สรท.ชี้ส่งออกไทยปี 67 ยังเจอมรสุมเพียบ เชื่อยังโตได้1-2 %
สรท.เผย ปี 67 ส่งออกไทยเจอมรสุมเพียบ แต่มั่นใจฝ่าแรงกดดันได้ โต 1-2 % กังวล ค่าไฟ ค่าแรงปรับเพิ่มกระทบต้นทุน บั่นทอนการแข่งขันด้านราคา จี้รัฐบริหารจัดการให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสม แนะผู้ประกอบการปรับตัว ใช้เทคโนโลยีแทนแรงงาน
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า การส่งออกในปี 66 ไม่มีเซอร์ไพส์ โดยทั้งปีส่งออกจะติดลบ 1% ซึ่งยังถือว่าดีกว่าหลายประเทศ ส่วนการส่งออกในปี2567 สรท.ประเมินว่าจะกลับมาเป็นบวกได้ ที่ 1-2% โดยในเดือนม.ค.-ก.พ.ส่งออกเราน่าจะเป็นบวกอยู่ เดือนมี.ค.ไม่มั่นใจ แต่ในไตรมาสแรกส่งออกไทยน่าจะขยายตัวได้ 1 % เฉลี่ยส่งออกเดือนละ 23,900 ล้านดอลลาร์
ต้องยอมรับว่า ปี 67 จะเป็นยากอีกปีของการส่งออกไทย เพราะปี 67 ทุกประเทศจะต้องเจอกับปัจจัยลบ คือ 1.สภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอย่างชัดเจนทั้งยุโรป สหรัฐ จีน 2.ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ จากภาวะสงครามที่ยืดเยื้อส่งผลให้ความต้องการสินค้าไม่แน่นอนและกระทบต่อการค้าและเศรษฐกิจโดยรวม 3.อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกยังคงทรงตัวระดับสูง ส่งผลให้ชะลอตัวทางเศรษฐกิจถึงแม้อัตราดอกเบี้ยโดยรวมจะปรับลดลงบ้างแล้ว โดยคู่ค้าหลักยังคงมีอัตราดอกเบี้ยสูงเช่น สหรัฐ
3. ดัชนีภาคการผลิต (PMI) ยังคงทรงตัวและมีแนวโน้มหดตัวในบางตลาดสำคัญ ส่งผลให้ภาคการผลิตตึงตัว จากดัชนีภาคการผลิตเคลื่อนไหวใกล้เส้น base line โดยเฉพาะสหรัฐ ญี่ปุ่น เวียดนาม ปัญหาภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรลดลง และ4.ความกังวลเรื่องต้นทุนภาคการผลิตที่ยังมีความไม่แน่นอน อาทิ ค่าไฟฟ้าและค่าแรงขั้นต่ำ เป็นต้น
โดยในปี 67 กลุ่มสินค้าที่ยังคงเป็นดาวเด่นของไทยคือ สินค้ากลุ่มอาหาร ผัก ผลไม้ ซึ่งยังเป็นที่ต้องการเพื่อความมั่นคงทางอาหาร กลุ่มยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยังเติบโตต่อเนื่อง กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีความต้องการเพิ่มขึ้นจากการใช้งานร่วมกับAI กลุ่มสิ่งทอ เป็นต้น
“สรท.มั่นใจว่าปี 67 ส่งออกไทยจะขยายตัวได้ 1-2% ซึ่งใกล้เคียงกับปี 65 แม้จะเจอมรสุมมากกมายก็เชื่อมั่นว่าจะฝ่ามรสุมเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวไปได้ โดยมีปัจจัยบวกในปีหน้าก็คือ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในทิศทางอ่อนค่า 34-35 บาทต่อดอลลาร์ การส่งออกในตลาดสำคัญเริ่มพลิกกลับมาเป็นบวก”นายชัยชาญ กล่าว
นายชัยชาญ กล่าวว่า ทั้งนี้สรท.มีข้อเสนอแนะสำคัญ ประกอบด้วย 1. บริหารจัดการลดต้นทุนการผลิตเพื่อรักษาความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก โดยเฉพาะการบริหารต้นทุนพลังงาน ค่าไฟฟ้า อัตราดอกเบี้ย ค่าจ้างขั้นต่ำ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
2.เร่งรัดการจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกในตลาดเป้าหมายที่สำคัญ และเร่งการเจรจาการค้าเสรี (FTA) และความตกลงทางการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจรูปแบบอื่น อาทิ Mini FTA ทั้งนี้ เพื่อสร้างแต้มต่อและลดอุปสรรคในการเข้าถึงตลาดและแหล่งวัตถุดิบ ให้ผู้ประกอบการไทยสามารถนำเสนอสินค้าเข้าสู่ตลาดโลกและแสวงหาวัตถุดิบสำคัญได้มากขึ้น
สำหรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งจะมีผลต่อต้นทุนการผลิต ทางสรท.เคารพ มติของไตรภาคี โดยอัตราที่ปรับเพิ่มขึ้น จะไม่กระทบมากผู้ประกอบการมากนัก ยังสามารถรักษาระดับราคาสินค้าได้ แต่แนวโน้มในอนาคต น่าจะปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ดังนั้น ทางรอดเดียว คือ ผู้ประกอบการ ก็ต้องปรับปรุงด้านการผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ต้องเริ่มต้นทันที ด้วยการลดการพึ่งพาแรงงาน และหันมาใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เพราะแรงงาน จะขาดแคลนมากขึ้น และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ขณะที่ รัฐบาล ก็ต้องเข้าไปสนับสนุนการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เพื่อให้ผู้ส่งออกแข่งขันได้ รวมไปถึงการสร้างทักษะแรงงาน และจ่ายค่าแรงตามทักษะ เพื่อให้เกิดการใช้แรงงานที่คุ้มค่า
ส่วนการปรับค่าไฟฟ้า นั้น จะกระทบต้นทุนของภาคอุตสาหกรรม โดยต้นทุนค่าไฟฟ้าจะอยู่ที่ 15-25% ซึ่งแต่ละอุตสาหกรรมตัวเลขก็จะไม่เท่ากัน ดังนั้น การปรับค่าไฟฟ้า จะต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่มีการอุดหนุนให้ราคาต่ำกว่าปกติ หรือ ไม่ปรับสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด หากมีความจำเป็น จะต้องปรับขึ้นนั้น ก็ควรดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคส่งออก เนื่องจากคำสั่งซื้อ จะเป็นคำสั่งซื้อล้วงหน้า กว่าจะส่งมอบใช้เวลา 2 เดือน โดยหากวันนี้ มีการปรับขึ้น ผู้ส่งออกก็จะขาดทุนทันที จึงอยากให้เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อรักษาตลาดส่งออกท่ามกลางความกดดันรอบด้าน
“ปี 67 ตลาดการค้าจะลดลง การแข่งขันด้านราคาเพื่อให้สินค้าของตนเองเข้าสู่ตลาด จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ซึ่งสินค้าเหมือนกับคู่แข่งก็ต้องเอาเรื่องราคามาเป็นตัวหลัก หากเรามีต้นทุนการผลิตสูง ก็จะไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ “นายชัยชาญ กล่าว