‘สภาพัฒน์’ - ‘TDRI’ จับตาหุ้นกู้ 1 ล้านล้าน หวั่นระเบิดเวลา ‘เศรษฐกิจปี 67’

‘สภาพัฒน์’ - ‘TDRI’ จับตาหุ้นกู้ 1 ล้านล้าน  หวั่นระเบิดเวลา ‘เศรษฐกิจปี 67’

รัฐบาลจับตาหุ้นกู้ครบกำหนดชำระปี 67 เฉียด 1 ล้านล้าน หลังตัวเลขเศรษฐกิจไม่สดใส ส่อกระทบการออกโรลโอเวอร์หุ้นกู้ปีหน้า นายกฯสั่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแผนรับมือ สศช. ชี้ตลาดบอนด์ไทยเจอภาวะกดดันหลายด้าน TDRI ยก 3 ปัจจัยหุ้นกู้เสี่ยงขึ้นปี 67 เชื่อไม่เกิดโดมิโน

ในปี 2567 มีหุ้นกู้ระยะยาวที่ครบกำหนดชำระ 8.9 แสนล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นหุ้นกู้ประเภทดอกเบี้ยสูง (High Yield Bond) ที่มีมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ ไฟแนนซ์ และพลังงาน โดยประเด็นของหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระและโรลโอเวอร์จำนวนมากในปีหน้าทำให้เกิดความกังวลว่าจะ

นอกจากนี้เรื่องของหุ้นกู้ที่จะครอบกำหนดโรลโอเวอร์จำนวนมากในปี 2567 ยังได้เป็นเงื่อนไขอย่างหนึ่งที่คนในฟากฝั่งรัฐบาลใช้เป็นส่วนหนึ่งของคำอธิบายภาวะวิกฤติที่อาจจะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจในปี 2567 ถ้าหากมามีนโยบายกระตุนเศรษฐกิจด้วยการออกนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต

‘สภาพัฒน์’ - ‘TDRI’ จับตาหุ้นกู้ 1 ล้านล้าน  หวั่นระเบิดเวลา ‘เศรษฐกิจปี 67’

โดยก่อนหน้านี้นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าในเดือนเม.ย.2567 จะมีการครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้จำนวนมาก ซึ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นแพราะหากไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ บริษัทจดทะเบียนที่ระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้และกำหนดไถ่ถอนในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจของประเทศไม่ดีก็จะกระทบกับต้นทุนในการระดมทุน หรืออาจขายหุ้นกู้ฯได้ไม่ครบจำนวนได้ รัฐบาลจึงพยายามที่จะผลักดันการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

นายกฯสั่งรับมือผิดหากมีการผิดนัดชำระหนี้

ขณะที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยกับ “เครือเนชั่น” ว่าเรื่องของหุ้นกู้ที่จะมีการครบกำหนดชำระแล้วต้องโรลโอเวอร์จำนวนมากได้มีการหารือกับหลายฝ่ายรวมทั้งสถาบันการเงินแล้วว่าถ้ามีปัญหาเรื่องนี้จะปล่อยไปไม่ได้ เพราะได้มีการติดตาม และบอกว่าให้ช่วยดูเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ 

‘สภาพัฒน์’ - ‘TDRI’ จับตาหุ้นกู้ 1 ล้านล้าน  หวั่นระเบิดเวลา ‘เศรษฐกิจปี 67’

ซึ่งได้หารือกับปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ให้ดูแลเรื่องเหล่านี้ และเอาข้อมูลมาดูแล้วติดตามร่วมกัน เหนือสิ่งอื่นใดสถาบันการเงินต้องดูว่าลูกหนี้รายใดเริ่มที่มีสัญญาณที่จะผิดชำระหนี้จะต้องลงไปแก้ไขอย่างรวดเร็ว

สศช.จับตาปัจจัยกดดันตลาดบอนด์ไทย

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยใน การแถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส3/66 ของสศช.ว่าความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุนในช่วงที่ผ่านมาช่วงหนึ่งเกิดจากการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ กดดันให้ค่าเงินในภูมิภาคอ่อนค่าลง และสร้างความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุน ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ขยายตัวดีกว่าที่คาด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมาย ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงเป็นเวลานานกว่าที่นักลงทุนทั่วโลกได้เคยประเมินไว้

กดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี เพิ่มขึ้นไปสู่ 4.61% ในวันที่ 27 กันยายน 2566 สูงที่สุดในรอบ 16 ปี ซึ่งส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ทั่วโลก และสร้างความผันผวนในตลาดการเงินโลก โดยเฉพาะค่าเงินของหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียรวมทั้งค่าเงินบาท ที่มีทิศทางอ่อนค่าลง ขณะเดียวกัน การเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ส่งผลให้นักลงทุนแสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงขึ้น (Search for Yield) ในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และทำให้ตลาดการเงินทั่วโลกมีความผันผวน สะท้อนจากดัชนีความผันผวน (Volatility Index) ของตลาดหลักทรัพย์ในประเทศเศรษฐกิจหลักที่ปรับตัวสูงขึ้น

‘สภาพัฒน์’ - ‘TDRI’ จับตาหุ้นกู้ 1 ล้านล้าน  หวั่นระเบิดเวลา ‘เศรษฐกิจปี 67’

ชี้ปัญหาธรรมาภิบาลกระทบความเชื่อมั่น

สำหรับประเทศไทย นอกจากจะต้องเผชิญปัจจัยกดดันจากภายนอกดังกล่าวแล้วยังมีปัจจัยภายในประเทศโดยเฉพาะสถานการณ์ในตลาดหลักทรัพย์ที่ส่งผลต่อความกังวลด้านธรรมาภิบาล การผิดนัดชำระหนี้ของบริษัท ผู้ออกหุ้นกู้ในตลาดตราสารหนี้ รวมไปถึงแนวโน้มอุปทานพันธบัตรที่อาจจะเพิ่มขึ้นตามการคาดการณ์ความต้องการใช้เงินของรัฐบาล เป็นอีกปัจจัยที่กดดันให้เงินลงทุนในหลักทรัพย์และตราสารหนี้ของประเทศไทย ณ ไตรมาสที่สามของปี 2566 ไหลออกสุทธิ 2,136.20 ล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ดี ในช่วงเดือนตุลาคม 2566 โดยเฉพาะหลังการโจมตีอิสราเอลของกลุ่มฮามาส พบว่า มีเงินทุ่นไหลออกจากตลาดหลักทรัพย์ในอัตราที่ชะลอลง แต่มีเงินทุนไหลกลับเข้ามาในตลาดตราสารหนี้ เนื่องจากตลาดตราสารหนี้และค่าเงินบาทของไทยมีปัจจัยพื้นฐานที่อยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับมีการรายงานภาวะการส่งออกไทยเดือนกันยายน 2566 ที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าเนื่องจากเงินทุนไหลเข้า

 

"ทีดีอาร์ไอ" ชี้ 3 ปัจจัยกดดันตลาดบอนด์

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่าในเรื่องของหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระหรือโรลโอเวอร์ในปีหน้าเป็นจำนวนมาก ถือว่ามีความน่ากังวลอยู่บ้าง เพราะช่วงที่ผ่านมามีการผิดนัดชำระหนี้ไปหลายกรณี และปัจจัยที่ส่งผลกระทบในปีหน้าทำให้น่ากังวลใจมากขึ้น มี 3 ปัจจัยได้แก่

  1. ดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับสูง ต้นทุนทางการเงินในการทำธุรกิจจึงสูง  
  2. เศรษฐกิจโตต่ำกว่าศักยภาพ และล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดประมาณการการเติบโตลง ซึ่งนำไปสู่แนวโน้มผลประกอบการที่แย่ลง 
  3.  ความเชื่อมั่นในหุ้นกู้ที่ลดลงอาจจะทำให้บริษัทไม่สามารถออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อทดแทนตัวที่ครบกำหนดได้ครบจำนวน หรืออาจจะต้องยอมจ่ายดอกเบี้ยที่สูงเพื่อให้ครบจำนวน

‘สภาพัฒน์’ - ‘TDRI’ จับตาหุ้นกู้ 1 ล้านล้าน  หวั่นระเบิดเวลา ‘เศรษฐกิจปี 67’

“ทั้ง 3 ปัจจัยนำไปสู่ความเสี่ยงของหุ้นกู้ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหุ้นกู้ก็จะมีเกรดต่างๆ ที่ใช้วัดความเสี่ยงอยู่แล้ว ก็จะเสี่ยงมากขึ้นในหลายบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวที่เป็น non-investment grade หรือตัวที่ผลประกอบการแย่ลง เป็นต้น”

เมื่อถามว่าจะมีโอกาสเกิดการล้มลงของบริษัทที่ออกหุ้นกู้จำนวนมากเป็นโดมิโน่ในเศรษฐกิจไทยหรือไม่ นายนณริฏ กล่าวต่อว่าส่วนตัวเป็นเรื่องเฉพาะของแต่ละบริษัทมากกว่าจะเชื่อมโยงกัน

ส่วนการให้ความช่วยเหลือของหน่วยงานภาครัฐในส่วนนี้นักวิชาการอาวุโสทีดีอาร์ไอกล่าวว่าภาครัฐควรจะเข้ามาจัดการในกรณีที่เป็นการฉ้อโกง คือ การทำธุรกิจมิชอบโดยเอาเงินจากหุ้นกู้มาเสี่ยง หรือใช้ผิดวัตถุประสงค์ในการระดมทุน แต่ถ้าเป็นการผิดนัดชำระจากเหตุผลอื่นๆ คิดว่ากลไกที่มีตามปกติก็น่าจะจัดการได้ดีพอสมควรอยู่แล้ว