นายกฯ ดึงตำรวจ - ฝ่ายปกครองแก้หนี้นอกระบบ

นายกฯ ดึงตำรวจ - ฝ่ายปกครองแก้หนี้นอกระบบ

นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เศรษฐา ทวีสิน เป็นประธานการประชุมมอบนโยบาย และแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ให้กับนายอำเภอ ตำรวจทั่วประเทศ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่ร่วมกันขับเคลื่อนการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอย่างจริงจัง และวันนี้ตนไม่ได้เชิญทุกท่านมากระชับอำนาจให้ตน เพียงจะมาขอแรงจากทุกคน ทำประโยชน์ให้พี่น้องประชาชน มาช่วยกันทำให้การค้าทาสในยุคใหม่หมดไปจากประเทศไทยด้วยกัน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ ที่พวกเราทุกคนจะต้องมาร่วมแรงร่วมใจกัน แก้ไขปัญหานี้ให้กับประชาชน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินที่สูงอย่างไม่เป็นธรรม การทวงถามหนี้ที่มีลักษณะคุกคามขู่เข็ญหรือใช้กำลังประทุษร้าย ส่งผลต่อการใช้ชีวิต และความสงบเรียบร้อยของสังคม ก่อนย้ำว่านี่ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาเพื่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล ของตนหรือของหน่วยงานท่าน แต่นี่คือ การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ให้สามารถฟื้นกลับมาใช้ชีวิตโดยไม่ต้องหวาดระแวง และมีรอยยิ้มได้โดยทั่วกัน

สำหรับกระบวนการเกี่ยวกับการร้องเรียน ช่องทางแรกคือ กระทรวงมหาดไทยได้เปิดให้มีการลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบผ่านศูนย์ดำรงธรรม ทั้งในระดับจังหวัด และระดับอำเภอ รวมถึงเบอร์ติดต่อ 1567 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม ที่ผ่านมา นอกจากนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็มีศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สายด่วน 1599 ในส่วนของสำนักนายกรัฐมนตรี ก็มีศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สายด่วน 1111 ที่ประชาชนทั่วประเทศสามารถร้องเรียนความเดือดร้อนปัญหาหนี้นอกระบบได้ ซึ่งสำหรับประชาชนที่ลงทะเบียนจะได้รับเลข Reference Number เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง สามารถติดตามความคืบหน้า หรือสถานการณ์การดำเนินการที่ได้ร้องเรียนไว้บนเว็บไซต์ของภาครัฐได้ตลอดเวลา 

และหากการดำเนินการทั้งหมดรัฐบาลจะมีการติดตามผล หากยังพบปัญหา ไม่สามารถดำเนินการตามสัญญาฉบับใหม่ได้ ก็จะขอเชิญเจ้าหนี้ และลูกหนี้เข้ามาร่วมกันแก้ไขข้อตกลงให้เหมาะสมกันอีกครั้งหากพบว่ายังมีการข่มขู่ หรือเจ้าหนี้ไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญาไกล่เกลี่ยฯ จนเป็นเหตุให้ลูกหนี้เดือดร้อน พนักงานฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องร่วมกันบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ยังระบุถึงขั้นตอนในทางปฏิบัติว่ามีความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็น “การไกล่เกลี่ยประนีประนอมข้อพิพาท” ซึ่งเป็นทั้งศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณ การคิดดอกเบี้ยหนี้สิน และเป็นทั้งศิลป์ ที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ อาจใช้ “ไม้อ่อน” ในการเชิญชวนเพื่อให้สมัครใจเข้ามาสู่กระบวนการ และในหลายๆ ครั้ง ท่านอาจจะต้องเป็นผู้ใช้อำนาจตามกฏหมายในการบังคับ ซึ่งเป็น “ไม้แข็ง” ในการนำเจ้าหนี้หรือลูกหนี้เข้าสู่ระบบ 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์