รัฐบาลโยน 'กฟผ.' อุ้มค่าไฟเหลือ 4.2บาท รับภาระ Ft เพิ่มอีก 1.3 หมื่นล้าน
“พลังงาน” เผย หากรัฐบาลอุ้มค่าไฟงวด ม.ค.-เม.ย.2567 เหลือ 4.20 บาท ผลักภาระต้นทุนให้ กฟผ.เพิ่มอีก 1.3 หมื่นล้าน แบกภาระ 1.2 แสนล้าน รวมต้องกู้เงินมาบริหารสภาพคล่องไปแล้ว 1.1 แสนล้าน เพิ่มเพดานหนี้สาธารณะประเทศ ส.อ.ท.ชี้ถึงเวลาเลิกแก้ปัญหาค่าไฟระยะสั้นแบบงวดต่องวด
ที่ผ่านมารัฐบาลใช้นโยบายลดค่าไฟฟ้า โดยกำหนดให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภารค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) ไปก่อน ซึ่งทำให้ปัจจุบันมีภาระค่าเอฟทีที่ กฟผ.รับภาระไปก่อนแล้ว 110,000 ล้านบาท
รวมถึงมติค่าไฟฟ้างวด ม.ค.-เม.ย.2566 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนดให้อยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย ในขณะที่รัฐบาลได้แสดงความเห็นทันทีว่าไม่ควรปรับขึ้นแบบก้าวกระโดดจากงวด ก.ย.-ธ.ค.2566 ที่ราคา 3.99 บาทต่อหน่วย
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ไม่เห็นด้วยกับมติของ กกพ.เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2566 มีมติรับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นค่าไฟฟ้าผันแปร และเห็นชอบให้ปรับค่าเอฟทีขายปลีก สำหรับเรียกเก็บค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 ที่ 89.55 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 69.07 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐาน 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย
ทั้งนี้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้แสดงถึงจุดยืนที่ชัดเจนว่า ราคาค่าไฟที่กระโดดสูงขึ้นมาอยู่ที่หน่วยละ 4.68 บาท หรือ 17% จากราคาปัจจุบันหน่วยละ 3.99 บาท ตามที่ กกพ.ได้เปิดให้มีการสอบถามและมีมติไปนั้น ถือว่าเป็นราคาที่รับไม่ได้และจะลดค่าไฟให้ได้ในระดับไม่เกิน 2.40 บาทต่อหน่วย
“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือถึงการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะการปรับแก้โครงสร้างราคาพลังงานที่ไม่ใช่เพียงแค่ค่าไฟฟ้าเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงราคาน้ำมันด้วย” แหล่งข่าว กล่าว
ระยะสั้นไม่พ้น กฟผ.รับภาระ
นอกจากนี้ แม้รัฐบาลจะมีทีท่าที่จะเอาจริงเรื่องการปรับลดราคาพลังงานเพื่อคลายความเดือดร้อนของประชาชน เต่กระทรวงพลังงาน กังวลแนวทางที่รัฐบาลยังคงใช้วิธีให้หน่วยงานภาครัฐทั้ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) แบกรับภาระไว้ก่อน ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ยังไม่ถูกทาง จึงหวังว่าภาครัฐจะเลือกวิธีที่ดีกว่านี้
ทั้งนี้ จากข้อมูลที่ได้รับจาก กกพ.ในคณะทำงานค่าเอฟที พบว่า หากรัฐบาลเรียกเก็บค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 อยู่ที่ 4.20 บาทต่อหน่วย จะทำให้ภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ กฟผ.แบกรับแทนประชาชนจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 13,950 ล้านบาท ส่งผลให้ยอดสะสมของค่าเอฟที ค้างรับรวมเป็น 125,950 ล้านบาท จากที่เคยปรับลดลงมาเหลือที่ระดับ 95,777 ล้านบาท ก่อนหน้านี้
“การที่รัฐจะบีบให้ค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยปรับเหลือ 4.20 บาทต่อหน่วย จาก 4.68 บาทต่อหน่วย จะเป็นการสั่งให้ กฟผ. ต้องขายไฟฟ้าต่ำกว่าราคาต้นทุน และต้องแบกภาระส่วนต่างเอาไว้ ดังนั้น นโยบายที่ให้ยืดระยะเวลาการจ่ายคืนค่าเอฟทีค้างรับกับ กฟผ. เช่นนี้ จึงไม่ใช่ทางออกที่ดีในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน”
“พลังงาน”ห่วงสภาพคล่อง กฟผ.
นอกจากนี้ การให้ กฟผ.จะต้องแบกรับภาระค่าเอฟทีค้างรับที่มากจนเกินไปและต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะส่งผลให้ กฟผ.ขาดสภาพคล่องและต้องไปกู้เงินมาเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาล อีกทั้ง ดอกเบี้ยที่เกิดจากการกู้เงินก็จะถูกบวกเพิ่มเข้าไปในค่าไฟฟ้าด้วย สุดท้ายจะทำให้ประชาชนและผู้ใช้ไฟฟ้าจะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในราคาที่สูงขึ้นไปอีก
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กฟผ.ได้กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง และบริหารภาระค่าเอฟทีรวมแล้ว 110,000 ล้านบาท โดยอัตราค่าไฟฟ้าที่ กกพ. มีมติที่เรียกเก็บ 4.68 บาทต่อหน่วย จะยืดระยะเวลาการจ่ายหนี้ของ กฟผ. เป็น 2 ปี (6 งวด ตั้งแต่ ม.ค.2567-ธ.ค.2568) ซึ่งหาก กฟผ.ต้องกู้เงินเพิ่ม จะส่งผลให้สัดส่วนหนี้ของ กฟผ.จะสูงจนเกินไป กระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของ กฟผ.ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้น รวมถึงกระทบต่อเพดานหนี้สาธารณะของประเทศขยับตัวสูงขึ้นด้วย
แหล่งข่าว กล่าวว่า นอกจากภาระค่าเอฟทีที่กฟผ. จะต้องแบกรับภาระมาเป็นระยะเวลานานเพื่ออุ้มค่าไฟฟ้า งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 เหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย นั้น ยังรวมไปถึงการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ปรับลดค่าก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บจากกิจการผลิตไฟฟ้าซึ่งแต่เดิมกำหนดไว้ 323.37 บาทต่อล้านบีทียู เป็นไม่เกิน 304.79 บาทต่อล้านบีทียู และเลื่อนการรับชำระค่าเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่ขายให้ กฟผ.งวดดังกล่าวออกไปก่อนราว 8,000-9,000 ล้านบาท
“ต้องเข้าใจว่าการรับภาระ การยืดระยะเวลาการจ่ายคืน ทุกอย่างถือเป็นต้นทุนที่จะต้องจ่ายคืน ซึ่งคนที่จ่ายก็จะเป็นผู้ใช้ไฟฟ้า ต้องดูว่าการลดค่าไฟลงเหลือ 4.20 บาทต่อหน่วยครั้้งนี้ รัฐบาลจะใช้วิธีไหนมาบริหารจัดการ จะให้ กฟผ.อุ้มทั้งหมดหรือจะให้ ปตท.ลดราคาก๊าซฯ เท่าไหร่ อีกทั้ง ภาครัฐจะหางบประมาณมาช่วยเฉพาะกลุ่มอย่างไร สุดท้ายภาครัฐบาลจะเป็นผู้ตัดสินใจ” แหล่งข่าว กล่าว
ส.อ.ท.คาดต้นทุนธุรกิจสูงขึ้นอีก 4-6%
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สำหรับค่าไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ภาคธุรกิจจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ค่าไฟถือเป็นต้นทุนการดำเนินธุรกิจปกติที่ 20-30% ก็จะเพิ่มขึ้นอีกระดับ 4-6% โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้ไฟฟ้าสูง อาทิ เคมี เหล็ก เยื้อและกระดาษ อะลูมิเนียม หล่อโลหะ แก้วกระจก ปูนซีเมนต์ เซรามิก อาหารและเครื่องดื่ม โรงกลั่นน้ำมัน และปิโตรเลียมและปิโตรเคมี
ทั้งนี้ ระดับนโยบายควรต้องทบทวนมาตรการ/นโยบาย ที่จะช่วยให้ค่าไฟงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 เหมาะสมที่สุด เพราะจากที่ กกพ. มีมติตัวเลขค่าเฟทีออกมา โดยที่ไม่มีแผนปรับปรุงลดค่าไฟฟ้า และปรับโครงสร้างใด ๆ รองรับเลย ทั้ง ๆ ที่หลายภาคส่วนนำเสนอแนวทางมาโดยตลอด ซึ่ง ส.อ.ท.มีมาตรการระยะสั้น กลาง และ ระยะยาว แบ่งเป็น
1.การเร่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือระยะสั้น เพื่อลดค่าเอฟที ซึ่งการที่ภาครัฐให้ กฟผ.รับภาระค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) รัฐบาลก็จะต้องใช้เครื่องมือทางการเงินมาช่วย เช่น การออกพันธบัตรรัฐบาลมีระยะเวลาที่เหมาะสม เช่น 5 ปี, ปัญหาซัพพลายสูงเกินดีมานด์ เช่น ค่าความพร้อมจ่าย (AP) โดยลดมาจิ้นไม่เร่งการเพิ่มซัพพลาย พร้อมเพิ่มดีมานด์การใช้พลังงานสะอาดของ EV Bus และ EV Truck
ส่งเสริมและปลดล็อคพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ให้สะดวกและเป็นธรรม และการปรับโครงสร้างก๊าซธรรมชาติ โดยการลดมาร์จิ้นก๊าซธรรมชาติ แล้วเพิ่มสัญญาผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ให้ใกล้เคียงกับการขายของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) และปรับสูตรราคาก๊าซธรรมชาติโดยให้ราคาขายก๊าซเพื่อใช้ในปิโตรเคมีเป็นราคาเดียวกับขายให้โรงไฟฟ้า รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการจัดหา ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ทั้งรูปแบบ Longterm และ Spot
แนะทางออกค่าไฟระยะยาว
2.การแก้ปัญหาระยะกลางและระยะยาวนั้น ภาครัฐควรเร่งเจรจาแหล่งพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อนไทย-กัมพูชา (Overlapping Claims Area : OCA) เพื่อเพิ่มปริมาณก๊าซธรรมชาติ, พร้อมเร่ง TPA ระบบโลจิสติกส์ของทั้งไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ และลดการผูกขาดใด ๆ รวมถึงปรับกลไกการบริหารพลังงาน และค่าไฟฟ้าทั้งระบบทั้งระดับ Policy/Regulater/Operation ให้โปรงใสตามหลักธรรมาภิบาล รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูล และควรจัดตั้งเวที กรอ.พลังงาน เป็นต้น
นอกจากนี้ กกพ. ถือเป็นหน่วยงานที่ทราบปัญหาค่าไฟฟ้าดีที่สุด น่าจะมีข้อเสนอแนะเพื่อให้ภาคนโยบายขับเคลื่อนได้ ไม่ควรเป็นเพียงหน่วยงานคำนวณตัวเลข เอาต้นทุน สมมุติฐานต่าง ๆ จาก Operators มาคิดตามหลักการเดิม ๆ
“ประชาชนไม่ควรต้องมาลุ้นทุก ๆ 4 เดือน ว่าจะมีข่าวดีหรือข่าวร้ายจาก กกพ.อีกทั้งข่าวที่ออกมายังกระทบต่อราคาหุ้นโรงไฟฟ้า ดังนั้นเมื่อไม่มีการแก้โครงสร้างค่าไฟที่เหมาะสม การนำเสนอค่าไฟที่ถูกลงเสมือนเป็นข่าวดีที่เอาใจประชาชนตามมาจากระดับนโยบาย สุดท้าย กกพ.ก็จะเป็นแค่หนังหน้าไฟให้ผู้บริโภคถล่มก่อนที่ภาคนโยบายจะออกมาตรการมาสนับสนุนเหมือนครั้งที่ผ่านมา”
หวัง“พีระพันธุ์”มีทางออกไฟแพง
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวยังมั่นใจว่าระดับนโยบายโดยรัฐบาลชุดใหม่ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ทำงานผ่านมาแล้วร่วม 3 เดือน น่าจะต้องมีเรื่องนโยบายที่ดีเพื่อปรับโครงสร้าง และแก้ไขที่ต้นเหตุอย่างเป็นระบบ ด้วยมาตรการเชิงรุก ทั้งนี้ เพื่อลดค่าครองชีพของประชาชนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ ทั้งในระยะสั้น และระยะยาวต่อไป
ทั้งนี้ แม้อัตราค่าไฟฟ้าใหม่ที่กกพ.ประกาศออกมาจะเป็นไปตามหน้าที่ของกกพ. แต่เชื่อว่าทางฝ่ายนโยบายจะไม่เลือกแนวทางที่ประกาศออกมาอย่างแน่นอน โดยปรับลดต้นทุนต่างๆ ตามที่ก่อนหน้านี้ทางฝ่ายเอกชนได้นำเสนอไปบ้างแล้ว เช่น การจัดสรรก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยให้เหมาะสม ไม่ควรมีกลุ่มธุรกิจใดได้ประโยชน์มากกว่าประชาชน แนวทางการจ่ายหนี้กฟผ. จึงต้องรอดูการตัดสินใจราคาสุดท้ายของฝ่ายนโยบายจะเคาะออกมาเท่าไร เบื้องต้นตนมองว่า ไม่ควรเกินกว่าราคาค่าไฟในงวดปัจจุบันอยู่ที่หน่วยละ 3.99 บาท
อย่างไรก็ตาม ค่าครองชีพจากค่าไฟฟ้า และมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมีความขัดแย้งกันหรือไม่ ในยามที่ประชาชนยังไม่รู้ว่าจะได้รับเงินดิจิทัล วอลเล็ต ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือไม่ หรือหากได้รับเงินจริง ๆ ก็คาดว่าประชาชนจะเริ่มใช้ได้อย่างเร็วน่าจะช่วงเดือนพ.ค. 2567
“ผมขอข้อเสนอปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าที่ ส.อ.ท.เสนอไปทั้งระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว ซึ่งควรจะได้รับการพิจารณาดำเนินการ และชี้แจงจากผู้รับผิดชอบถึงแนวทางหรือความคืบหน้าต่อประชาชน โดยเฉพาะความสามารถนำก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณเป็นไปตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) หรือไม่ ฝ่ายนโยบายยังสามารถเลือกใช้คนเก่ง คนดี ทำงานเชิงรุก สร้างสรรค์ รวมทั้งสามารถสนองนโยบายที่ดี เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเป็นที่ตั้งได้” นายอิศเรศ กล่าว