ราคา JR Pass ดีดแรง 'สัญญาณฟื้นตัว' ท่องเที่ยวญี่ปุ่น?
ทุกคนต่างตกตะลึงกับการประกาศขึ้นราคาพรวดเดียวเกือบ 70% ของ JR Pass ราคาค่าตั๋วโดยสารด้วยรถไฟแบบไม่จำกัดเที่ยวของ JR บริษัทรถไฟรายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นเป็นประเทศอันดับ 1 ที่คนไทยนิยมไปเที่ยวมากที่สุด และตั้งแต่นโยบายการใช้การท่องเที่ยวมาเป็นเรือธงในการหารายได้เข้าประเทศของอดีตนายกฯชินโซ อาเบะ ผู้ล่วงลับ ที่ผ่อนปรนยกเว้นวีซ่าให้นักท่องเที่ยวหลายประเทศ รวมถึงไทย ประกอบกับการเกิดขึ้นของสายการบินราคาประหยัด ก็ยิ่งทำให้จุดมุ่งหมายในฝันอย่างญี่ปุ่นนั้นดูเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น
จึงไม่น่าแปลกใจหากเวลาไปญี่ปุ่นแล้วจะเจอแต่คนไทย โดยเฉพาะในช่วงซากุระบาน ซึ่งก็เกือบจะพอดีกับช่วงสงกรานต์ของบ้านเรา หรือไม่ว่าจะเป็นช่วงใบไม้เปลี่ยนสีในช่วงเดือน พ.ย. ซึ่งเริ่มเป็นที่นิยมขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับคนไทย
เช่นเดียวกับประเทศไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลกที่เคยพึ่งพารายได้จำนวนมหาศาลจากการท่องเที่ยว ญี่ปุ่นได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการจำต้องปิดประเทศเพื่อลดการแพร่ขยายของเชื้อโควิด-19 อุตสาหกรรมท่องเที่ยวญี่ปุ่นนั้นกระทบอย่างหนัก หลายธุรกิจถึงกับเลิกกิจการไปเลยก็มี
รัฐบาลญี่ปุ่นก็พยายามช่วยเหลือผ่านการอัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมาก เพื่อกระตุ้นให้คนในประเทศออกมาท่องเที่ยว คล้าย ๆ กับนโยบายเที่ยวด้วยกันของไทย แต่รัฐบาลญี่ปุ่นนั้นไม่จำกัดสิทธิ ซึ่งก็ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะในภาคโรงแรมได้พอสมควร เพราะคนญี่ปุ่นนั้นมีกำลังซื้อมาก โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เกษียณแล้ว
อีกหนึ่งปัญหาที่ญี่ปุ่นเจอ พร้อม ๆ กับไทยและทั่วโลกก็คือภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นมาก วิกฤติค่าครองชีพ ราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นตามค่าเงิน ซ้ำร้ายค่าเงินเยนของญี่ปุ่นก็อ่อนตัวลงจนเตะระดับต่ำที่สุดในรอบหลายปี ซึ่งถ้าวิเคราะห์โดยผิวเผินก็น่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ประเทศดูน่าท่องเที่ยวขึ้น เพราะค่าเงินถูกลง เหมือนอย่างไทยในช่วงหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง
แต่กรณีของญี่ปุ่นที่ดูผิวเผินว่า ควรไปเที่ยวเพราะค่าเงินถูกนั้น แท้จริงแล้วราคาสินค้าต่าง ๆ ตั้งแต่อาหาร โรงแรมได้ตั้งราคาเพิ่มขึ้นเพื่อมาหักลบกับค่าเงินเยนที่อ่อนลงแล้ว ค่าอาหารนั้นขึ้นตั้งแต่ก่อนเปิดประเทศในปลายปีที่แล้ว ขณะที่ค่าโรงแรมก็กระโดดขึ้นทันทีที่เปิดประเทศเช่นเดียวกับค่าตั๋วโดยสารเครื่องบิน ตามหลักอุปสงค์อุปทาน เพราะนักท่องเที่ยวจำนวนมากเริ่มกลับมาเที่ยวญี่ปุ่นแล้ว
ล่าสุด บริษัทรถไฟยักษ์ใหญ่ผู้รับสัมปทานรถไฟที่ครอบคลุมเกือบทุกภูมิภาคของประเทศอย่าง JR ก็ได้ปรับราคาค่าตั๋วแบบเหมาจ่าย โดยเพิ่มราคาแบบก้าวกระโดดรวดเดียวถึงเกือบ 70%
การเสนอปรับราคาแบบก้าวกระโดดนี้ในทางเศรษฐศาสตร์นั้นจะทำให้สินค้าทดแทน เช่น ค่าโดยสารด้วยเครื่องบิน หรือรถบัส นั้นจะปรับราคาขึ้นตาม JR แน่นอน ซึ่งโดยนัยนั้นหมายความว่า ขณะนี้ญี่ปุ่นเชื่อว่าประเทศนั้นได้เข้าสู่สภาวะปกติแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องมีแบกรับค่าใช้จ่าย และจึงปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด
การปรับราคาของ JR นี้แทบจะไม่ได้กระทบกับผลประโยชน์ของคนญึ่ปุ่นเลยเพราะตั๋วราคานี้สงวนไว้เฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติเท่านั้น ซึ่งถือว่ามีความคุ้มค่ามาก อาทิ ค่าตั๋วรถไฟชินคันเซนไปกลับโอซากา-โตเกียว ปกติที่ราคา 45,000 เยน แต่ตั๋วนี้จ่ายเพียง 29,000 เยน
พูดได้ว่า การอั้นไม่ปรับราคามานานแต่ขึ้นพรวดเดียวเกือบ 70% ทำให้ทุกฝ่ายสะอึกกันหมด โดยเฉพาะผู้ที่กำลังวางแผนไปดูใบไม้เปลี่ยนสีที่ญี่ปุ่นในช่วงปลายเดือน ต.ค. ถึงต้นเดือน พ.ย. ที่จะตรงกับช่วงของการปรับราคาขึ้นพอดี