ผ่ากลยุทธ์ ‘เศรษฐา’ ดึง 2 ยักษ์ลงทุนไทย ‘Tesla’ – ‘TSMC’ รถ EV - ไมโครชิป ระดับโลก

ผ่ากลยุทธ์ ‘เศรษฐา’ ดึง 2 ยักษ์ลงทุนไทย  ‘Tesla’ – ‘TSMC’ รถ EV - ไมโครชิป ระดับโลก

ผ่ากลยุทธ์ “เศรษฐา” ดึงยักษ์ใหญ่ Tesla - TSMC เผยTesla หาพื้นที่ลงทุน 2 พันไร่ ตั้งโรงงาน เผยดีลใหญ่ดึงTSMC ผลิตไมโครชิปในไทย เตรียมเงินจากกองทุนเสริมขีดความสามารถแข่งขัน  มั่นใจคอนเนคชั่นกับ รมว.พาณิชย์สหรัฐฯ ดันการผลิตในไทยขึ้นสู่ไฮเทคโนโลยี หนีคู่แข่งในอาเซียน

วานนี้ (7 ธ.ค.)นายเศรษฐา  ทวีสิน  นายกรัฐมนตรี และรมว.คลังกล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “อนาคตเศรษฐกิจไทย” จัดโดยหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับผู้บริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ความตอนหนึ่งว่าช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาก็เป็นที่ตระหนักดีอยู่แล้วว่ารัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อให้มาลงทุนในประเทศไทย เรื่องของการดึงการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยระยะหลังๆมีนักธุรกิจรายใหญ่ๆเข้ามาดูโอกาสการลงทุนในประเทศไทยจำนวนมาก

Tesla ดูพื้นที่ลงทุน 2 พันไร่ 

โดยสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเทสลาเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งผมก็ใช้ความพยายามอย่างมากที่จะทำให้เขาหลงรักประเทศไทย ซึ่งตั้งแต่ก้าวแรกที่เขาเข้ามาประเทศไทยนั้นเราก็ดูแลพาเขาไปดูซอฟต์พาวเวอร์ เช่น ประเพณียี่เป็งที่จ.เชียงใหม่ด้วย ซึ่งตนพาไปดูด้วยตัวเอง และทีมงานได้พาไปดูนิคมอุตสาหกรรม 3 พื้นที่ ซึ่งตนเองมีความมั่นใจอย่างมากเรียกได้ว่าเต็ม 100% ว่าเขาจะมาประเทศไทยแน่นอน โดยเขากำลังเลือกอยู่ว่าจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ไหน โดยที่ดินที่เขาต้องการคือ 2,000 ไร่ และไม่ใช่เป็นโรงงานประกอบรถยนต์อย่างเดียวแต่จะเป็นการผลิตซัพพลายเชนของเขาทั้งหมดในประเทศไทยด้วย จะมีการจ้างงาน และการลงทุนมหาศาล

ผ่ากลยุทธ์ ‘เศรษฐา’ ดึง 2 ยักษ์ลงทุนไทย  ‘Tesla’ – ‘TSMC’ รถ EV - ไมโครชิป ระดับโลก

“ใน3 เดือนที่ผ่านมาผมและทีมงานใช้เวลาไปกับเรื่องนี้จำนวนมากในการยกระดับประเทศไทยขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ไม่ใช่ติดกับรายได้ปานกลาง เราจะต้องทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมสมัยใหม่”นายเศรษฐา กล่าว

เป้าหมายอันดับหนึ่งดึง TSMC ลงทุนไทย

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศวงเงิน 1 แสนล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ได้มุ่งไปที่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการผลิตของประเทศโดยส่วนหนึ่งของแผนการใช้เงินในโครงการนี้คือการดึงบริษัทผู้ผลิตไมโครชิประดับโลกมาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งเป้าหมายตอนนี้คือบริษัท TSMC ของไต้หวัน ซึ่งเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลก และขณะนี้เรื่องของไมโครชิปถือเป็นหัวใจและสมองกลของเทคโนโลยีขั้นสูงสมัยใหม่ ซึ่งการผลิตกว่า 80% ของโมโครชิปทั่วโลกนั้นอยู่ที่ไต้หวัน ซึ่งปัญหาความสัมพันธ์ทั้งไต้หวันกับจีนและไต้หวันกับสหรัฐฯเป็นสิ่งที่ทุกคนทราบกันอยู่ซึ่งทำให้มีโอกาสที่จะเกิดการย้ายฐานการผลิตออกนอกไต้หวัน  

เผยมีคอนเน็กชั่นกับรมว.พาณิชย์สหรัฐฯ

โดยสหรัฐฯนั้นถือว่าเป็นเจ้าภาพในการที่จะแจกผลประโยชน์ว่าใครจะเป็นผู้ได้รับสิทธิ์ให้เป็นประเทศที่รับการลงทุนโรงงานไมโครชิปที่จะย้ายออกจากไต้หวันซึ่งตนเองก็มั่นใจเพราะมีสายตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ (จีนา ไรมอนโด) ซึ่งจะเป็นคนมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจว่าโรงงานไมโครชิปจะย้ายออกมาตั้งที่ไทยแบบไหนอย่างไร

 

“เป็นโอกาสของประเทศไทยในการดึงการลงทุนเพราะประเทศไทยนั้นคงไว้ซึ่งความเป็นกลาง เราไม่ได้โอนเอียงไปทางสหรัฐฯหรือจีน จีนนั้นเหมือนพี่ใหญ่ สหรัฐฯนั้นเป็นเหมือนบิ๊กบอร์ส ซึ่งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเราก็ต้องใช้ความได้เปรียบของไทยในส่วนนี้ดึงการลงทุนมาให้ได้ เรามั่นใจว่าลักษณะการทูตของเราที่มีระหว่างจีน สหรัฐ และไต้หวันทำให้เรามีโอกาสจากการที่เราเป็นมิตรกับทุกฝ่าย”

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่าการที่จะมีโรงงานไมโครชิปชั้นนำที่เข้ามาตั้งในประเทศไทยนั้นถือเป็นสารตั้งต้นที่จะทำให้เกิดการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคในประเทศไทย

เตรียมกองทุนเพิ่มขีดสามารถแข่งขันอุดหนุนการลงทุน

อย่างไรก็ตามการที่จะดึงเอาโรงงานระดับนี้เข้ามาตั้งในประเทศไทยต้องมีการอุดหนุน (subsidy) ในหลายระดับ เช่น การให้ที่ดินฟรี ต้องให้สิทธิ์ประโยชน์ด้านภาษี เงินกินเปล่าในการลงทุนที่เราต้องให้กับบริษัทเหล่านี้นั้นสูงถึง 30 – 50% ของมูลค่าการลงทุน ซึ่งหากประเทศไทยไม่มีเครื่องมือแบบนี้เราก็สู่อินโดนิเซียไม่ได้ สู้เวียดนามไม่ได้ในการแข่งขัน แล้วถ้าเราไม่มีโรงงานไมโครชิปนั้นโรงงานต่างๆที่เป็นธุรกิจชั้นนำก็จะไม่เลือกเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ประเทศไทยก็ต้องจมปลักกับเศรษฐกิจที่มี Low margin และ Low Tech ต่อไป โดยนโยบายแบบนี้ไม่ใช่เรื่องของนโยบายระยะสั้น แต่เป็นนโยบายระยะยาวที่รัฐบาลกำลังมองหาการลงทุนที่สำคัญที่จะดึงเข้ามาในประเทศไทย

นายเศรษฐากล่าวต่อว่าในส่วนของเรื่องการเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA ) ของไทยกับต่างประเทศเราล่าช้าไปมาก เรียกได้ว่าไม่มีเลยในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา ตอนนี้เวียดนามแซงเราไปมากในเรื่องนี้ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับค่าแรง 400 บาทต่อวันที่ทำให้นักลงทุนไปเวียดนามกันมาก แต่เป็นเรื่อง FTA ที่เรามีน้อยซึ่งรัฐบาลนี้ถือเป็นภารกิจที่สำคัญที่จะต้องทำในเรื่องนี้ ต้องเอาสนธิสัญญาการค้ากลับมาให้ได้เพื่อให้เราเป็นแหล่งเศรษฐกิจและการค้าที่ทันสมัยให้ได้

 

คุยค่ายรถญี่ปุ่นโยกการผลิตมาไทยเพื่อส่งออก

สำหรับการเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นในระหว่างวันที่ 16 – 18 ธ.ค.นี้นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าจะมีการหารือกับค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่มีการลงทุนอยู่ในประเทศไทยว่าประเทศไทยมีนโยบายสนับสนุนสำหรับดึงดูดการลงทุนที่เป็นรถยนต์สันดาปซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่ยังมีดีมานต์อยู่ในระยะ 10 -15 ปีข้างหน้า โดยนโยบายนั้นจะให้ค่ายรถญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตจากประเทศต่างๆมาอยู่ในประเทศไทย แต่เงื่อนไขคือโรงงานที่ย้ายมาใหม่ให้ผลิตเพื่อส่งออกเท่านั้นห้ามผลิตเพื่อขายในประเทศเพราะจะมีผลกับการลดคาร์บอนไดออกไซด์ในประเทศไทย ส่วนในประเทศไทยนั้นให้เป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาเป็นรถไฟฟ้า (อีวี) หรือรถยนต์ที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายลดคาร์บอนในประเทศไทย