'เศรษฐา' พบ 500 นักธุรกิจญี่ปุ่น ลั่นไทยพร้อมรับคลื่นการลงทุนรอบใหม่
นายกฯ กล่าวปาฐกถาพิเศษงานสัมมนา Thailand - Japan Investment Forum ต่อนักธุรกิจญี่ปุ่นกว่า 500 คน ย้ำความพร้อมเปิดรับการลงทุนขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจญี่ปุ่น ชวนลงทุนเพิ่มยานยนต์ พลังงาน สะอาด ยืนยันศักยภาพทางการค้าการลงทุนของไทย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจร่วมกัน
วันนี้ (15 ธันวาคม 2566) ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา Thailand - Japan Investment Forum ในห้วงสัปดาห์การประชุมสุดยอดอาเซียน - ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ (ASEAN-Japan Commemorative Summit) พร้อมด้วยนายไซโต เค็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (METI) และนายอิชิกุโระ โนริฮิโกะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าญี่ปุ่น (JETRO) เข้าร่วม โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณ และถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้กล่าวถึงนโยบายเศรษฐกิจ และการพัฒนาที่รัฐบาลไทย เร่งดําเนินการ เพื่อเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก โดยไทย และญี่ปุ่น มีความสัมพันธ์ทางการทูตอันดี และยาวนานกว่า 136 ปี ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศได้พัฒนาก้าวหน้าขึ้นทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และสังคม โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงประเด็นหลักที่สำคัญ ดังนี้
1. ด้านความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ ญี่ปุ่นเป็นมิตรแท้ของไทยที่มีความผูกพันกันในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับราชวงศ์ รัฐบาล ภาคธุรกิจ ไปจนถึงประชาชน เห็นได้จากจำนวนบริษัทญี่ปุ่นกว่า 6,000 บริษัทและชาวญี่ปุ่นที่กว่า 80,000 คนที่อยู่ในไทย ซึ่งล้วนเป็นส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทยมาโดยตลอด รวมทั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้หารือร่วมกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในช่วงระหว่างการประชุม APEC ซึ่งเห็นพ้องร่วมกันว่า ทั้งสองประเทศควรขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจให้มากยิ่งขึ้น
2.ด้านโอกาส และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายมิติ ซึ่งรัฐบาลได้เร่งดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจเพื่อรับมือความท้าทายดังกล่าว โดยมุ่งส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง AI การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการพัฒนา Startup ให้เติบโต และแข่งขันได้ในระดับโลก ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่น ที่เน้นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยความแข็งแกร่งนี้ เห็นได้ชัดจากความสามารถของบริษัทใหญ่ ไปจนถึงบริษัทระดับท้องถิ่น ซึ่งมี Know how และมีศักยภาพพร้อมเติบโตไปยังต่างประเทศได้ โดยหวังว่าประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในจุดมุ่งหมายของญี่ปุ่น
ด้านเศรษฐกิจและการค้า รัฐบาลมีมาตรการหลายอย่างที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการอัดฉีดเงินเข้าระบบ การดึงดูดการท่องเที่ยว การเร่งดึงการลงทุนจากบริษัทชั้นนำระดับโลก และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ โดยด้านการค้า ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าที่ใหญ่เป็นลำดับต้นๆ ของไทย มีมูลค่าอยู่ที่ 8.7 ล้านล้านเยน คิดเป็นร้อยละ 10 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมด ซึ่งเชื่อในศักยภาพว่า จะสามารถขยายมูลค่าได้มากยิ่งขึ้น และครอบคลุมสินค้าได้หลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตร สินค้าอุปโภคบริโภค ชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมต่างๆ
ด้านการลงทุน นักลงทุนญี่ปุ่นมีบทบาทอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งญี่ปุ่นเป็นชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยสูงสุดติดต่อกันอย่างยาวนาน โดยช่วง 10 ปีหลัง มีโครงการที่ BOI ส่งเสริมกว่า 4,000 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนกว่า 6 ล้านล้านเยน ซึ่งของปี 2566 นี้ มีกว่า 180 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 180,000 ล้านเยน ซึ่งการลงทุนจากญี่ปุ่นมีส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักร และอาหารแปรรูป โดยเป็นเวลากว่า 50 ปี ที่ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่นช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย พวกเราไม่ลืม และรัฐบาลไทยพร้อมที่จะช่วยดูแล และสนับสนุนบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นให้แข่งขัน และเติบโตได้เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่
นอกจากนี้ รัฐบาลไทยมีนโยบายสนับสนุน Soft Power เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของไทยต่อเวทีโลก ซึ่งไทยกำลังผลักดัน Soft Power สู่ระดับสากลด้วยการทูตเชิงวัฒนธรรม การยกระดับและพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย สร้าง 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ พัฒนาคอนเทนต์ผ่านหลากหลายอุตสาหกรรม และส่งเสริมการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยไปต่อยอดให้แพร่หลาย จึงถือเป็นโอกาสใหม่สำหรับญี่ปุ่นให้เข้ามาลงทุน ต่อยอดทรัพยากรของไทยในการพัฒนา เกม ภาพยนตร์ หรือแอนิเมชัน ซึ่งเชื่อมั่นว่าความพร้อมด้าน Creative Industry ของไทยไม่เป็นรองใคร พิสูจน์ได้โดยรางวัลต่างๆ ทั่วโลกที่สร้างด้วยฝีมือคนไทย
ด้านอุตสาหกรรมพลังงาน ไทยมีเป้าหมายในการเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065 จึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ขอเชิญชวนญี่ปุ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ไปด้วยกัน โดยประเทศไทยมีความพร้อมด้านพลังงานสะอาด (Clean Energy) และกำลังต่อยอดอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง เช่น Green Hydrogen ที่จะกลายเป็นแหล่งพลังงานแห่งอนาคต
3. ด้านแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สําคัญของไทย รัฐบาลให้ความสำคัญกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งทางถนน ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ ยกระดับระบบคมนาคมขนส่งของ โดยมีหลายภาคส่วนที่มีความร่วมมือกับทางญี่ปุ่น ซึ่งนอกเหนือจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC แล้ว ขณะนี้รัฐบาลยังมุ่งมั่นที่จะผลักดันโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน หรือแลนด์บริดจ์ ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม มูลค่าเงินลงทุนเบื้องต้น กว่า 4 ล้านล้านเยน เพื่อสร้างเส้นทางการค้าการขนส่งใหม่ของโลกที่เชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ด้วยท่าเรือ ระบบราง และระบบถนน ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญของภูมิภาคและระดับโลก จึงขอเชิญชวนให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นเข้าร่วมศึกษาและลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ เสริมสร้างความเชื่อมโยงและ supply chain ในภูมิภาคให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีให้ความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลมุ่งมั่นจะยกระดับเศรษฐกิจ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เดินหน้าขยายการเจรจา FTA กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก และเร่งปรับปรุงบริการภาครัฐเพื่อทำให้การประกอบธุรกิจมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งวันนี้ประเทศไทย เปิดกว้างสำหรับการลงทุนจากทุกประเทศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นนักลงทุนรายใหญ่รายสำคัญของไทยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ไทยพร้อมสนับสนุนการลงทุนจากญี่ปุ่นทั้งรายเดิม และรายใหม่ และพร้อมร่วมมือกับภาครัฐ และเอกชนญี่ปุ่นในการยกระดับอุตสาหกรรม เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจใหม่ ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อความก้าวหน้าของทั้งสองประเทศต่อไป
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์