ส่องคืบหน้ามาตรการปรับราคาก่อนข้ามพรมแดนสหรัฐ
ไทย อ่วม หากสหรัฐออกกฏหมาย “มาตรการปรับราคาก่อนข้ามพรมแดน”พุ่งเป้าดูแล Climate Change คลอบคลุมสินค้านำเข้า เกือบ 200 รายการ " สคต.ชิคาโก "สหรัฐ เผย กลุ่มสินค้าเหล็ก อะลูมิเนียม พลาสติก ซีเมนต์ กระดาษ และแก้ว ของไทยได้รับผลกระทบสูง มูลค่ากว่า 5 พันล้านดอลลาร์
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิศาสตร์หรือ Climate Change กลายเป็นเรื่องสำคัญในเวทีการค้าโลก หลายประเทศออกมาตรการเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยอย่างสหรัฐ ที่มีนโยบายสนับสนุนและให้ความสําคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังจะเห็นได้จากการที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ประกาศและลงนามในแผนนโยบายประเทศระยะยาวกําหนดให้สหรัฐฯ ลดระดับการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas) ให้มี ปริมาณสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี พ.ศ. 2593
โดยได้มีการผลักดันร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนนโยบาย ปัจจุบันสหรัฐกำลังอยู่ในระหว่างการออก ร่างรัฐบัญญัติที่เกี่ยวมาตรการปรับราคาก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism) สหรัฐฯ ประกอบด้วย
1. ร่างรัฐบัญญัติ Tthe Providing Reliable, Objective, Verifiable Emission Intensity and Transparency (PROVE IT) Actหรือ PROVE IT Act โดยร่างรัฐบัญญัติฉบับดังกล่าวจะนําไปสู่การบังคับใช้มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM) สําหรับสินค้านําเข้าที่ปลดปล่อย คาร์บอนในปริมาณสูงจากประเทศผู้ผลิตในต่างประเทศ
โดยสินค้าที่เสนอภายใต้ร่างรัฐบัญญัติ ได้แก่ อะลูมิเนียม ผลิตภัณฑ์จากอะลูมิเนียม ผลิตภัณฑ์จากซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า ผลิตภัณฑ์จากพลาสติก เชื้อเพลิงชีวภาพ ซีเมนต์ น้ำมันดิบ ปุ๋ย แก้ว ไฮโดรเจน เหล็กและเหล็กกล้า แบตเตอรีลิเธียม ก๊าซธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี พลาสติก เยื่อกระดาษ แร่ธาตุกลั่น ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมกลั่น เซลล์และแผงผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ ยูเรเนียม โดยอยู่ระหว่าการนําเสนอต่อวุฒิสมาชิก ( ที่มา: congress.gov)
2. ร่างรัฐบัญญัติ the Foreign Pollution Fee Act เสนอโดย Mr. Bill Cassidy เสนอให้นํามาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนมาใช้กับกลุ่มสินค้านําเข้าจากประเทศที่ปลดปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูง โดยมุ่งเป้าสินค้านําเข้าจากประเทศจีนและประเทศอื่นๆ ที่อุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศปลดปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกออกสู่สิ่งแวดล้อมในปริมาณสูง
สินค้าที่เสนอภายใต้ร่างรัฐบัญญัติ ได้แก่ อะลูมิเนียม เชื้อเพลิงชีวภาพ ซีเมนต์ น้ำมันดิบ ไฮโดรเจน แมธานอล หรือ แอมโมเนีย เหล็กและเหล็กกล้า แบตเตอรี ลิเธี ยม แร่ธาตุ ก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเคมี พลาสติก เยื่อกระดาษ ปิโตรเลียมกลั่น เซลล์และแผงพลังงานแสงอาทิตย์ และกังหันลม
นางสุปรารถนา กมลเวชช ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก (ผอ.สคต.)สหรัฐ กล่าวว่า ร่างรัฐบัญญัติ the PROVE IT Act จะให้ความสําคัญกับการศึกษาข้อมูลอุตสาหกรรมที่การผลิตกลุ่มสินค้าที่ส่งผลกระทบสูง โดยเสนอให้กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ (Department of Energy) เป็นหน่วยงานเจ้าภาพในการศึกษาและเผยแพร่ข้อมูลเพื่อนําไปสู่การพิจารณาบังคับเรียกเก็บภาษีสินค้าที่ปลดปล่อยคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมาก
ขณะที่ร่างรัฐบัญญัติ the Foreign Pollution Fee Actจะให้ความสําคัญกับการบังคับเรียกเก็บภาษีนําเข้าสินค้ากลุ่มที่ปลดปล่อยคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมาก โดยเสนอให้สหรัฐฯ แก้ไขรัฐบัญญัติ the Internal Revenue Code 1986 เพื่อเรียกเก็บภาษีหรือค่าปรับสินค้านําเข้าที่มีส่วนในการปลดปล่อยคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมาก
ปัจจุบันสถานะของร่างรัฐบัญญัติทั้ง 2 ฉบับยังอยู่ในขั้นตอนของการเสนอต่อวุฒิสภา ซึ่งร่างรัฐบัญญัติดังกล่าวเป็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนมากและอาจจะส่งผลกระทบต่อสภาวะทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ต้องพึ่งพาอาศัยการนําเข้าสินค้ากลุ่มวัตถุดิบในกลุ่มที่อยู่ในข่ายของรัฐบัญญัติดังกล่าวจากประเทศผู้ผลิตทั่วโลก ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่รัฐบัญญัติดังกล่าวอาจจะตกไปในขั้นตอนของการพิจารณา
ประกอบกับ สหรัฐฯ มีกําหนดการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพ.ย. 2567 ฝ่ายรัฐบาลจะดําเนินนโยบายทางเศรษฐกิจอย่างระมัดระวังเพื่อรักษาฐานคะแนนเสียงจากกลุ่มผู้ประกอบการภายในประเทศซึ่งเป็นกลุ่มสําคัญที่จะช่วยให้สามารถรักษาโอกาสในการกลับมาเป็นรัฐบาลในสมัยต่อไป หากร่างรัฐบัญญัติดังกล่าวผ่านขั้นตอนการพิจารณาบังคับใช้เป็นรัฐบัญญัติอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่เสียประโยชน์และส่งผลกระทบต่อฐานเสียงพรรคได้ ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่กฎหมายดังกล่าวจะถูกชะลอหรือตกไปพร้อมกับสภาคองเกรสสมัยปัจจุบันที่จะสิ้นลงในต้นเดือนม.ค.2568
อย่างไรก็ตามหากพิจารณารายละเอียดร่างรัฐบัญญัติดังกล่าวมีสินค้าที่เข้าข่ายภายใต้รัฐบัญญัติดังกล่าวถึงเกือบ 200 รายการ ทั้งนี้ในช่วงระหว่างเดือนม.ค.- ก.ย.2566 สหรัฐฯ นําเข้าสินค้ากลุ่มดังกล่าวจากประเทศผู้ผลิตทั่วโลกเป็นมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 3.40 แสนล้านดอลลาร์ โดยนําเข้าสูงสุดจากแคนาดา 34.99 % จีน 10.40% เม็กซิโก 10.04% เกาหลีใต้ 3.31% บราซิล 2.86% ซาอุดิอาระเบีย 2.74 % เยอรมนี 2.67% เวียดนาม 2.28% อินเดีย 1.76% และไต้หวัน 1.74% ส่วนไทย สหรัฐฯ นําเข้าสินค้ากลุ่มดังกล่าวเป็นมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์ หรือ อันดับที่ 12 คิดเป็นสัดส่วน 1.58% ของมูลค่าการนําเข้าทั้งหมด
“หากสหรัฐฯ สามารถผลักดันร่างรัฐบัญญัติและดําเนินมาตรการปรับราคาก่อนข้ามพรมแดนสินค้านําเข้าจากต่างประเทศได้จริงก็จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยและกระทบต่อภาคการส่งออกไทยได้ โดยกลุ่มสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ เป็นมูลค่ามากและมีโอกาสได้รับผลกระทบสูง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม ผลิตภัณฑ์พลาสติก ซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์กระดาษ และผลิตภัณฑ์แก้ว ”นางสุปรารถนา
ทั้งนี้ในส่วนของไทย ผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยก็ควรที่จะพิจารณาติดตามสถานการณ์เพื่อเตรียมการวางแผนปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในตลาดการค้าระหว่างประเทศที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต