'เศรษฐา' คิกออฟแก้หนี้ในระบบ 16 ล้านล้าน 90% จีดีพี ลั่นแก้ได้หมดในรัฐบาลนี้
“เศรษฐา” คิกออฟแก้หนี้ในระบบ 16 ล้านล้าน แบ่งลูกหนี้ 4 กลุ่ม คลังเตรียมทำมาตรการเฉพาะกลุ่มเข้า ครม.ลุยแก้หนี้ ลั่นแก้หนี้ได้หมดในรัฐบาลนี้
วันนี้ (12 ธ.ค.) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง แถลงข่าวจัดการหนี้ทั้งระบบ โดยมีกฤษฎา จีนะวิจารณะ และจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแถลง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีร่วมแถลง
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ตัวเลขหนี้ที่นายกรัฐมนตรีแถลงในวันนี้คิดเป็นมูลหนี้ประมาณ 16 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 90% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และครอบคลุมประชากรประมาณ 5 ล้านคน 12 ล้านบัญชีที่มีปัญหาไม่สามารถชำระหนี้ได้ ซึ่งในส่วนนี้รวมทั้งหนี้ของสถาบันการเงิน หนี้สหกรณ์ และหนี้กองทุนเพื่อการกู้ยืม เพื่อการศึกษา (ก.ย.ศ.)ด้วย
ซึ่งในส่วนของหนี้บัตรเครดิตที่เริ่มมีปัญหานั้นอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านใบ จาก 23 ล้านใบที่มีอยู่ ที่มีมาตรการออกมาในการแก้ปัญหาโดยการเข้าโครงการลดดอกเบี้ยลงเหลือ 3 – 5% สำหรับคนที่ไม่มีกำลังจ่ายได้
ขณะที่นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ปัญหาหนี้สินเป็นปัญหาเรื้อรังที่อยู่กับสังคมไทยมายาวนาน ทั้งในส่วนของหนี้นอกระบบ ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้ การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งได้แถลงไปแล้ว โดยหนี้ในระบบ ซึ่งก็มีปัญหาไม่แพ้กับหนี้นอกระบบ ทั้งหนี้สินล้นพ้นตัว จนส่งผลกระทบต่อการทำงาน บางรายเป็นหนี้เสียคงค้างเป็นเวลานาน จนขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ
ดังนั้น การดูแลลูกหนี้ในระบบที่ประสบปัญหาจึงถือเป็นวาระแห่งชาติเช่นเดียวกัน ตนจึงมอบนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ให้มาร่วมกันแก้หนี้ทั้งระบบให้จบภายในรัฐบาลนี้ ควบคู่ไปกับการร่วมกันสำรวจและซ่อมแซมกลไกทางเศรษฐกิจ เพื่อทำให้เครื่องจักรทางเศรษฐกิจเราทำงาน เติบโต และขยายตัวต่อไปได้
ทั้งนี้รัฐบาลไม่สามารถจะปล่อยให้ลูกหนี้ที่ประสบปัญหานี้เผชิญปัญหาอยู่อย่างลำพัง ภาครัฐจะขอยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาหนี้ทุกคน ให้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของกลไกทางเศรษฐกิจที่แข็งแรง
ทั้งนี้เพื่อให้เห็นภาพแนวทางการแก้ไขปัญหาให้กับลูกหนี้ ที่ชัดเจน แบ่งกลุ่มลูกหนี้ในระบบที่ประสบปัญหาออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
ลูกหนี้กลุ่มที่ 1 คือ ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 คือ ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 กลุ่มนี้ โดยปกติจะมีประวัติการชำระหนี้มาโดยตลอด แต่สถานการณ์โควิดทำให้ธุรกิจต้องสะดุดหยุดลง ขาดสภาพคล่อง จนไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้ อีกส่วนนึง บางรายเป็นหนี้ครั้งแรกในช่วงโควิด เพราะต้องการเงินทุนไปหมุนเวียน แต่สุดท้ายกลายเป็นหนี้เสียจนไม่สามารถประกอบธุรกิจต่อได้ กลุ่มนี้จะต้องได้รับการช่วยเหลือให้หลุดพ้นจากการเป็นหนี้เสีย หรือได้รับการพักชำระหนี้เพื่อผ่อนปรนภาระเป็นการชั่วคราว สำหรับลูกหนี้รายย่อย ซึ่งส่วนใหญ่มีหนี้เสียกับธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. รัฐบาลจึงกำหนดให้ธนาคารทั้งสองแห่งติดตามทวงถามหนี้ตามสมควร และให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้กลุ่มนี้ เพื่อให้ไม่เป็นหนี้เสียอีกต่อไป โดยคาดว่าจะช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยในกลุ่มนี้ ได้ประมาณ 1.1 ล้านราย
ส่วนลูกหนี้ SMEs สถาบันการเงินของรัฐจะเข้าไปช่วยเหลือผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ SMEs ที่อยู่กับแบงค์รัฐ ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยคาดว่าจะช่วยเหลือลูกหนี้ SMEs เหล่านี้ ได้ครอบคลุมมากกว่าร้อยละ 99 ของจำนวนลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียในกลุ่มนี้ นับเป็นจำนวนกว่า 100,000 ราย
สำหรับกลุ่มที่ 2 คือ ลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้จำนวนมากจนเกินศักยภาพ โดยอาจจะแบ่งออกเป็นสองกลุ่มย่อยได้แก่ กลุ่มข้าราชการ ครู ตำรวจ ทหาร ที่มักจะมีหนี้กับสถาบันการเงิน และกลุ่มที่เป็นหนี้บัตรเครดิต กลุ่ม ข้าราชการ ครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำรวจ ทหาร จะได้รับการช่วยเหลือผ่าน 3 แนวทางด้วยกัน
แนวทางแรก คือการลดดอกเบี้ยสินเชื่อไม่ให้สูงจนเกินไป เพราะเป็นกลุ่มที่มีรายได้ประจำและถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ แนวทางที่สอง จะต้องโอนหนี้ทั้งหมดไปไว้ในที่เดียว เช่น ที่สหกรณ์ เพื่อให้การตัดเงินเดือนนำมาชำระหนี้ทำได้สะดวก และสอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้ และแนวทางสุดท้าย คือบังคับใช้หลักเกณฑ์การตัดเงินเดือน ให้ลูกหนี้มีเงินเดือนเหลือเพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี ซึ่งทั้งสามแนวทางนี้ จะต้องทำ “พร้อมกัน” ทั้งหมด
สำหรับลูกหนี้กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน / ทำให้การชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง เช่น เกษตรกร ลูกหนี้เช่าซื้อ และลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กลุ่มนี้จะได้รับการช่วยเหลือ โดยการพักชำระหนี้เป็นการชั่วคราว การลดดอกเบี้ย หรือลดเงินผ่อนชำระในแต่ละงวดให้ต่ำลง เพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้ เช่น ลูกหนี้เกษตรกร ซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอน เนื่องจากรายได้ของพวกเค้า ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและปริมาณผลผลิต / เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้กลุ่มนี้ รัฐบาลได้มีโครงการพักชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรแล้ว โดยพักทั้งหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งโครงการนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมการพักหนี้กว่า 1.5 ล้านราย เป็นต้น
สำหรับลูกหนี้กลุ่มที่ 4 กลุ่มนี้เป็นหนี้เสียคงค้างกับสถาบันการเงินของรัฐ มาเป็นระยะเวลานาน กลุ่มนี้จะโอนไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ ที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่างสถาบันการเงินของรัฐ และบริษัทบริหารสินทรัพย์ ซึ่งจะทำให้การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้เป็นไปอย่างคล่องตัวมากขึ้น คาดว่ามาตรการนี้จะสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ในกลุ่มนี้ได้ประมาณ 3 ล้านราย
“ทุกกลุ่มที่ผมกล่าวไปทั้งหมด มีข้อสังเกตที่เหมือนกันอย่างนึง พวกเค้าไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้จนกลายเป็นหนี้เสีย เมื่อเป็นหนี้เสีย ก็ถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยปรับเพิ่ม และวนกลับไปทำให้ชำระไม่ไหวอีก วงจรแบบนี้ส่งผลให้ติดเครดิตบูโร ไม่สามารถขอสินเชื่อในระบบ ต่อได้ หรือบางรายที่ค้างชำระเป็นเวลานาน ก็จะถูกดำเนินการตามกฎหมาย” นายเศรษฐา กล่าว
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า กระทรวงการคลังจะเร่งจัดทำแพคเกจมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ทั้ง 4 กลุ่มโดยเร็วที่สุด เพื่อนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ ส่วนลูกหนี้ชั้นดี กระทรวงการคลัง ก็จะมีแพคเกจเป็นของขวัญปีใหม่ให้ด้วย เพื่อจูงใจให้เป็นลูกหนี้ชั้นดีต่อไป