เปิดยุทธศาสตร์โลจิสติกส์ อีสานตอนบนเชื่อม “อีอีซี”
รัฐบาลได้จัดการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ณ จังหวัดหนองบัวลําภู ระหว่างวันที่ 3-4 ธ.ค.2566 เพื่อติดตามการดําเนินงานตามนโยบายรัฐบาล และปัญหาในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ประกอบด้วย บึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลําภู อุดรธานี
สำหรับพื้นที่ดังกล่าวมีศักยภาพโดดเด่นหลายด้าน โดยมีแหล่งท่องเที่ยวหลายหลากทั้งเชิงประวัติศาสตร์ เชิงธรรมชาติ เชิงศรัทธา ความเชื่อและวัฒนธรรม และมีจุดยุทธศาสตร์เชื่อมโยง 3 ประเทศ ได้แก่ ลาว เวียดนามและจีน
รัฐบาลได้สรุปประเด็นการประชุม ครม.สัญจร ครั้งนี้ โดยมีข้อเสนอโครงข่ายคมนาคมและโลจิสติกส์เชื่อมประเทศเพื่อนบ้านทําให้เป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุนการค้าชายแดน และ ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC) รวมทั้งมีพื้นที่ที่มีศักยภาพในการผลิตสินค้าทางการเกษตรหลากหลาย ซึ่งกําหนดวัตถุประสงค์และทิศทางการพัฒนาในอนาคตระยะ 5 ปี (2566-2570) ดังนี้
1.เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
2.เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางการเกษตร การค้า การลงทุนการค้าชายแดน และการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
3.รักษาสมดุลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
4.เสริมสร้างความมั่นคงและยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตสู่สังคมที่มีความสุข
ทั้งนี้ มีเป้าหมาย คือ “ศูนย์กลางการท่องเที่ยวของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์เกษตรอุตสาหกรรมมูลค่าสูง เมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน” มีทิศทางการพัฒนาที่เน้นการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน ให้ความสําคัญกับการสร้างโอกาส การสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่ม การใช้ศักยภาพของพื้นที่ในการพัฒนาเศรษฐกิจ เชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคม การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว โดยมีประเด็นการตรวจราชการสําคัญ 4 ประเด็น ประกอบด้วย
1.การแก้ไขปัญหาความยากจน 2.การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด 3.การแก้ไขปัญหาภาคการเกษตร 4.การแก้ไขปัญหาที่ดินทํากิน นํามาซึ่งประเด็นและวาระการพัฒนากลุ่มจังหวัด ผ่านการจัดประชุมของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดร่วมกับคณะกรรมการบริหารงานกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.ก.) คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.)
สำหรับข้อเสนอด้านการพัฒนาโครงข่ายเส้นทางคมนาคม เพื่อรองรับและเชื่อมโยงการท่องเที่ยว การค้าและการลงทุนในกลุ่มจังหวัด 4 โครงการ อาทิ โครงการการศึกษาระบบโลจิสติกส์และวางแผนการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 สู่ NeEC และเชื่อมโยงภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
รวมทั้งมีข้อเสนอด้านการศึกษาความเหมาะสมการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดบึงกาฬและจังหวัดหนองบัวลําภู
ส่วนจังหวัดอุดรธานี มีข้อเสนอการผลักดันและเร่งรัดการดําเนินโครงการการขอขยายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคายให้ครอบคลุมพื้นที่เขตนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีเพื่อให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ได้รับสิทธิประโยชน์เท่ากับผู้ประกอบการในเขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย
รวมทั้งการส่งเสริม Logistics Park ในนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ให้เป็น One Stop Service (OSS) โดยขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานเกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมศุลกากร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา และ BOI
นอกจากนี้ มีข้อเสนอเพิ่มเติมจากภาคเอกชนกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 เพื่อเสนอ ครม.สัญจร ดังนี้
จังหวัดหนองคาย เสนอการเร่งรัดลงทุนการสร้าง Container Yard ให้แล้วเสร็จ เพื่อการรองรับการขยายตัวการขนส่งสินค้าทางรางของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
จังหวัดอุดรธานี เสนอให้เร่งรัดการจัดตั้งศูนย์ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service : OSS) ให้เสร็จภายในปี 2567 เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าช้ายแดน/ผ่านแดน แบบครบวงจร ณ จังหวัดอุดรธานี
รวมถึงเสนอขยายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคายให้ครอบคลุมพื้นที่เขตนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เพื่อให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ได้รับสิทธิประโยชน์เท่ากับผู้ประกอบการในเขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย
และส่งเสริม Logistics Park ในนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ให้เป็น OSS โดยขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมศุลกากร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)