เปิดภารกิจ ‘เศรษฐา‘ โรดโชว์ญี่ปุ่น ดึงค่ายรถ - อิเล็กทรอนิกส์ ลงทุนไทยเพิ่ม
“เศรษฐา” เยือนญี่ปุ่น 16-18 ธ.ค.นี้ เตรียมหารือบริษัทใหญ่ เน้นค่ายรถยนต์-อิเล็กทรอนิกส์ เตรียมโชว์แพคเกจดึงรถยนต์สันดาปลงทุนเพิ่มจูงใจช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีสู่ EV ดันโครงการแลนด์บริดจ์โรดโชว์ หวังนักลงทุนญี่ปุ่นสนใจลงทุน
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เตรียมเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการในวันที่ 16-18 ธ.ค.2566 โดยมีหน่วยงานร่วมคณะ ได้แก่ กระทรวงคมนาคม กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.2566 นากยรัฐมนตรี ได้ประชุมเตรียมการเดินทางเยือนญี่ปุ่น โดยรัฐมนตรีที่เข้าร่วมประชุมด้วย เช่น นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
สำหรับการเดินทางเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้จะเข้าร่วม การประชุมสุดยอดอาเซียน สมัยพิเศษ ฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียนญี่ปุ่น โดยนายเศรษฐา มีกำหนดการพบผู้นำหลายประเทศรวมทั้งพบหารือกับนาย ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น รวมทั้งหากับผู้บริหารบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่น เพื่อดึงดูดการลงทุนเข้ามายังไทยทั้งในส่วนของค่ายรถยนต์ และบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำ
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า การเดินทางเยือนญี่ปุ่นของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้จะหารือบริษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นหลายบริษัท โดยเฉพาะในกลุ่มค่ายรถยนต์ชั้นนำของญี่ปุ่น โดยนายกรัฐมนตรีจะร่วมเวทีสัมมนาใหญ่ของบีโอไอที่จะได้กล่าวเชิญชวนนักธุรกิจญี่ปุ่นมาลงทุนไทย
นอกจากนั้นจะมีเวทีโปรโมทและให้ข้อมูลการลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (แลนด์บริดจ์) เพื่อให้ข้อมูลกับญี่ปุ่นรูปแบบเดียวกับที่เคยจัดในสหรัฐและจีน รวมทั้งนายกรัฐมนตรีจะหารือบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ โดยแต่ละบริษัทมีเทคโนโลยีและมีแผนลงทุนในไทย
นายกฯเตรียมโชว์มาตรการหนุนค่ายรถญี่ปุ่นลงทุน
ส่วนการหารือบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นจะหารือบริษัทค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น โดยนายกรัฐมนตรีจะหารือบริษัที่ลงทุนในเกี่ยวกับแผนธุรกิจ และจะให้ความมั่นนโยบายที่ไทยไม่ทอดทิ้งนักลงทุนญี่ปุ่น โดยจะช่วยเหลือค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นในการเปลี่ยนเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนให้เปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตรถ EV ในไทย
“นายกฯ คงได้ไปพูดคุยกับค่ายรถยนต์ว่าไทยมีมาตรการอะไรรองรับบ้างในการให้บริษัทค่ารถยนต์ญี่ปุ่นค่อยๆเปลี่ยนผ่านการผลิตในประเทศไทยได้อย่างไรบ้าง”
รายงานข่าวจากทำเนียบระบุว่า มาตรการที่รัฐบาลไทยเตรียมความพร้อมหารือบริษัทญี่ปุ่นในการสนับสนุนการลงทุนของค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นในไทย ได้แก่ มาตรการสนับสนุนการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมยานยนต์นำระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ (Automation and Robotics) มาปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตรถยนต์ทั้งแบบสันดาปภายใน ไฮบริด และปลั๊กอินไฮบริด ครอบคลุมทั้งกิจการเดิมและการลงทุนใหม่ และรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่
ทั้งนี้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเห็นชอบมาตรการดังกล่าว โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในวงเงิน 50% ของเงินลงทุนในระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ และกรณีใช้เครื่องจักรระบบอัตโนมัติในประเทศสัดส่วนไม่น้อยกว่า 30% ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลวงเงิน 100% ของเงินลงทุน ทั้งนี้ต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในปี 2567
กล่อม“โตโยต้า-ฮอนด้า”
รวมทั้งหลังมีมาตรการดังกล่าวได้มีผู้บริหารค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นเข้าพบนายกรัฐมนตรี 2 ค่ายด้วยกัน ได้แก่
1.) บริษัทโตโยต้า เข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาลวันที่ 10 พ.ย.2566 โดยมีนายมาซาฮิโกะ มาเอดะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารภูมิภาคเอเชีย บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น และนายกลินท์ สารสิน ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เข้าพบ โดยนายกรัฐมนตรียืนยันว่ารัฐบาลสนับสนุนการลงทุนในไทย และรัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของบริษัทยานยนต์ญี่ปุ่นในไทย
ขณะที่ผู้บริหารของบริษัทโตโยต้า กล่าวว่าบริษัทเล็งเห็นถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจและการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ในไทยที่มีความแข็งแกร่ง โดยเฉพาะกลุ่มรถกระบะและ Eco-Car ที่ได้รับความนิยม และไทยมีความสามารถในการแข่งขันระดับโลก
ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยจึงกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตและการส่งออกไปทั่วโลกโดยยืนยันว่าจะร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน ควบคู่กับการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมไปถึงแนวทางการผลิตยานยนต์ทั้งประเภทรถยนต์สันดาป และรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง HEV, PHEV, BEV และ FCEV
2.) บริษัทฮอนด้า เข้าพบนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลวันที่ 23 พ.ย.2566 โดยมีนายโทชิโอะ คุวาฮาระ ประธานบริษัท เอเชี่ยน ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด (สำนักงานใหญ่ฮอนด้าประจำภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย) และนายฮิเดโอะ คาวาซากะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เข้าพบ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ญี่ปุ่นเป็นมิตรประเทศที่สำคัญของไทยอย่างยาวนาน โดยกว่า 50 ปีที่ผ่านมา บริษัทญี่ปุ่นมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่สนับสนุนประเทศไทยเป็นได้อย่างทุกวันนี้ พร้อมเชื่อมั่นว่าไทยจะร่วมงานกับทุกบริษัทในการผลักดันการดำเนินการและพัฒนาการผลิตยานยนต์ และต่อยอดไปในภาคการผลิตอื่น ๆ ซึ่งจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง