิการ “สภาพัฒน์” กล่าวด้วยว่าอีกปัญหาของไทยที่เป็นปัญหาสังคมแต่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้เช่นกัน ได้แก่ “เรื่องของสังคมแบ่งขั้ว” ที่มาจากความก้าวหน้าของโซเชียลมีเดีย ที่เกิดจากเผยแพร่ข่าวสารที่เป็นเฟคนิวส์ที่ทำให้เกิดความคิดเห็นแตกแยกในสังคม

ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะสร้างปัญหาเชิงสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ หากไม่มีกลไกในการตรวจสอบว่าข่าวใดเป็นข่าวจริง เป็นเฟคนิวส์ และให้ความรู้กับเด็กและเยาวชน รวมถึงคนทั่วไปว่าอะไรคือข้อเท็จจริง และสอนให้คนในสังคมสามารถรู้เท่าทันข่าวที่เป็นเฟคนิวส์ สังคมจะสับสนและขัดแย้งมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้จะต้องแก้ไขเพื่อให้สังคมอยู่กันแบบปกติสุข มีสันติมากขึ้น

 

ความเสี่ยงโลกประจำปี 2566 ตามรายงาน World Economic Forum 

เลขาธิการสภาพัฒน์กล่าวต่อด้วยว่าสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ได้เผยแพร่ รายงานความเสี่ยงโลกประจำปี 2566 (Global Risks Report 2023) โดยสำรวจความเห็นผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชนที่มีต่อความเสี่ยงโลกที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้นและระยะยาว ประกอบด้วย 5 มิติ ได้แก่

  • มิติเศรษฐกิจ
  • มิติสังคม
  • มิติสิ่งแวดล้อม
  • มิติภูมิรัฐศาสตร์
  • และ มิติเทคโนโลยี

โดยความเสี่ยงกำลังเกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดภายในไม่เกิน 2 ปี คือ วิกฤตค่าครองชีพสูง/เงินเฟ้อ ภัยพิบัติทางธรรมชาติและสภาพอากาศรุนแรงสุดขั้ว การเผชิญหน้าทางภูมิรัฐศาสตร์ และการแตกความสามัคคีในสังคมและการแบ่งขั้วในสังคม 

ความเสี่ยงที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นช่วง 10 ปีข้างหน้า

ส่วนความเสี่ยงที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นในระยะยาวภายในช่วง 10 ปีข้างหน้า ส่วนใหญ่เป็นวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งเกิดจากการไม่สามารถจัดการกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ ประกอบกับ

  • แรงหนุนจากแนวโน้มทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจ จะนำไปสู่ความเสี่ยงจากการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการล่มสลายของระบบนิเวศ(Biodiversity loss and ecosystem collapse)
  • อาชญากรรมและความไม่ปลอดภัยทางไซเบอร์ (Widespread cybercrime and cyber insecurity)
  • การย้ายถิ่นฐานขนาดใหญ่โดยไม่สมัครใจ (Large-scale involuntary migration) ซึ่งจะกลายเป็นภัยคุกคามใหม่ต่อเสถียรภาพของโลกในอนาคต