การสร้างเศรษฐกิจ ด้วย ‘รถไฟญี่ปุ่น’ (1) I กันต์ เอี่ยมอินทรา
การขนส่งทางระบบรางของญี่ปุ่น ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เพราะเป็นภาคส่วนที่ช่วยนำพาความเจริญไปยังพื้นที่ต่างจังหวัดของญี่ปุ่น นอกจากเมืองใหญ่ ๆ และรถไฟยังแข่งขันสร้างกิมมิค เพื่อดึงดูดผู้คนให้ใช้บริการ สร้างประสบการณ์พิเศษให้กับลูกค้าได้ไม่น้อย
ผมเพิ่งจะกลับมาจากประเทศญี่ปุ่น โดยทริปนี้ส่วนใหญ่เดินทางโดยรถไฟ จึงอดไม่ได้ที่จะกล่าวถึงการพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจญี่ปุ่นโดยใช้ระบบรางเป็นพระเอกครับ
ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ขึ้นเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว การคมนาคมขนส่งก็พึ่งพาทั้งระบบถนนและระบบราง ถนนของญี่ปุ่นมีทั้งแบบเจาะทะลุภูเขาเพื่อความรวดเร็วแบบประเทศที่เจริญแล้วทางตะวันตกอย่างเยอรมนี ขณะเดียวกันก็มีทั้งแบบซอกแซกไปตามภูเขาแบบเดียวกับของไทยเรา การเดินทางด้วยรถได้รับความนิยมมากโดยเฉพาะในต่างจังหวัด
ขณะที่ระบบรางโดยรถไฟที่ถือเป็นหน้าเป็นตาของการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของญี่ปุ่นนั้น ถือเป็นกรณีศึกษาถึงความสำเร็จตั้งแต่อดีต ระบบรางของญี่ปุ่นมีทุนเดิมตั้งแต่การปฎิรูปประเทศในสมัยเมจิ ถือเป็นชาติแรกๆ ในเอเชียที่มีรถไฟ เช่นเดียวกับประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยญี่ปุ่นและไทยถือเป็นสองชาติแรกในเอเชียที่มีระบบรางใช้ในประเทศ
ขณะที่ระบบรางของไทยพัฒนาช้ามาจนอาจเรียกได้ว่าแทบจะไม่พัฒนาอีกเลย แต่ญี่ปุ่นกลับเติบโตพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเริ่มพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในช่วงทศวรรษ 1960 ด้วยรถไฟความเร็วสูงหัวกระสุนที่คนญี่ปุ่นเรียกว่า “ชินคันเซน” เชื่อมต่อระหว่างเมืองหลวงอย่างกรุงโตเกียว และเมืองสำคัญอันดับ 2 ของประเทศอย่างโอซากา และพาดผ่านเมืองสำคัญต่างๆ อาทิ นาโกยา เมืองสำคัญอันดับ 3 และเกียวโต เมืองหลวงเก่า
ปัจจุบัน รถไฟความเร็วสูงหัวกระสุนมีอยู่ในทุกภูมิภาค เพราะมีการพัฒนาและขยายเส้นทางอย่างต่อเนื่อง ทำให้การเดินทางและท่องเที่ยวระหว่างเมืองใหญ่กับหัวเมืองในภูมิภาคสะดวกรวดเร็วอย่างน่าอัศจรรย์ เสมือนเล่นมายากลเพราะมันสะดวกและรวดเร็วมาก และการสร้างรถไฟสายใหม่นี้แท้จริงแล้ว ช่วยเหลือเศรษฐกิจอย่างมาก โดยเฉพาะการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นห่างไกล
แน่นอนว่า หากคิดในแง่ของกำไรขาดทุนด้วยแว่นขยายในทางบัญชีแล้วนั้น การลงทุนสร้างรถไฟหนึ่งสายจำเป็นต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าให้มากที่สุด แต่หากใช้แว่นตาด้วยมุมมองของเศรษฐศาสตร์มาพิเคราะห์แล้ว พบว่ามีปัจจัยอีกหลายอย่างที่สมควรกล่าวถึง
อาทิ การกระจายความเจริญและรายได้สู่เมืองเล็ก การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์บริเวณรายรอบความสะดวกสบายของการเดินทางของประชาชน และที่สำคัญที่สุดคือ เม็ดเงินที่หมุนในระบบเศรษฐกิจจากการลงทุนขนาดใหญ่ในเชิงโครงสร้าง ซึ่งถือเป็นการใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้ชื่อว่ามีประโยชน์ที่สุดในเชิงเศรษฐศาสตร์ มิใช่การแจกเงินเสมือนการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ
นอกจากรถไฟความเร็วสูงที่ญี่ปุ่นพัฒนาอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังมีรถไฟในภูมิภาคหรือจังหวัด และรถไฟในเมืองใหญ่อย่างรถไฟใต้ดินในกรุงโตเกียว โอซากา หรือแม้ในเมืองท่องเที่ยวอย่างเกียวโตซึ่งก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รถไฟญี่ปุ่นนั้นมีการแข่งขันกันหลายบริษัท จึงเกิดสายรถไฟมากมาย ซึ่งแต่ละสายก็มีข้อดีข้อด้อยที่ไม่เหมือนกัน สุดแต่ผู้บริโภคจะเลือกใช้บริการ ไม่มีการผูกขาดโดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างโตเกียวและโอซากา
ในเชิงการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะ หรือที่ภาษาการตลาดเรียกว่า “กิมมิค” นั้น ก็ต้องยกให้รถไฟญี่ปุ่นเป็นกรณีศึกษา ด้วยเหตุผลแต่ละท้องถิ่นของญี่ปุ่นก็จำต้องแข่งขันเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าสู่จังหวัดตัวเองเพื่อดึงเม็ดเงิน ดังนั้นการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะจึงไม่เพียงถูกนำมาประยุกต์ใช้กับขบวนรถไฟ อาทิ ล่าสุดขบวนรถไฟโคนัน การ์ตูนยอดนักสืบจิ๋วที่โด่งดังในยุค 90 ที่เชื่อมระหว่างทตโตริ (บ้านเกิดของผู้แต่ง) กับโอซากา เป็นต้น
ยังมีกรณีศึกษาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการตลาดแบบง่ายๆ อาทิ การตกแต่งขบวนรถให้สวยงามมีเอกลักษณ์ อาทิ รถไฟคิตตี้ หรือการเพิ่มบริการพิเศษในบางสาย อาทิ รถไฟรีสอร์ต ที่จะมีการแวะจอดตามสถานีที่สวยงามเพื่อให้ผู้เดินทางออกมาชมทัศนียภาพและถ่ายรูปที่ระลึก หรือแม้กระทั่งการเสิร์ฟอาหารดังประจำถิ่น หรือการเสิร์ฟเครื่องดื่มประจำถิ่น อาทิ เหล้าสาเก เป็นต้น
หรือจะเป็นการลงทุนในขบวนรถที่ทำให้กลายเป็นรถไฟในฝันที่ทุกคนอยากจะนั่งสักครั้งในชีวิต อาทิ TWILIGHT EXPRESS MIZUKAZE ที่ตกแต่งอย่างหรูหราผู้ดีเก่าที่ราคาสูงลิบ หรือการเพิ่มความพิเศษในขบวน อาทิ มีออนเซนเท้า มีหน้าต่างที่ใหญ่ขึ้น หรือการมีหลังคากระจก ซึ่งรถไฟเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็มักจะถูกจับจองจนเต็มทุกที่นั่ง ถึงแม้ราคาจะสูงก็ตาม
เล่ายังไงก็ไม่หมด ผมจึงขออนุญาตกลับมาเล่าต่อในสัปดาห์หน้าครับ