‘เทสลา’ รุกเต็มตัวตลาดรถ EV ไทย จ่อตั้งโรงงานผลิตรถ EV – ซัพพลายเชน

‘เทสลา’ รุกเต็มตัวตลาดรถ EV ไทย จ่อตั้งโรงงานผลิตรถ EV  – ซัพพลายเชน

“เศรษฐา” เผย “เทสลา” ลงทุนไทย 100% เร่งหาพื้นที่ลงทุน 2 พันไร่ ดูความพร้อม 3 นิคมอุตสาหกรรม เพื่อตั้งโรงงานEVและซัพพลายเชน หลังรุกตลาดไทยเต็มที่มาตั้งแต่ปี 2565 ส่งรถที่ผลิตจากจีนมาขาย ลดราคาแข่งทำตลาดอีวีไทย นายกฯ มั่นใจดีลใหญ่โรงงานชิป TSMC ไต้หวัน มีโอกาสสูงลงทุนไทย

หลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้หารือกับผู้บริหารของเทสล่า ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ระดับโลกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่เดินทางเยือนสหรัฐในเดือน พ.ย.2566 รวมถึงช่วงที่ผู้บริหารเทสล่าเดินทางมาดูพื้นที่การลงทุนในสัปดาห์ที่ผ่านมา

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “อนาคตเศรษฐกิจไทย” จัดโดยหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับผู้บริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ตอนหนึ่งว่า ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ตระหนักดีอยู่แล้วว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อให้มาลงทุนในไทย 

“เรื่องการดึงการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยระยะหลังมีนักธุรกิจรายใหญ่เข้ามาดูโอกาสการลงทุนในไทยจำนวนมาก”

รวมทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเทสลา เดินทางมาไทย ซึ่งรัฐบาลใช้ความพยายามอย่างมากที่จะทำให้ผู้บริหารเทสล่าหลงรักไทย โดยตั้งแต่ก้าวแรกที่มาถึงไทยได้ดูแลพาไปดูซอฟต์พาวเวอร์ เช่น ประเพณียี่เป็ง จ.เชียงใหม่

‘เทสลา’ รุกเต็มตัวตลาดรถ EV ไทย จ่อตั้งโรงงานผลิตรถ EV  – ซัพพลายเชน

“ผมพาไปเชียงใหม่ด้วยตัวเอง และทีมงานได้พาไปดูนิคมอุตสาหกรรม 3 พื้นที่ ซึ่งผมมีความมั่นใจอย่างมากเรียกได้ว่าเต็ม 100% ว่าเขาจะมาไทยแน่นอน โดยเขากำลังเลือกอยู่ว่าจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ไหน โดยที่ดินที่เขาต้องการพื้นที่ 2,000 ไร่ และไม่ใช่โรงงานประกอบรถยนต์อย่างเดียว แต่จะเป็นการผลิตซัพพลายเชนของเทสล่าทั้งหมดในไทย จะมีการจ้างงานและการลงทุนมหาศาล”

ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ได้ทำงานร่วมกับทีมงาน โดยใช้เวลากับเรื่องนี้มาก เพื่อยกระดับประเทศไทยขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ติดกับรายได้ปานกลาง แต่จะต้องทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมสมัยใหม่

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเยือนบริษัทเทสล่า ณ Tesla Fremont Factory ที่นครซานฟรานซิสโก สหรัฐ เมื่อวันที่ 13 พ.ย.2566 เพื่อหารือเกี่ยวกับการเข้ามาลงทุนในไทย โดยเป็นการหารือระหว่างที่นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมประชุมผู้นำความร่วมมือเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค)

‘เทสลา’ รุกเต็มตัวตลาดรถ EV ไทย จ่อตั้งโรงงานผลิตรถ EV  – ซัพพลายเชน

นอกจากนี้ วันที่ 20 ก.ย.2566 นายเศรษฐา ได้พบกับ อีลอน มัสก์ ผู้บริหารของเทสล่า ผ่านระบบการประชุมทางไกล เกี่ยวกับการลงทุนในไทย ซึ่งเป็นการหารือระหว่างที่นายกรัฐมนตรี ร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญครั้งที่ 78 (UNGA 78) ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐ

ทั้งนี้ ล่าสุดเทสล่าได้เข้ามาจดทะเบียนตั้งบริษัท เทสลา (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 25 เม.ย.2565 และช่วงที่ผ่านมาได้ศึกษาโอกาสขยายการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย

รุกไทยอย่างเป็นทางการ 7 ธ.ค.65

สำหรับเทสล่าเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยด้วยตัวเองในปี 2565 โดยเปิดตัวรถยนต์อย่างเป็นทางการ 2 รุ่น คือ โมเดล 3 และโมเดล วาย ในวันที่ 7 ธ.ค.2565 และได้รับการตอบรับรวดเร็วเพราะเทสล่าเป็นที่รู้จักในไทยที่ต้องการใช้งานรถยนต์พลังงานไฟฟ้า

นอกจากนี้การมาของเทสล่า ทำให้ลูกค้าสามารถซื้อรถได้ในราคาที่ต่ำกว่ารถที่นำเข้าโดยผู้นำเข้าอิสระก่อนหน้านี้หลักล้านบาทในบางรุ่น ทำให้ลูกค้าที่อยากได้ ไม่ลังเลใจที่จะซื้อ

โดยการเปิดตัวครั้งนั้น เทสล่า โมเดล 3 รถในรูปแบบ ซีดาน มี 3 รุ่นย่อย คือ

  • รุ่นเริ่มต้น ขับเคลื่อนล้อหลัง ราคา 1.759 ล้านบาท
  • รุ่น Long Range มอเตอร์คู่ ขับเคลื่อน 4 ล้อ 1.999 ล้านบาท และ
  • รุ่น Performance มอเตอร์คู่ ขับเคลื่อน 4 ล้อ ราคา 2.309 ล้านบาท

ขณะที่ เทสล่า โมเดล วาย รถรูปแบบ เอสยูวี มี 3 รุ่นย่อยประกอบด้วย

  • รุ่นเริ่มต้น ขับเคลื่อนล้อหลัง ราคา 1.959 ล้านบาท
  • รุ่น Long Range มอเตอร์คู่ ขับเคลื่อน 4 ล้อ ราคา 2.259 ล้านบาท และ
  • รุ่น Performance มอเตอร์คู่ ขับเคลื่อน 4 ล้อ ราคา 2.509 ล้านบาท

โดยช่วง 24 ชั่วโมง หลังเปิดให้จอง เทสล่ามียอดจองมากกว่า 4,000 คัน และไม่ถึง 1 เดือน ตั้งแต่เปิดตัวจนถึงสิ้นปี 2565 มียอด 7,739 คัน

นำเข้าจากจีนใช้สิทธิการค้าเสรีอาเซียน-จีน 

ทั้งนี้รถที่เทสล่าทำตลาดในไทย เป็นการนำเข้าจากโรงงานผลิตในจีนทำให้ไม่เสียภาษีนำเข้า แม้ว่าเทสล่า จะไม่ได้ร่วมมาตรการส่งเสริมการใช้งานอีวีระยะเร่งด่วนจากภาครัฐก็ตาม แต่ใช้สิทธิจากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ที่ภาษีนำเข้าอีวีระหว่างกันเป็น 0%

อย่างไรก็ตามรูปแบบการทำตลาดของ เทสล่า ในช่วงแรกเน้นช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ไม่มีโชว์รูมและศูนย์บริการ โดยจะติตต่อกันผ่านทางออนไลน์ทั้งการ จองรถ ทำธุรกิจ และนัดหมายส่งมอบรถ

แม้รูปแบบจะเปลี่ยนแปลงไปจากการทำตลาดรถปกติ แต่ก็ดูเหมือนจะได้รับการยอมรับจากลูกค้า โดยส่วนหนึ่งมองว่าเป็นแนวทางการตลาดยุคใหม่ ขณะที่ด้านการบริการหลังการขาย ก็มองว่ารถยนต์ไฟฟ้ามีการซ่อมบำรุงที่น้อยกว่าที่มีเครื่องยนต์

แต่หลังจากนั้น เทสล่า ก็ขยับตัวด้านการบริการหลังการขาย แต่ไม่ได้ลงทุนเอง แต่เป็นการให้สิทธิกับศูนย์ซ่อมบำรุงรักษา

โดยเทสล่า ใช้พื้นที่ในห้างพาซิโอ ถนนรามคำแหง เป็นศูนย์ส่งมอบ และแก้ไขปัญหาบางอย่างที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่เกี่ยวกับเรื่อง ซอฟท์แวร์

จากนั้นต้นปี 2566 เทสล่า ขยับตัว ด้วยการลงทุนเปิดสถานี Supercharger แห่งแรกในไทยในเดือน ก.พ.ที่เซ็นทรัลเวิลด์ รวม 9 ตู้ เพื่อรองรับลูกค้าชาร์จเร็วใช้เวลา 15 นาที ขับขี่ได้สูงสุด 308 กม. และตั้งเป้าหมายขยายเพิ่มให้ได้อย่างน้อย 13 แห่งภายในปีนี้

จับมือ“เอมเอ็มเอส”ดูแลบริการ-ซ่อม

จากนั้นเทสล่าขยับตัวด้านการบริการหลังการขาย ช่วงเดือน เม.ย.แต่ไม่ได้ลงทุนเอง โดยแต่งตั้งให้ มาสเตอร์ มอเตอร์ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) ธุรกิจศูนย์บริการรถยนต์ครบวงจร “เอ็มเอ็มเอส บ๊อช คาร์ เซอร์วิส แอนด์ ไทร์” ในเครือ บริษัท มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็มจีซี-เอเชีย เป็นตัวแทนบริการ รวมถึงการสร้างศูนย์ซ่อมสีและตัวถังแห่งแรกของเทสล่า ใช้งบประมาณ 7-10 ล้านบาท

ก่อนที่วันที่ 4 ส.ค.2566 เทสล่า จึงมี Tesla Center เป็นแห่งแรกในไทย ที่ถนนรามคำแหง โดยศูนย์แห่งนี้ครอบคลุมทั้งโชว์รูม ศูนย์ซ่อมรถ และสถานที่ส่งมอบรถ

และล่าสุดในงานมหกรรมยานยนต์ครั้งที่ 40 ซึ่งเริ่มต้นสำหรับรอบสื่อมวลชนวันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา เทสล่า ประกาศแผนขยายเครือข่ายการบริการหลังการขาย ด้วยการเปิดศูนย์บริการซ่อมสีและตัวถังเพิ่มเติมอีก 2 แห่งภายในสิ้นปี 2566 นี้ รวมถึงขยายระบบเครือข่าย Supercharger เพิ่มอีก 2 แห่ง ในภาคเหนือหนึ่งในนั้นคือเชียงใหม่ภายในสิ้นปีนี้ ก่อนที่ปี 2567 จะขยายไปภูมิภาคอื่น รวมถึงภาคใต้

ด้านผลิตภัณฑ์ในงานนี้ เทสล่ามีรถโชว์พร้อมจำหน่าย 2 รุ่น คือ

  • โมเดล 3 รุ่นปรับโฉม ราคาเริ่มต้น 1.599 ล้านบาท และ
  • โมเดล วาย ราคาเริ่มต้น 1.699 ล้านบาท

ซึ่งจะสังเกตได้ว่าเป็นราคาที่ต่ำกว่าช่วงเปิดตัวปลายปี 2565 ทั้งนี้เพราะตั้งแต่เปิดตัว เทสล่า ปรับลดราคาลงมาหลายครั้ง สอดคล้องกับทิศทางในตลาดโลกที่ปรับราคาลงมาเช่นกัน

กล่อมค่ายรถญี่ปุ่นขยายลงทุน

นายเศรษฐา กล่าวว่า สำหรับการเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นในวันที่ 16-18 ธ.ค.2566 จะหารือค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทยโดยไทยมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนรถยนต์สันดาปซึ่งเป็นตลาดที่ยังมีดีมานต์ใน10-15 ปีข้างหน้า โดยนโยบายนี้จะให้ค่ายรถญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตมาอยู่ไทย แต่มีเงื่อนไขย้ายมาผลิตเพื่อส่งออกและห้ามผลิตขายในประเทศเพราะจะมีผลกับการลดคาร์บอนไดออกไซด์ในไทย

ส่วนในไทยให้เป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาเป็นรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์ที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงเพื่อให้สอดคล้องนโยบายลดคาร์บอนในไทย

นายเศรษฐา กล่าวว่าส่วนการเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA ) ของไทยล่าช้ามาก โดยในรอบ 9 ปีไม่มีเลย ซึ่งเรื่องนี้เวียดนามแซงไทยไปมากแล้วก็ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับค่าแรง 400 บาทต่อวันที่ทำให้นักลงทุนไปเวียดนามกันมาก แต่เป็นเรื่อง FTA ที่เรามีน้อยซึ่งรัฐบาลนี้ถือเป็นภารกิจที่สำคัญที่จะต้องทำในเรื่องนี้ ต้องเอาสนธิสัญญาการค้ากลับมาให้ได้เพื่อให้เราเป็นแหล่งเศรษฐกิจและการค้าที่ทันสมัยให้ได้

นายกฯเร่งดึงลงทุนชิปต้นน้ำ

นายเศรษฐา กล่าวว่า กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ วงเงิน 1 แสนล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้มุ่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการผลิต โดยส่วนหนึ่งของแผนการใช้จะดึงผู้ผลิตไมโครชิประดับโลกมาลงทุนในไทย ซึ่งเป้าหมายขณะนี้ คือ บริษัท TSMC ของไต้หวัน ซึ่งเป็นบริษัทใหญ่ที่สุดในโลก 

รวมทั้งขณะนี้ไมโครชิปเป็นหัวใจและสมองกลของเทคโนโลยีขั้นสูงสมัยใหม่ ซึ่งการผลิตกว่า 80% ของโมโครชิปทั่วโลกอยู่ที่ไต้หวัน โดยปัญหาความสัมพันธ์ทั้งไต้หวันกับจีน รวมถึงไต้หวันกับสหรัฐ เป็นสิ่งที่ทุกคนทราบจึงมีโอกาสย้ายฐานการผลิตออกนอกไต้หวัน

ในขณะที่สหรัฐมีการให้สิทธิประโยชน์ผู้ได้รับสิทธิ์เป็นประเทศรับการลงทุนโรงงานไมโครชิปที่จะย้ายออกจากไต้หวัน ซึ่งรัฐบาลมั่นใจเพราะมีสายตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐ (จีนา ไรมอนโด) ซึ่งมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจว่าโรงงานไมโครชิปจะย้ายออกมาตั้งที่ไทยอย่างไร

“เป็นโอกาสของไทยในการดึงการลงทุน เพราะไทยคงไว้ซึ่งความเป็นกลาง เราไม่โอนเอียงไปสหรัฐหรือจีน จีนนั้นเหมือนพี่ใหญ่ สหรัฐนั้นเหมือนบิ๊กบอร์ส ซึ่งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเราต้องใช้ความได้เปรียบของไทยในส่วนนี้ดึงการลงทุนมาให้ได้ เรามั่นใจว่าลักษณะการทูตของไทยระหว่างจีน สหรัฐและไต้หวัน ทำให้ไทยมีโอกาสจากการที่เป็นมิตรทุกฝ่าย”

นายเศรษฐา กล่าวว่า การมีโรงงานไมโครชิปชั้นนำมาตั้งในไทยเป็นสารตั้งต้นที่จะทำให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมไฮเทค โดยการดึงโรงงานระดับนี้เข้ามาตั้งในไทยต้องมีการอุดหนุน (subsidy) หลายระดับ เช่น การให้ที่ดินฟรี สิทธิ์ประโยชน์ด้านภาษี เงินกินเปล่าในการลงทุนที่ต้องให้สูงถึง 30-50% ของมูลค่าการลงทุน 

ทั้งนี้ หากไทยไม่มีเครื่องมือแบบนี้จะสู้อินโดนิเซียและเวียดนามไม่ได้ และถ้าไทยไม่มีโรงงานไมโครชิปจะทำให้บริษัทชั้นนำไม่เลือกมาลงทุนในไทย ซึ่งจะทำให้ไทยจมกับเศรษฐกิจ Low margin และ Low Tech โดยนโยบายเช่นนี้ไม่ใช่ระยะสั้นแต่เป็นนโยบายระยะยาวที่รัฐบาลกำลังมองหาการลงทุนสำคัญเข้ามาไทย