'สุรพงษ์' สั่งถอดบทเรียนเหตุรถร่วม บขส. จ่อปรับสอบสมรรถนะทุก 1 ปี
"สุรพงษ์" สั่งถอดบทเรียนอุบัติเหตุรถร่วม บขส. จี้ตรวจเข้มผู้ประกอบการทุกรายตรวจสภาพรถ และสุขภาพพนักงาน จ่อปรับทดสอบสมรรถนะการขับรถโดยสารสาธารณะ จาก 3 ปี เป็น 1 ปี
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบจุดเกิดเหตุ รถโดยสารร่วมเอกชน ของ บริษัท ศรีสยาม เดินรถ จำกัด เสียหลักตกข้างทางบริเวณถนนเพชรเกษม กม.331 ตำบลห้วยยาง อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมได้เข้าเยี่ยมและส่งมอบกำลังใจให้ผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บและพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลทับสะแก และโรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์
โดยนายสุรพงษ์ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม มีความห่วงใยต่อเหตุการณ์อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น และได้กำชับให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ร่วมกันดูแลให้ความช่วยเหลือผู้โดยสารอย่างเต็มที่ โดยผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจะได้รับความคุ้มครองจากประกันภัยตามสิทธิ์ ซึ่งกรมการขนส่งทางบก ได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าประจำศูนย์ช่วยเหลือฯ อำนวยความสะดวกในการตรวจสอบการคุ้มครองของประกันภัย ให้กับผู้โดยสารที่ประสบอุบัติเหตุ ณ โรงพยาบาลทั้ง 2 แห่ง
นอกจากนี้ได้ให้ ขบ. และ บขส. ร่วมกับทางสภาวิศวกร, สถาบันยานยนต์ และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ดำเนินการสอบสวนสาเหตุของอุบัติเหตุ โดยทาง AIT จะส่งทีมสอบสวนอุบัติเหตุในสัปดาห์นี้ อย่างไรก็ดี กระทรวงคมนาคมมีเป้าหมายในการลดอุบัติเหตุบนท้องถนน เพื่อลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน โดยการดำเนินการสอบสวนสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุในครั้งนี้ จะเป็นการรวบรวมสถิติ และอุบัติเหตุเคสสำคัญที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เพื่อเป็นข้อเสนอแนะ ในการออกมาตรการและนโยบายของกระทรวงคมนาคม
อีกทั้ง กระทรวงฯ จะถอดบทเรียนจากเหตุครั้งนี้ เพื่อหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำอีกในอนาคต รวมทั้ง บขส. ได้เชิญ AIT เป็นที่ปรึกษา เพื่อประเมิน วิเคราะห์ ตรวจสอบ มาตรการเชิงปฏิบัติการ และความมั่นคงแข็งแรงของรถ Safety Audit ทั้งรถ บขส. และ รถร่วมบริการทั้งหมด
นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อยกระดับการให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัย และตั้งเป้าลดปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน กระทรวงฯ จึงฝากให้ บขส. และ ผู้ประกอบการรถร่วมทุกราย หมั่นตรวจเช็คความพร้อมของรถโดยสารอยู่เสมอ ก่อนนำมาให้บริการ, รถโดยสารทุกคันต้องมีอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย เช่น เข็มขัดนิรภัย ถังดับเพลิง ทางออกฉุกเฉินและค้อนทุบกระจก ติดตั้งเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทาง (GPS) เป็นต้น และแนะนำให้มีการตรวจสุขภาพพนักงานขับรถทุกๆ 6 เดือน เพื่อประเมินความพร้อมและสมรรถนะทางร่างกายของพนักงานขับรถ
นอกจากนี้ ให้ ขบ.พิจารณาปรับการทดสอบสมรรถนะทางด้านการขับขี่ของพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะ จาก 3 ปี เป็น 1 ปี และให้เน้นย้ำให้ผู้ขับขี่รถโดยสารปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ดีหลังจากนี้ กระทรวงคมนาคมจะกำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยในการขับขี่บนท้องถนนเพิ่มเติม โดยจะประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือแนวทางในการออกมาตรการด้านความปลอดภัย ในการขับขี่บนท้องถนน และมีผลบังคับใช้ก่อนถึงเทศกาลปีใหม่ที่จะถึงนี้