3 ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกในปี 2566 | ปิยศักดิ์ มานะสันต์
ช่วงเวลาส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เป็นช่วงเวลาให้ย้อนกลับไปดูผลงานที่ได้ทำในปีที่ผ่านมา และตั้งปณิธานสำหรับเป้าหมายที่ต้องทำในปีนี้
ย้อนกลับไปดูผลงานของ Global Vision ที่ผ่านมา จะพบว่าส่วนใหญ่เป็นมุมมองเศรษฐกิจในเชิงระมัดระวังแทบทั้งสิ้น โดยแม้ว่าจะตั้งธีมใหญ่ในปี 2565 ให้เป็นปีที่กลับไปสู่การปกติ (Normalization) ที่ในแง่เศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และดอกเบี้ย
แต่แทบทุกบทความหลังจากนั้นจะเน้นถึงความเสี่ยงที่สำคัญ คือ
- เงินเฟ้อที่สูงและนโยบายการเงินที่ตึงตัว โดยเฉพาะในสหรัฐ
- ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์
- ความเสี่ยงเชิงนโยบายในหลายประเทศโดยเฉพาะจีน กลายเป็นว่า สิ่งที่คาดว่าจะกลับมาเป็นปกตินั้นไม่ถูกต้อง แต่สิ่งที่เตือนให้ระมัดระวังกลับถูกต้องทั้งหมด
เมื่อเป็นเช่นนั้น ปณิธานในปี 2566 ที่ตั้งใจว่าจะมีมุมมองที่สดใสต้อนรับปีใหม่ก็คงเห็นจะทำได้ยาก ในธีมใหญ่ของเศรษฐกิจโลกในปี 2566 ผู้เขียนมองว่าจะมี 3 ธีม คือ
- Divergence : โดยเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วจะหดตัวมากกว่าเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่
- Peak : เงินเฟ้อทั่วโลกถึงจุดสูงสุดไปแล้วและกำลังจะลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป
- Convergence : ในครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจประเทศเจริญแล้วจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ทำให้ต้องลดดอกเบี้ย และทำให้ดอกเบี้ยกลับเข้ามาใกล้กับของประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น
เมื่อเป็นเช่นนั้นสิ่งที่ต้องคิดต่อคือ แล้วอะไรคือความเสี่ยงของมุมมองเศรษฐกิจของผู้เขียน ซึ่งคำตอบคือ มี 3 ความเสี่ยงหลัก
ความเสี่ยงแรก ได้แก่ เงินเฟ้อกลับมาฟื้นตัวขึ้นอีกครั้ง ทำให้นโยบายการเงินต้องตึงตัวต่อเนื่องจนเกิดวิกฤติรุนแรง โดยในปัจจุบัน นักลงทุนประมาณ 90% คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกจะลดลงภายใน 12 เดือนข้างหน้า
จากการสำรวจผู้จัดการกองทุนของ Bank of America ในเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้การถือพันธบัตรให้ผลตอบแทนสูงสุดในปี 2566 โดยเฉพาะพันธบัตรระยะสั้นถึงปานกลาง
อย่างไรก็ตาม หากเงินเฟ้อมีแนวโน้มกลับมา (เช่น จากการที่เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวเกินคาดจากการยกเลิก Zero COVID ขณะที่เศรษฐกิจโลกตะวันตกไม่ได้ตกต่ำรุนแรง) อาจทำให้ธนาคารกลางต่างๆ
นำโดย Fed ต้องขึ้นดอกเบี้ยแรงอีกครั้ง และจะส่งผลทำให้การลงทุนในพันธบัตรและหุ้นกู้ขาดทุนรุนแรง และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติการเงินโลกได้
ความเสี่ยงที่ 2 การยกเลิกมาตรการ Zero COVID ทำให้เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวรุนแรง โดยการประกาศยกเลิกข้อกำหนดการกักตัวสำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. เป็นไปอย่างกะทันหันและรุนแรงกว่าที่ธุรกิจ
และนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดไว้ โดยผู้เขียนมองว่าแนวทางของรัฐบาลดูเหมือนว่าจะผ่านคลื่นผู้ติดเชื้อ (Exit wave) ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยอาจทำให้เกิด Herd immunity ให้เร็วที่สุด เพื่อทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างรวดเร็ว
การที่จีนเร่งกระบวนการยกเลิกมาตรการ Zero COVID จะทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงักมากขึ้นตลอดไตรมาสแรกเนื่องจากการติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่จะฟื้นตัวเร็วขึ้นและแข็งแกร่งตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป
ทำให้ยอดค้าปลีกจะเพิ่มขึ้นประมาณ 11% ในปี 2566 จากที่หดตัวประมาณ -0.5% ในปี 2565 และทำให้เป็นไปได้ที่จีดีพีจีนจะขยายตัวเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 6.0-6.5% สูงกว่ากรณีฐานที่เคยมองไว้ที่ 5.0%
การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจีนจะช่วยกระตุ้นธุรกิจภาคบริการทั่วโลก โดยเฉพาะการเดินทางและสายการบิน รวมถึงลดปัญหาในห่วงโซ่อุปทาน
อย่างไรก็ตาม การเปิดประเทศอย่างรวดเร็วอาจทำให้ความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้น ดึงเงินเฟ้อทั่วโลกให้สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้
ความเสี่ยงที่ 3 ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนกลายเป็นสงครามโลก ผู้เขียนเชื่อว่าสงครามยูเครนจะคงระดับความรุนแรงในปี 2566 (คือไม่รุนแรงขึ้น แต่ไม่ลดลง) แต่ในปัจจุบัน
ความแข็งแกร่งของกองทัพยูเครนนับได้ว่าผิดจากที่หลายฝ่ายคาดไว้มาก หลังจากสงครามผ่านไปกว่า 10 เดือน กองทัพยูเครนยังคงสามารถต้านทานกองทัพรัสเซียได้
โดย (1) ยูเครนจะยังคงเป็นรัฐเอกราช (2) กองทัพของยูเครนทำให้กองทัพรัสเซียบาดเจ็บหรือเสียชีวิตถึง 80,000 คน (3) เรือธงของ Russian Black Sea Fleet ถูกยิงให้จมลง (4) กองทัพอากาศของยูเครนจะยังคงดำรงอยู่ (5) กองทัพยูเครนสามารถยึดคืนเมืองเคอร์ซอนได้
ดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่สงครามจะมีพัฒนาการที่เปลี่ยนไป ผู้เขียนจึงขอคาดการณ์ 3 สถานการณ์ความเป็นไปได้ของสงครามในปี 2566 หรือที่เรียกว่า Scenario Analysis
สถานการณ์ที่ 1 : ได้แก่กองทัพรัสเซียพลิกกับมาชนะสงคราม โดยรัสเซียที่มีกองกำลังมากขึ้นสามารถกลับมายึดเมือง Kherson ที่เคยเสียให้กับยูเครน
รวมถึงเมืองอุตสาหกรรมสำคัญทางตอนใต้และตะวันออกของประเทศ ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปที่แย่ลงจากการถูกคว่ำบาตรก๊าซธรรมชาติ ทำให้ชาติตะวันตกกลับมาเรียกร้องให้ยูเครนยอมรับข้อเสนอหยุดยิงของรัสเซีย (ความน่าจะเป็น 20%)
สถานการณ์ที่ 2 : สงครามยืดเยื้อ โดยกองทัพยูเครนไม่สามารถรุกกลับมายึดเมืองหลังแม่น้ำ Dniper คืนได้ (โดยเฉพาะทางตอนใต้) แต่กองทัพรัสเซียก็ไม่สามารถรุกคืบไปยึดเมืองทางตอนกลางของประเทศได้
ประธานาธิบดีปูตินจึงพยายามยืดเยื้อให้นานพอที่จะบั่นทอนเศรษฐกิจของยูเครน โดยทำลายขวัญกำลังใจด้วยการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือน (ความน่าจะเป็น 50%)
สถานการณ์ที่ 3 : ยูเครนชนะสงคราม เป็นสถานการณ์ที่อันตรายที่สุด โดยยูเครนรักษาโมเมนตัมไว้ได้ สร้างความเสียหายอย่างหนักต่อกองกำลังรัสเซีย ตัดสะพานทางบกของปูตินไปยังแหลมไครเมีย
และปิดล้อมเมืองมารีอูโปลในช่วงฤดูร้อน ทำให้ปูตินหันไปใช้อาวุธนิวเคลียร์และ/หรืออาวุธเคมี นำไปสู่ความเสี่ยงที่สงครามจะขยายตัวรุนแรงขึ้น (ความน่าจะเป็น 30%)
แม้สถานการณ์ที่สองเป็นไปได้สูงสุด แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธสถานการณ์ที่ 3 ได้ โดยเฉพาะหลังจากที่ยูเครนได้อาวุธยุทโธปกรณ์และการส่งกำลังบำรุงจากชาติตะวันตก
ซึ่งนัยของสถานการณ์ที่ 3 ต่อเศรษฐกิจและการลงทุนโลกนั้นใหญ่หลวงนัก ทั้งจากการที่เงินเฟ้อจะกลับมาพุ่งทะยาน เศรษฐกิจที่อาจถดถอยรุนแรง และอาจนำมาสู่ภาวะ Stagflation ทั่วโลกได้
จีนฟื้นตัวแรง เงินเฟ้อพุ่ง ดอกเบี้ยทะยานไม่หยุด และสงครามนิวเคลียร์ คือความเสี่ยงหลักที่อาจเป็นจริงในปี 2566 ท่านผู้อ่านทุกท่าน ขอต้อนรับเข้าสู่ปีที่อะไรก็เกิดขึ้นได้
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่