กับดักหนี้ครัวเรือน ระเบิดเวลาเศรษฐกิจไทย
ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาที่ทุกรัฐบาลต้องเผชิญ และหาทางแก้ไขให้ตรงจุด โดยเฉพาะการเฝ้าระวังไม่ให้เกิดหนี้เพิ่ม เนื่องจากในปัจจุบันความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ลดลง และอาจทำให้เข้าสู่วงจรหนี้นอกระบบได้มากขึ้น
สถานการณ์หนี้สินครัวเรือนของประเทศไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานว่าในไตรมาส 2 ปี 2566 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 16.07 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.6% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเมื่อคิดเป็นสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในของประเทศ (GDP) อยู่ที่ 90.7% คงที่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา โดยสินเชื่อเกือบทุกประเภทขยายตัวขึ้น และเป็นการขยายตัวจากหนี้ซื้ออสังหาริมทรัพย์และหนี้เพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเป็นหลัก
หนี้ภาคครัวเรือนเป็นปัจจัยที่ท้าทายของทุกรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลคงต้องให้ความสำคัญและเฝ้าระวังเพิ่มมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาแม้จะมีการแก้ปัญหาหนี้ภาครัวเรือนมาต่อเนื่อง แต่สถานการณ์หนี้ครัวเรือนยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้เสียจากโรคโควิด-19 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยไตรมาส 2 ปี 2566 มีมูลค่าหนี้เสียคงค้าง 3.7 แสนล้านบาท ขยายตัว 22.0% จากไตรมาสก่อน ซึ่งต้องปรับโครงสร้างหนี้แก่ลูกหนี้กลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กลับมาชำระคืนหนี้ได้เป็นปกติ
ในขณะที่สถานการณ์หนี้ของกลุ่มเกษตรกร เป็นส่วนที่มีความกังวลต่อสถานการณ์กับดักหนี้จากมาตรการพักหนี้ของรัฐบาล โดยจำเป็นต้องดำเนินการควบคู่กับการยกระดับรายได้ แต่แนวทางดังกล่าวใช้ได้ผลกับประเทศไทยน้อยมาก รวมทั้งในช่วงที่ผ่านมาลูกหนี้รายย่อยของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ลดหนี้ไม่ได้ เพราะเกษตรกรที่เข้าร่วมมาตรการลดหนี้มากกว่า 3 ใน 5 จะก่อหนี้ใหม่ เพราะรายได้เกษตรไม่เพียงพอสำหรับการลงทุนฤดูกาลถัดไป
ส่วนหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ดูเหมือนจะเป็นอีกปัญหาที่เรื้อรังเช่นเดียวกัน ซึ่งส่งผลให้ข้าราชการหลายคนติดอยู่ในกับดักหนี้ครอบคลุมทั้งข้าราชการครู ข้าราชการตำรวจ และเป็นปัญหาต่อเนื่องถึงประสิทธิภาพการทำงานของข้าราชการ รวมถึงสถานการณ์หนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่บางส่วนมีปัญหาเรื่องการชำระหนี้จนเกิดการฟ้องร้องและเกิดการบังคับคดี สถานการณ์หนี้ที่เกิดขึ้นทั้งหมดจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรได้รับการแก้ไขในลักษณะที่ไม่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย
สิ่งที่น่าจับตามองในปัจจุบันอยู่ที่ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ลดลง ซึ่งน่าจะกังวลว่าจะทำให้ผู้ที่เป็นหนี้จะหลุดพ้นจากกับดักหนี้ได้ยากลำบากขึ้น โดยรัฐบาลได้เลือกที่จะแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบก่อน ซึ่งนอกจากจะเป็นหนี้ที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย รวมทั้งยังสร้างปัญหาอื่นพ่วงตามมา เช่น การทวงหนี้ที่ผิดกฎหมาย ถึงแม้รัฐบาลจะสร้างผลกลไกการเจรจาระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ แต่รัฐบาลต้องหาทางไม่ให้ลูกหนี้กลับไปเป็นหนี้นอกระบบอีก ไม่อย่างนั้นจะเป็นปัญหาที่แก้ไม่จบและหนี้จะเป็นกับดักเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ