’BOI’ ชู 2 อาวุธใหม่ ไทยดึงลงทุน 'พลังงานสะอาด' - สิทธิประโยชน์มาตรฐาน ‘OECD’

’BOI’ ชู 2 อาวุธใหม่ ไทยดึงลงทุน  'พลังงานสะอาด' - สิทธิประโยชน์มาตรฐาน ‘OECD’

BOI เปิด 2 จุดเด่นไทยดึงคลื่นลงทุนรอบใหม่ “พลังงานสะอาด-สิทธิประโยชน์ตามเกณฑ์ OECD” หลังนายกฯ โรดโชว์ดึงยักษ์ใหญ่ลงทุน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์ และ EV เร่งปรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนตามเกณฑ์ OECD ลดหย่อนแทนยกเว้น เร่งดึงบริษัทใหญ่ตั้งเฮดควอเตอร์ในไทย

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ประกาศนโยบายสำคัญด้านเศรษฐกิจคือดึงการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยช่วงเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีนำคณะออกไปโรดโชว์ในต่างประเทศ เพื่อหารือกับผู้บริหารระดับโลกหลายแห่งเพื่อดึงการลงทุน รวมทั้งเชิญชวนให้ตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (International Headquarter) ในไทย

ช่วงที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีบทบาทในการเปิดเวทีหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีและผู้บริหารชั้นนำระดับโลก โดยนายกรัฐมนตรีอยู่ร่วมการหารือเพื่อให้บริษัทขนาดใหญ่เกิดความมั่นใจในนโนบายส่งเสริมการลงทุนของไทย

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงความคืบหน้าการเจรจานักลงทุนรายใหญ่ รวมทั้งมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่จะปรับเปลี่ยนในปี 2567 ว่า อุตสาหกรรมเป้าหมาย 3 กลุ่ม ที่นายกรัฐมนตรีกำหนดเป้าหมายดึงการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรม การผลิต และเทคโนโลยีในประเทศไทย ได้แก่ ดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์ และ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งตรงกับส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์บีโอไอที่มี 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่วางไว้

สำหรับกลุ่มริษัทยักษ์ใหญ่ด้านดิจิทัลมี 2 กลุ่มธุรกิจที่ไทยตั้งเป้าดึงการลงทุน คือ ดาต้าเซนเตอร์ และคลาวด์เซอร์วิส ซึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่สหรัฐที่ไทยหารือ คือ อะเมซอน เว็บ เซอร์วิส (AWS) , บริษัท google และ Microsoft 

อีกกลุ่มที่เป็นดิจิทัลเหมือนกันแต่เป็นแพลตฟอร์ม เช่น Meta , Tiktok และ OpenAI ส่วนกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ของสหรัฐมีบริษัทขนาดใหญ่ เช่น Western Digital (WD) , บริษัท ADI , บริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด (HP) ขณะที่บริษัทรถ EV ชั้นนำของสหรัฐได้หารือผู้บริหารเทสลาหลายครั้ง

เดินหน้า 5 ยุทธศาสตร์ดึงการลงทุน

สำหรับอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์บีโอไอช่วง 4 ปีข้างหน้า จะเน้นดึงการลงทุน 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ BCG , EV , อิเล็กทรอนิกส์ , ดิจิทัล และครีเอทีฟ รวมถึงดึงลงทุนสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (National Headquarter) โดย 5 อุตสาหกรรมจะเป็นจุดเปลี่ยนยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ

’BOI’ ชู 2 อาวุธใหม่ ไทยดึงลงทุน  \'พลังงานสะอาด\' - สิทธิประโยชน์มาตรฐาน ‘OECD’

“เป็นจังหวะเหมาะสมที่ไทยจะดึงการลงทุน เพราะมีปัจจัยภายนอกที่ไม่แน่นอนจากภูมิรัฐศาสตร์ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายการลงทุนและย้ายฐานการผลิตทั่วโลก ขณะที่หลายอุตสาหกรรมเปลี่ยนเทคโนโลยีใหม่ เช่น EV ส่วนชิปกลายเป็นผลิตภัณฑ์ยุทธศาสตร์ระดับโลก  และเปลี่ยนผ่านสู่สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ และดิจิทัลเกิดการพัฒนา Generative AI และดิจิทัล ทรานฟอร์เมชั่น ซึ่งเกิดความต้องการคลาวด์เซอร์วิสครั้งใหญ่ทั่วโลก"

นอกจากนี้ไทยมีจุดเด่นที่ตั้งเหมาะสมและมีจุดยืนประเทศที่เป็นกลางทำให้ไม่เกิดปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ โดยไทยเตรียมมาตรการดึงการลงทุน 2 ด้าน คือ พลังงานสะอาดและมาตรการรองรับกติกาภาษีใหม่ที่เรียกว่า “Global Minimum tax” ซึ่งกำหนดให้จัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลทั่วโลกขั้นต่ำอัตราไม่ต่ำกว่า 15% ซึ่งหลายประเทศรวมทั้งไทยจะเริ่มทยอยบังคับใช้เพื่อให้เป็นมาตรฐานองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)

 

“ขณะนี้บริษัทขนาดใหญ่ของโลกพูดถึง 2 ปัจจัยนี้เป็นหลักในการตัดสินใจการลงทุนในประเทศต่างๆ ซึ่งไทยเตรียมพร้อมทั้ง 2 เรื่องมาระยะหนึ่งแล้วและมั่นใจว่าเป็นอาวุธใหม่ที่จะใช้ดึงดูดการลงทุน” เลขาธิการบีโอไอกล่าว 

’BOI’ ชู 2 อาวุธใหม่ ไทยดึงลงทุน  \'พลังงานสะอาด\' - สิทธิประโยชน์มาตรฐาน ‘OECD’

“พลังงานสะอาด”จุดขายใหม่ไทยดึงการลงทุน

สำหรับพลังงานสะอาดถือเป็นจุดขายใหม่ที่สำคัญของไทยในการดึงดูดการลงทุน โดยโครงสร้างพลังงานไทยมีความสะอาดเมื่อเทียบประเทศอื่น หรือคิดเป็นสัดส่วน 20% ของกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม และมีเป้าหมายเพิ่มเป็น 50% ภายในปี 2040 

รวมทั้งไทยมีกลไกพลังงานที่จะประกาศในปี 2566 ได้แก่ Utility Green Tariff (UGT) ซึ่งเป็นกลไกที่จะป้อนพลังงานให้ภาคอุตสาหกรรมเป็นพลังงานสะอาดที่ตรวจสอบย้อนหลังได้ (Testable) ว่าใครเป็นผู้ผลิตไฟฟ้า

สำหรับระบบนี้ต่างจากปัจจุบันที่ผู้ผลิตไปซื้อใบรับรองว่าใช้พลังงานสะอาด แต่ไม่รู้ว่าใครผลิตไฟฟ้าเพราะรับไฟฟ้าจากสายส่ง ซึ่งแผนการลงทุนส่วนนี้นอกจากบริษัทเอกชน ยังมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงทุนผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ป้อน UGT และจะมีพลังงานสะอาดรองรับการลงทุนมากถึง 12,000 Gwh ภายในปี 2030 โดยเฟสแรก คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะเอาในส่วนที่มีการประมูลใหม่ 5,000 MW มาเข้าโครงการนี้มาให้บริการก่อน ถือเป็นอาวุธใหม่ในการดึงการลงทุนของไทย

“พลังงานสะอาดเป็นของใหม่ เพราะบริษัทเหล่านี้มี Commitment ว่าบริษัทเหล่านี้ต้องมีส่วนในการสร้างพลังงานสะอาดขึ้นมาใหม่คือเมื่อมีการผลิตสินค้าต่างๆทำให้เกิดการลงทุนพลังงานหมุนเวียนต่อเนื่อง และมาพร้อมกับใบรับรอง UGT ซึ่งในเรื่องนี้ ก.ก.พ.จะประกาศราคาภายในสิ้นปีนี้ และจะเปิดให้สมัครต้นปีหน้า”

“บีโอไอ”ปรับเงื่อนไขใหม่ลดหย่อนภาษีแทนยกเว้น 

สำหรับเรื่องของมาตรการภาษีเงินได้นิติบุคคลที่เป็นกติกาใหม่ของ OECD ที่เรียกว่า Global minimum tax ซึ่งบังคับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีรายได้เกิน 750 ล้านยูโรต่อปี หรือประมาณ 3 หมื่นล้านบาทต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 15% ซึ่งในประเทศไทยมีบริษัทข้ามชาติที่เข้าข่ายประมาณ 1,000 บริษัท ทำให้บริษัทที่เคยได้รับการยกเว้นภาษีตามสิทธิ์บีโอไอที่อยู่ในเกณฑ์นี้จะไม่ได้รับยกเว้นภาษีโดยประเทศไทยจะบังคับใช้ในปี 2025 ซึ่งขณะนี้มีการหารือกับกรมสรรพากรแล้วในเบื้องต้น

ทั้งนี้ ในปี 2566 จะแก้ไขกฎระเบียบเพื่อรองรับการเปลี่ยนเกณฑ์ โดยไทยเตรียมพร้อมทั้งด้านภาษีและมาตรการการเงิน ซึ่งจะให้ทั้งบริษัทรายเดิมที่ได้สิทธิ์ประโยชน์ และบริษัทใหม่ที่จะยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน 

สำหรับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีจะมีมาตรการให้บริษัทที่ขอรับการสนับสนุนการลงทุนเลือกลดหย่อนแทนยกเว้นได้ แต่ระยะเวลาได้สิทธิประโยชน์จะนานขึ้น โดยบริษัทต้องจ่ายภาษีให้ภาครัฐเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ และมีภาระจ่ายภาษีเพิ่มไม่มากนักในแต่ละปี 

รวมทั้งบีโอไอเตรียมมาตรการการเงิน โดยใช้กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อช่วยลงทุนของบริษัทชั้นนำ โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนาบุคลากร ซึ่งเงินกองทุนจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการลงทุน ซึ่งบริษัทเอกชนต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น แต่จะได้เงินกองทุนเป็นค่าใช้ในการลงทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาบุคลากร

“ได้หารือบริษัทที่ลงทุนในไทยเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมด้านพลังงานสะอาดและมาตรการรองรับในด้านภาษี เขารู้สึกพอใจมากที่ไทยมีมาตรการแบบนี้รองรับ ซึ่งไทยแสดงความมั่นใจว่ามาตรการที่เตรียมเพื่อให้บริษัทใหญ่มั่นใจลงทุนในไทยระยะยาว ซึ่งเมื่อออกมาตรการล่วงหน้าจะทำให้นักลงทุนมั่นใจ”

นายกฯเร่งดึงลงทุนตั้งสำนักงานใหญ่

นอกจากนายกรัฐมนตรีได้เจรจาบริษัทระดับโลก เพื่อเข้ามาตั้ง International Headquarter ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ดึงภาคการผลิตและการตั้งสำนักงานใหญ่ในไทย โดยไทยมีโอกาสสูงมากเพราะมีความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและบุคลากร ขณะที่บริษัทข้ามชาติหลายแห่งใช้ไทยเป็นสำนักงานใหญ่ภูมิภาคอยู่แล้ว เช่น อโกดา ใช้ไทยเป็น National Headquarter จ้างงานในไทย 3,000 คน โดยใช้ไทยเป็นฐานพัฒนาธุรกิจและพัฒนาแอพพลิเคชั่น และได้เชิญบุ๊คกิ้งดอทคอมมาลงทุนในไทยด้วย

“นายกรัฐมนตรีโฆษณาว่าไทยมีจุดขายเรื่องอื่นนอกจากภาษี เช่น โรงเรียนนานาชาติและสถานพยาบาลระดับชั้นนำ ศูนย์ Wellness Center ซึ่งช่วยดึงดูดการเข้ามาทำงานและใช้ชีวิตในไทย”

มั่นใจอุตสาหกรรมอีวีโตแรง

สำหรับการลงทุนของเทสลาได้มีการเจรจาต่อเนื่อง โดยการลงทุน 5,000 ล้านดอลลาร์ เป็นขนาดการลงทุนปกติที่หากเทสลาลงทุนต่างประเทศจะมีการใช้เงินลงทุนระดับนี้ ซึ่งการเจรจาบริษัทลักษณะนี้ไม่ใช่มีเฉพาะสิทธิประโยชน์ภาษี แต่ต้องใช้ซอฟต์พาวเวอร์มัดใจด้วย  การที่ "เทสลา"ดูพื้นลงทุนเท่ากับมองเห็นศักยภาพการลงทุนในไทย

’BOI’ ชู 2 อาวุธใหม่ ไทยดึงลงทุน  \'พลังงานสะอาด\' - สิทธิประโยชน์มาตรฐาน ‘OECD’

“ธุรกิจรถ EV ทั่วโลกตอนนี้กำลังขยายตัวมาก แค่ไทยมีรถ EV จดทะเบียน 70,000 คัน เป็นรถยนต์ 58,000 คัน สูงสุดในภูมิภาค  โดยเดือน ต.ค.2566 ยอดจดทะเบียนรถ EV คิดเป็นยอดจดทะเบียนทั้งหมด 16% ของรถใหม่ทั้งหมด EV เป็นธุรกิจที่โตเร็วมาก และไทยมีมาตรการสนับสนุนทำให้ผู้ลงทุนและผู้บริโภคมั่นใจ”

ส่วนบริษัทไมโครซอฟท์ หลังจากที่มีการ MOU แล้วนอกจากการลงทุน จะมีการไปลงทุนเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการดิจิทัล โครงการคลาวด์ภาครัฐ เรื่องของการยกระดับทักษะดิจิทัลของบุคลากรไทย เรื่องของความปลอดภัยไซเบอร์ เรื่องของการพัฒนาความรู้ด้าน AI ซึ่งพาร์เนอร์หลักของไมโครซอฟต์คือกระทรวงดิจิทัลฯที่จะเข้ามาทำงานร่วมกันในอนาคต