เปิด 5 หลักฐานเชิงประจักษ์ ‘เขากระโดง’ กรรมสิทธิ์ที่ดิน รฟท.

เปิด 5 หลักฐานเชิงประจักษ์ ‘เขากระโดง’ กรรมสิทธิ์ที่ดิน รฟท.

ที่ดิน “เขากระโดง” มหากาฬพื้นที่ทับซ้อนระหว่างที่ดินหลวงกับที่ดินเอกชน เมื่อ “ผู้ถือครองที่ดิน” มีอำนาจทางการเมือง คำชี้ขาดของ “หน่วยงานกระบวนการยุติธรรม” ไม่นำไปสู่การปฏิบัติตาม “หน่วยงานรัฐ” ภายใต้สังกัด ใช้ช่องว่างทางกฎหมายหาทางออกให้ “นาย”

ทว่าหากไล่ย้อนตำนาน “เขากระโดง” มีหลักฐานเชิงประจักษ์ออกมาหลายกรณี ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ว่า “เขากระโดง” มีเจ้าของตัวจริงคือการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่เป็นผู้มีเอกสิทธิ์ในการถือครอง

“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมหลักฐานเชิงประจักษ์ เพื่อสะท้อนภาพให้เห็นว่า “ผู้มีอำนาจ” ทางการเมือง พยายามหักล้างหลักฐาน เพื่อยื้อให้ที่ดิน “เขากระโดง” อยู่ในความครอบครองของ “กลุ่มตัวเอง”

หลักฐานเชิงประจักษ์หนึ่ง การเวนคืนที่ดินตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ 

กรมรถไฟหลวงเริ่มลงมือตรวจแนวทางรถไฟ เป็นไปตามพระราชโองการตั้งแต่ปี 2462 เพื่อเชื่อมต่อกับทางรถไฟที่มีอยู่แล้วที่ จังหวัดนครราชสีมา

ในปี 2463 กรมรถไฟหลวงได้ทำการสำรวจเส้นทางรถไฟแน่นอนแล้วตั้งแต่สถานีรถไฟนครราชสีมาถึงตำบลท่าช้างจังหวัดนครราชสีมาเป็นช่วงแรก จึงได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ฉบับลงวันที่ 20 ส.ค.2463

โดยได้กำหนดให้กรมรถไฟหลวงทำแผนที่แสดงเขตร์ที่ดิน และคัดสำเนาเนาบัญชีรายชื่อท้ายพระราชกฤษฎีกาพร้อมด้วยแผนที่มอบไว้ ณ ที่ทำการกรมรถไฟหลวงในพระนคร ที่กระทรวงเกษตราธิการที่หอทะเบียนที่ดินทุกจังหวัด และที่ว่าการอำเภอ ซึ่งที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่

และต่อมาปี 2464 กรมรถไฟหลวงสำรวจเส้นทางรถไฟแน่นอนแล้วตั้งแต่ตำบลท่าช้าง จังหวัดนครราชสีมา ถึงจังหวัดสุรินทร์อีกตอนหนึ่ง และได้มีการทำแผนที่แสดงแนวแขตที่ดินของกรมรถไฟไว้โดยชัดแจ้งแล้ว

ทั้งนี้จึงได้ตราพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟแผ่นดินจัดสร้าง ฉบับลงวันที่ 7 พ.ย.2464

กรมรถไฟหลวง จึงได้กรรมสิทธิ์ที่ดินในทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ตลอดจนทางรถไฟสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี รวมทั้งที่ดินสองข้างทางรถไฟในท้องที่จังหวัดบุรีรัมย์มาโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟหลวง ต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ฉบับลงวันที่ 8 พ.ย.2466

เมื่อ รฟท.รับโอนทรัพย์สินทั้งหลายจากกรมรถไฟหลวง การถไฟแห่งประเทศไทยจึงได้กรรมสิทธิ์ ที่ดินในทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ตลอดจนทางรถไฟสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี รวมทั้งที่ดินสองข้างทางรถไฟในท้องที่จังหวัดบุรีรัมย์มาตามกฎหมาย ทั้งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว

หลักฐานเชิงประจักษ์สอง คำพิพากษา “ศาลฎีกา” และ “ศาลปกครอง”

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842-876/2560 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขดำที่ 111/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563

โดยได้วินิจฉัยไว้อย่างชัดแจ้งว่า ที่ดินตามแผนที่แสดงเขตร์ที่ดินของกรมรถไฟ ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเมตร์ 375+650 เป็นส่วนหนึ่งของพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างทางรถไฟต่อจากนครราชสีมา ถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8  พ.ย.2462

เมื่อกรมรถไฟแผ่นดินใช้ประโยชน์ในที่ดิน โดยการก่อสร้างทางรถไฟเข้าไปลำเลียงหินบริเวณเขากระโดง จึงถือได้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของ รฟท.

ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ที่ดินบริเวณทางแยกเขากระโดง ตำบลอิสาณ อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ได้มาตาม พ.ร.บ.จัดวางการรถไฟและทางหลวง พระพุทธศักราช 2464 และถือเป็นที่ดินของรัฐประเภทหนึ่ง กรมที่ดินจึงมีหน้าที่คุ้มครองและป้องกันที่ดินบริเวณดังกล่าว

และศาลปกครองกลางยังวินิจฉัยต่อไปว่า ประกอบกับเมื่อมีข้อเท็จจริงที่มีผลเกี่ยวเนื่องจากคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองคดีดังกล่าวว่า อธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งกรมที่ดินที่ 2992/2564 ลงวันที่ 11 พ.ย.2564 แก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ข) เลขที่ 200 หมู่ที่ 9 (ปัจจุบันเป็นหมู่ที่ 13) ต.เสม็ด อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ได้ยกเลิกใบไต่สวนพร้อมจำหน่าย ส.ค.1 เลขที่ 209 หมู่ที่ 1 ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ออกจากทะเบียนการครอบครองที่ดิน

และยกเลิกการขอออกโฉนดที่ดิน 40 ฉบับ ของประชาชน 35 ราย ตามผลแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842-876/2560 รวมทั้งศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลจังหวัดบุรีรัมย์ และเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 206 ต.เสม็ด อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งที่ดินทั้งหมดเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ รฟท.กล่าวอ้างเป็นการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินทับซ้อนที่ดิน รฟท.

แม้คำพิพากษาของศาลฎีกา และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะไม่ได้วินิจฉัยให้เพิกถอนที่ดินแปลงอื่น นอกเหนือจากที่ปรากฎเป็นข้อพิพาท ในคดีก็ตาม แต่คำพิพากษาดังกล่าวได้วินิจฉัยชัดแจ้งถึงความเป็นเจ้าของมสิทธิ์ของ รฟท.และ รฟท.จึงใช้ยันบุคคลภายบุคคลภายนอกนั้น จะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดังกล่าว

อีกทั้งที่ดินตามที่ศาลมีคำพิพากษาดังกล่าวถึงมีฐานะเป็นที่ดินของรัฐ ซึ่งใช้จัดทำบริการสาธารณะให้ประชาชน โดยทั่วไปได้หาใช่มีผลผูกพันเฉพาะคู่ความในคดีตามมาตรา 145 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตามที่กรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดินกล่าวอ้างแต่อย่างใดไม่

จากคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง เห็นได้ว่า ได้มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับสถานะของที่ดินบริเวณแยกเขากระโดง ที่สอดคล้องคำพิพากษาศาลฎีกา และคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่า ที่ดินบริเวณแยกเขากระโดง เป็นที่ดินกรรมสิทธิ รฟท.

หลักฐานเชิงประจักษ์สาม “ปู่ชัย” ขอเช่าที่จาก รฟท.

เมื่อวันที่ 9 พ.ย.2513 “นายชัย ชิดชอบ” ทำบันทึกการประชุมร่วมเรื่องข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินเขากระโดง สรุป “ชัย” ยอมรับที่ดินพิพาทเป็นของการรถไฟ และ “ชัย”จะขออาศัยอยู่

ถอดรายละเอียดตามบันทึก “ชัย” ขออาศัยในที่ดินดังกล่าวจากการรถไฟได้ และ รฟท.ตกลงยินยอมให้อาศัย ซึ่งจะได้ทำสัญญาการอาศัยต่อไป เท่ากับว่า หนังสือฉบับนี้ “ชัย” ก็ยอมรับแล้วว่าไม่ใช่ที่ดินของตัวเอง

หลักฐานเชิงประจักษ์สี่ “ศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์” คืนที่ดินเขากระโดง 24 ไร่

ศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีที่ 8027/2561 ลงวันที่ 22 พ.ย.2561 ว่า “ศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์” ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ข.) เลขที่ 200 หมู่ที่ 9 (ปัจจุบันหมู่ที่ 13) ต.เสม็ด อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ เนื้อที่ 24 ไร่ 4 ตารางวา ที่ซื้อต่อจาก “ชัย ชิดชอบ” เนื่องจากที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตที่ดินของ รฟท.บริเวณแยกเขากระโดง อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์

พร้อมทั้งพิพากษาให้ “ศุภวัฒน์” ชำระค่าเสียหายจากการที่นายศุภวัฒน์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว ซึ่งคำนวณจากอัตราค่าเช่า ตามระเบียบการรถไฟ ฉบับที่ 129 ว่าด้วยการจัดประโยชน์ในทรัพย์สินของ รฟท.เป็นเงินเดือนละ 36,720 บาท

ล่าสุดเมื่อเดือน ธ.ค.2566 “ศุภวัฒน์” ได้ชำระหนี้ให้ รฟท.ครบทั้งหมดแล้ว เป็นเงิน 4,873,174 บาท โดยปรากฏเป็นหลักฐานบัญชีรายการรับ-จ่ายเงิน ครั้งที่ 1 สิ้นสุดวันที่ 20 ธ.ค.2566 ระหว่าง “ศุภวัฒน์” และ “สมพงษ์ วิเศษชุมพล” (ผู้ร้องสอด) กับ รฟท.

โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 15 ส.ค.2566 “ศุภวัฒน์” และ “สมพงษ์” ได้ส่งมอบที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ข.) เลขที่ 200 หมู่ที่ 9 (ปัจจุบันหมู่ที่ 13) ต.เสม็ด อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ เนื้อที่ 24 ไร่ 4 ตารางวา ให้กับ รฟท.เสร็จเรียบร้อยแล้ว

สำหรับ “ศุภวัฒน์” เป็นเจ้าของและหุ้นส่วนผู้จัดการใน หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น โดยเข้าซื้อหุ้น หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น จากนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ในสัดส่วน 99% ของทุนจดทะเบียน หรือคิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 119.5 ล้านบาท พร้อมทั้งโอนหุ้น หจก.บุรีเจริญฯ ให้ “ศุภวัฒน์” ก่อนที่ “ศักดิ์สยาม” จะดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม วันที่ 10 ก.ค.2562

หลักฐานเชิงประจักษ์ห้า รฟท.จ่ายค่ารังวัด

รฟท.ยื่นคำร้องขอรังวัดที่ดินบริเวณทางแยกเขากระโดง ต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ และได้จ่ายค่ารางวัด 112 แปลง รวมเป็นเงิน 1.29 ล้านบาท เมื่อวันที่ 22 มี.ค.2567 และสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ลงพื้นที่รังวัดปักหลักเขตในวันที่ 2 ก.ค.2567 จนแล้วเสร็จ สำนักงานที่ดินจังหวักบุรีรัมย์ได้ส่งรูปแผนที่ (ร.ว.9) ตามที่ผู้แทน รฟท.ได้นำทำการรางวัด 

ทั้งนี้ ถือเป็นเป็นพยานใหม่ นอกเหนือจากรูปแผนที่ปี 2539 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าที่ดินตามแผนที่แสดงเขตร์ที่ดินเขตร์ที่ดินของกรมรถไฟตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรำ กิโลเมตร์ 375+650 เป็นส่วนหนึ่งของพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พ.ย.2462

ทั้งหมดคือ 5 หลักฐานเชิงประจักษ์ ซึ่งพิสูจน์แล้วว่า “เขากระโดง” เป็นที่ดินของ “การรถไฟแห่งประเทศไทย” เป็นที่ดินของหลวง ที่มีบุคคลเข้าไปถือครองโดยไม่มีเอกสิทธิ์ และเอกชนเข้าไปบุกรุก ก่อนจะสร้างสิ่งปลุกสร้างทำประโยชน์ให้ตนเอง